ฉบับที่ 050/2541 20 สิงหาคม 2541
นักวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ศึกษาพบว่าปัตตานีในอดีตเป็นเมืองท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดด้าน
การค้า เป็นมหานครของดินแดนมลายูในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ จนได้ชื่อว่า "คาบสมุทรทองคำ" แต่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนให้มี
การศึกษา ค้นคว้า และบูรณะอย่างจริงจัง
ปัตตานีเป็นจังหวัดหนึ่งทางภาคใต้ของประเทศไทย และนับได้ว่าเป็นเมืองหนึ่งที่มีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์อัน
ยาวนาน ในอดีตปัตตานีเคยเป็นอาณาจักรที่มีความเจริญถึงขีดสุด เป็นเมืองท่าที่สำคัญ มีการติดต่อค้าขายกับชาติต่าง ๆ จนได้ชื่อว่า
เป็น คาบสมุทรทองคำ และมีอาณาจักรที่ปกครองตนเองได้อย่างอิสระในสมัยหนึ่ง แต่เมื่อเสื่อมอำนาจลงทำให้เมืองเสื่อมความสำคัญ
ลงเช่นกัน
การศึกษาอดีตอันรุ่งเรืองของเมืองปัตตานี จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจและมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาเก็บรวบรวมข้อมูลทาง
ประวัติศาสตร์ เพื่อให้เป็นแหล่งข้อมูลศึกษาในอนาคต โครงการปัตตานีศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จึงได้
ศึกษาวิจัยเรื่อง "ปัตตานี : การค้าและการเมืองการปกครองในอดีต" เพื่อศึกษาบทบาททางการค้าและพัฒนาการทางการเมือง การ
ปกครองของปัตตานี
รศ. ครองชัย หัตถา นักวิจัยโครงการปัตตานีศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และผู้ศึกษา
"ปัตตานี : การค้าและการเมืองการปกครองในอดีต" เปิดเผยว่าจากการศึกษาเรื่อง "ปัตตานี : การค้าและการเมืองการปกครองใน
อดีต" พบว่าปัตตานีมีบทบาททางการค้าและการเมืองการปกครองเป็นเวลานาน มีทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมบนคาบสมุทรมลายู ซึ่งเป็น
คาบสมุทรกลางระหว่างตะวันออกกับตะวันตก ได้แก่ จีนกับอินเดีย รวมทั้งอาหรับและเปอร์เซีย ปัตตานีเป็นเมืองท่าที่มีชื่อเสียงเป็น
ที่รู้จักอย่างกว้างขวางมาตั้งแต่สมัยลังกาสุกะ ชื่อ "ปาตานี" ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 21 - 23 ปัตตานีได้รับการกล่าวถึงว่าเป็น
ศูนย์กลางการค้าและเป็นเมืองท่านานาชาติแห่งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบกับท่าเรือปัตตานีเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดสำหรับการค้า
และเป็นท่าเรือคู่ค้ากับเมืองท่าสุรัต มะละกา กัวโคโรมันแดล และเป็นท่าเรือสองพี่น้องกับท่าเรือฮิราโดะของญี่ปุ่น ปัตตานีในระยะ
ดังกล่าวมีการปกครองที่เข้มแข็ง มีการจัดเก็บภาษีที่เป็นระบบและเป็นธรรมกับพ่อค้าทุกชาติ มีการดำเนินการด้านการทูตกับประเทศ
ต่าง ๆ เมืองปัตตานีในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 21 - 23 ได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงของชาวมลายูและเป็นมหานครของภูมิภาคนี้
นักวิจัยโครงการปัตตานีศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และผู้ศึกษา"ปัตตานี : การค้าและการ
เมืองการปกครองในอดีต" กล่าวเสนอแนะว่าประวัติศาสตร์ที่ยาวนานของปัตตานีและบทบาททางการค้าที่โดดเด่นในอดีต นับเป็นหนึ่ง
ในความภาคภูมิใจบนคาบสมุทรมลายู ปัตตานีและเมืองต่าง ๆ ร่วมสมัยในอดีต อาทิ เคดาห์ ตะกั่วป่า ไชยา ตรัง นครศรีธรรมราช
สงขลา สายบุรี ฯลฯ เป็นเมืองสำคัญของภูมิภาคเอเซียอาคเนย์ ในฐานะที่เป็นเมืองท่าค้าขายกับจีน อินเดีย อาหรับ เปอร์เซีย ญี่ปุ่น
ฯลฯ รวมถึงการค้าสมัยอาณานิคมกับชาติต่าง ๆ ของยุโรปและเมืองต่าง ๆ บนคาบสมุทร จึงมีความสำคัญไม่เฉพาะในระดับท้องถิ่น
เท่านั้น หากแต่ได้ทำหน้าที่เชื่อมต่อการค้าและอารยธรรมระหว่างสองซีกโลก จนสามารถสร้างอารยธรรมแห่งคาบสมุทรมลายูมาเป็น
เวลานับพันปี ปัจจุบันร่องรอยและหลักฐานต่าง ๆ ยังคงหลงเหลืออยู่มาก ควรได้รับการสนับสนุนให้มีการศึกษา ค้นคว้า และบูรณะ
สถานที่สำคัญต่าง ๆ และเผยแพร่สู่สาธารณชนอย่างจริงจัง
*******************
|