ฉบับที่ 078/2541 14 ธันวาคม 2541
คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ระดมนักวิชาการศึกษาปัญหาอ่าวปัตตานี
ระยะที่ 2 พบว่าอ่าวปัตตานีมีความเสื่อมลง วอนรัฐและผู้เกี่ยวข้องต้องเข้าไปดูแลและแก้ไขก่อนเข้าสู่ภาวะวิกฤติ
อ่าวปัตตานีเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดปัตตานี มีเนื้อที่ 74 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นแหล่งรองรับน้ำและสิ่งปนเปื้อนมากับ
น้ำจากลำน้ำสายเล็ก ๆ ตลอดชายฝั่งและจากแม่น้ำสองสายคือ แม่น้ำปัตตานีและแม่น้ำยะหริ่ง โดยสภาพธรรมชาติอ่าวปัตตานีเป็นแหล่ง
ที่อุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงเช่น มีสัตว์น้ำและพืชทะเลโดยเฉพาะสาหร่ายผมนาง มีนกน้ำเข้ามาอาศัยบริเวณอ่าว
ปัตตานี จนองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (International Union for Conserva-
tion of Nature and National Resources) ได้ประกาศให้อ่าวปัตตานีเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญของเอเซียแสดงให้เห็นถึง
ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางชีวภาพ
นายแวอาแซ แวหามะ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า
ตั้งแต่ปี 2526 เป็นต้นมามีข้อสังเกตว่าความอุดมสมบูรณ์ของอ่าวปัตตานี มีแนวโน้มเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่มีการใช้อวนรุน
อวนลาก มีโรงงานอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ จนได้รับเป็นเขตอุตสาหกรรมพิเศษ การขยายท่าเทียบเรือเพื่อรองรับเรือประมงและ
การขยายตัวของนากุ้งและการเพาะเลี้ยงชายฝั่ง อ่าวปัตตานีจึงกลายเป็นแหล่งรองรับน้ำและบ่อบำบัดน้ำตามธรรมชาติ แต่คงมีศักยภาพ
เป็นบ่อบำบัดได้เพียงระดับหนึ่ง ถ้าไม่มีการเฝ้าระวังและการจัดการที่ดีเพื่อการรักษาอ่าวปัตตานีให้คงสภาพเดิม ก็จะมีผลเสียด้านนิเวศน์
และต่อผู้มีอาชีพการประมง รวมทั้งธุรกิจนากุ้งและอุตสาหกรรมทุกประเภท คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลา-
นครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ตระหนักในเรื่องดังกล่าวจึงได้ศึกษาวิจัยอ่าวปัตตานีระยะที่ 1 ตั้งแต่ปี 2532 - 2533 เพื่อศึกษาข้อมูล
พื้นฐานของอ่าวปัตตานี 4 ด้าน ได้แก่ สภาพภูมิอากาศจังหวัดปัตตานี คุณสมบัติและการเคลื่อนย้ายตะกอนบางบริเวณในอ่าวปัตตานี
ลักษณะเฉพาะของน้ำในอ่าวปัตตานี และทรัพยากรทางชีวภาพของอ่าวปัตตานี โดยเน้นแพลงก์ตอน สาหร่าย พืชน้ำและไม้ชายเลน
และโครงการวิจัยอ่าวปัตตานีระยะที่ 2 ระหว่างปี 2534 เป็นต้นมานั้น ศึกษาเรื่องการติดตามการเปลี่ยนแปลงคุณภาพของสิ่งแวดล้อม
และการประเมินสภาวะเป็นพิษของสิ่งมีชีวิตในอ่าวปัตตานี และการสำรวจเพื่อติดตามข้อมูลพื้นฐานทางชีววิทยาและสิ่งแวดล้อมบริเวณ
อ่าวปัตตานี แบ่งได้ 4 ประเด็นคือ สภาพภูมิอากาศของจังหวัดปัตตานี คุณภาพน้ำทางกายภาพ ทางเคมี และทางชีวภาพ การปน
เปื้อนโลหะหนักบางชนิดในน้ำในตะกอนดินและในพืชทะเลขนาดใหญ่ และทรัพยากรทางชีวภาพ
นางสาวปรียา วิริยานนท์ หัวหน้าโครงการวิจัยอ่าวปัตตานี ระยะที่ 2 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัย
สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยถึงโครงการวิจัยอ่าวปัตตานี ระยะที่ 2 ว่าสภาพภูมิอากาศของจังหวัดปัตตานีมีการเปลี่ยน
แปลงในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา จากแบบมรสุมเขตร้อนมาเป็นแบบทุ่งหญ้าสะวันนาคือ มีฤดูฝนและฤดูแล้งสลับกันอย่างเห็นได้ชัด
แต่พบว่าเมื่อเปรียบเทียบกับโครงการวิจัยอ่าวปัตตานี ระยะที่ 1 จะไม่มีความแตกต่างมากนัก ซึ่งแสดงว่าอ่าวปัตตานียังเป็นแหล่ง
บำบัดน้ำตามธรรมชาติได้ แต่อย่างไรก็ตามอ่าวปัตตานีคงมีความสมบูรณ์ในระดับหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากมีการขยายตัวของกิจกรรม
ต่าง ๆ รอบอ่าวปัตตานีเช่น โรงงานอุตสาหกรรม นากุ้ง ท่าเทียบเรือ และแหล่งชุมชนที่มีการระบายน้ำเสียน้ำใช้ลงสู่แม่น้ำและอ่าว
ปัตตานี ซึ่งทำให้พบจุลินทรีย์และแบคทีเรียโคลิฟอร์มกระจายอยู่ในน้ำ โดยพบมากในแม่น้ำปัตตานี พบการปนเปื้อนของโลหะหนัก
บางชนิด ได้แก่ ทองแดง สังกะสี แคตเมียม และตะกั่วเป็นปริมาณน้อยในน้ำ แต่พบเป็นปริมาณสูงในตะกอนดินและในพืชทะเล
ขนาดใหญ่ที่เก็บจากอ่าวปัตตานี ในขณะที่ทรัพยากรทางชีวภาพคือ สาหร่ายผมนาง (สาหร่ายวุ้น) และหญ้าทะเล ในบางพื้นที่มี
ปริมาณลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับผลการศึกษาในโครงการวิจัย ระยะที่ 1 สิ่งที่เปลี่ยนแปลงเหล่านี้บ่งบอกถึงความเสื่อมลงของอ่าว
ปัตตานี ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้าไปดูแลและศึกษา เพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ไขไม่ให้อ่าวปัตตานีเสื่อมลงจนถึงขั้นวิกฤติ
หัวหน้าโครงการวิจัยอ่าวปัตตานี ระยะที่ 2 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขต
ปัตตานี กล่าวถึงข้อเสนอแนะจากการวิจัยอ่าวปัตตานี ระยะที่ 2 ว่าจากการวิจัยครั้งนี้พบว่าบริเวณโดยรอบในอ่าวปัตตานี ยังคงสภาพ
ความสมบูรณ์ตามธรรมชาติ และมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างในบางพื้นที่ ผลการศึกษาที่ได้จะเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการศึกษาในระดับ
การประเมินความเสี่ยงของประชากรพืชและสัตว์น้ำในอ่าวปัตตานีต่อภาวะมลพิษ ตลอดจนการศึกษาผลกระทบของกิจกรรมของมนุษย์
และวัฒนธรรมในการใช้ทรัพยากรของชุมชนโดยรอบอ่าวต่อระบบนิเวศน์ในอ่าวปัตตานีและบริเวณใกล้เคียง
เป็นที่น่าสังเกตว่าแม่น้ำปัตตานีในบางพื้นที่จะมีการปนเปื้อนของโลหะหนักเช่น ทองแดง สังกะสี แคตเมียม และตะกั่ว
ในระดับค่อนข้างสูงเนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีความหนาแน่นของชุมชน โรงงานอุตสาหกรรม สะพานปลา และท่าเทียบเรือ ซึ่งเป็น
กิจกรรมที่ส่งผลให้อ่าวปัตตานีมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดมลพิษ หากไม่มีการควบคุมและประเมินผลกระทบเป็นประจำจากหน่วยงาน
ของภาครัฐและเอกชน อ่าวปัตตานีจะเข้าสู่ภาวะวิกฤติได้ ดังนั้นจึงควรเร่งแก้ไขและให้มีนโยบายที่เหมาะสมในการพัฒนาและอนุรักษ์
สภาพพื้นที่บริเวณอ่าวปัตตานีให้คงความสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพตลอดไป
*******************
|