รายละเอียด :
|
ฉบับที่ 067/2541 2 พฤศจิกายน 2541
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ทุ่มงบประมาณ 5 ล้านบาท ตัดถนนก่อสร้าง อาคารสำนักงาน
ระบบไฟฟ้า และประปา ที่ ต.ท่าธง อ.รามัน จ.ยะลา แล้วหลังจังหวัดยะลายกที่ดินให้สร้างสถานีวิจัยและฝึกงานด้านเทคโนโลยี
การเกษตร คาดว่าต้นปี 2542 คณาจารย์และนักศึกษาจะเข้าไปใช้เป็นสถานที่ฝึกงานและวิจัยได้ และจะให้เป็นสถานที่เรียนของ
นักศึกษาในสาขาวิชาเกี่ยวกับการเกษตรต่อไปในอนาคต
นายปัญญ์ ยวนแหล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ชี้แจงว่าตาม
ที่มหาวิทยาลัยฯ ได้ประสานงานกับ ฯพณฯ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา กรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
เมื่อเดือนมิถุนายน 2534 ถึงความจำเป็นในการจัดหาที่ดินสำหรับสาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตรของคณะวิทยาศาสตร์และ
เทคโนโลยี และท่านได้กรุณาประสานงานกับจังหวัดยะลา จนกระทั่งได้พื้นที่สาธารณประโยชน์ "ตะโละบาโงอาโซ" บ้าน
สาเมาะ หมู่ที่ 4 ต.ท่าธง อ.รามัน จ.ยะลา รวม 490 ไร่ 1 งาน 34 ตารางวา นั้น ต่อมาในปี 2540 มหาวิทยาลัยฯ ได้
รับงบประมาณ 940,000 บาท (เก้าแสนสี่หมื่นบาทถ้วน) ก่อสร้างถนนลูกรังความกว้าง 5 เมตร ระยะทาง 1,818 เมตร
เข้าสู่พื้นที่ดังกล่าวและในปีงบประมาณ 2541 มหาวิทยาลัยฯ ได้รับงบประมาณ 4,083,000 บาท (สี่ล้านแปดหมื่นสามพัน
บาทถ้วน) สำหรับก่อสร้างสถานีวิจัยเทคโนโลยีการเกษตร ซึ่งเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 1 ชั้น พร้อมครุภัณฑ์ และขยาย
ระบบไฟฟ้าและบาดาลเข้าสู่ส่วนขยายเขตการศึกษาดังกล่าว โดยได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2541 และจะ
แล้วเสร็จตามสัญญาในวันที่ 31 มีนาคม 2542
รองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ ชี้แจงต่อไปว่าที่ดิน 490 ไร่ ที่จังหวัดยะลามอบให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
นี้ มหาวิทยาลัยฯ กำหนดจัดตั้งเป็นสถานีวิจัยและฝึกงานเทคโนโลยีการเกษตร โดยเน้นการผลิตพืชเศรษฐกิจในภาคใต้และ
เทคโนโลยีการประมงน้ำจืด ตลอดจนเป็นแหล่งฝึกอบรมวิชาการท้องถิ่นสำหรับเกษตรกรในจังหวัดยะลาและจังหวัดใกล้เคียง
ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวส่วนใหญ่จะใช้สำหรับวิจัยพืชชนิดต่าง ๆ โดยจะจัดสร้างสวนลองกอง มังคุด เงาะ ทุเรียน ส้ม สะตอ หยี
สละ และระกำ สวนสมุนไพร แปลงผัก ไม้ดอกไม้ประดับ และเพาะชำกล้าไม้ รวม 181 ไร่ เป็นพื้นที่สำหรับการเลี้ยงสัตว์
และทุ่งหญ้า 80 ไร่ ส่วนที่เหลือเป็นพื้นที่สำหรับแหล่งน้ำและการประมงน้ำจืด ก่อสร้างถนน ที่พักอาศัยและหน่วยสาธารณูป
โภค ทั้งนี้ภายในต้นปี 2542 มหาวิทยาลัยฯ จะสามารถเข้าไปดำเนินการในด้านการวิจัยและฝึกงานเทคโนโลยีการเกษตร และ
ในช่วงแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ระยะที่ 9 คือตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นไป ก็จะจัดตั้งคณะวิชาด้านเทคโนโลยีการ
เกษตรขึ้น เพื่อใช้สำหรับการเรียนการสอนนักศึกษาชั้นปีที่ 3 และ 4
นายปัญญ์ ยวนแหล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวต่อ
ไปว่าการจัดตั้งสถานีวิจัยและฝึกงานเทคโนโลยีการเกษตรที่บ้านสาเมาะ หมู่ที่ 4 ต.ท่าธง อ.รามัน จ.ยะลา นี้จะยังประโยชน์
ทั้งต่อประเทศชาติและท้องถิ่นกล่าวคือ จากการที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มีพื้นที่จำกัด (ประมาณ
900 ไร่) และอยู่ติดชายฝั่งทะเล การขยายงานด้านเทคโนโลยีการเกษตรจึงค่อนข้างจำกัดในด้านพื้นที่ ดังนั้นการจัดตั้งสถานี
วิจัยและฝึกงานด้านเทคโนโลยีการเกษตร จะทำให้ข้อจำกัดด้านพื้นที่หมดไป สามารถเพิ่มศักยภาพในการผลิตบัณฑิตที่เชี่ยวชาญ
เฉพาะด้านพืชภาคใต้ได้มากขึ้น ทำให้คณาจารย์ นักวิชาการ และนักศึกษา ได้มีแหล่งศึกษาวิจัยเพิ่มขึ้น และยังเปิดโอกาสให้
เกษตรกรและเยาวชนได้รับการฝึกอบรมและดูงานในสถานีวิจัยแห่งนี้ ส่วนประโยชน์ที่ท้องถิ่นจะได้รับคือทำให้ท้องถิ่นมีความ
เจริญขึ้น สถานีวิจัยจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับประชาชนในท้องถิ่นและจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งมีอาชีพเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ จะ
ได้เป็นแนวทางในการพัฒนางานด้านการเกษตรของตนเอง ตลอดจนทำให้เกิดการจ้างงานในท้องถิ่นเพิ่มขึ้นทั้งด้านวิชาการ
ธุรการ และแรงงาน ซึ่งจะร่วมกันปฏิบัติงานในส่วนขยายเขตการศึกษาแห่งนี้ต่อไป
*****************
|