รายละเอียด :
|
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เปิดหน่วยวิจัยและเพาะฟักสัตว์น้ำ เพื่อเป็นแหล่งสาธิตและทดลองด้านวิชาการการเพาะฟักและอนุบาลลูกกุ้งกุลาดำ พร้อมทั้งจัดจำหน่ายให้แก่เกษตรกรในราคาที่ถูก
ผศ. ปรีชา ป้องภัย คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่ากุ้งกุลาดำเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่มีโปรตีนสูง เป็นที่ต้องการของตลาด
ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ สำหรับประเทศไทยกุ้งกุลาดำจัดว่าเป็นสินค้าส่งออกอยู่ในลำดับ
1 ใน 10 ของประเทศ มีมูลค่าในการส่งออกนับหมื่นล้านบาท แต่ดั้งเดิมลูกกุ้งกุลาดำได้จากธรรมชาติ
แต่ปัจจุบันการเลี้ยงกุ้งกุลาดำมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ปริมาณลูกกุ้งกุลาดำที่ได้จากธรรมชาติจึงมีไม่เพียงพอ
กับความต้องการ การแก้ปัญหาสามารถกระทำได้โดยการรวบรวมแม่กุ้งที่มีไข่แก่ นำมาเพาะฟักภายใน
โรงเพาะฟัก อนุบาลและดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ได้ผลผลิตสูงหรือเพียงพอกับความต้องการของตลาด
การเพาะฟักกุ้งกุลาดำจะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหรือสิ่งที่เอื้ออำนวย
ที่ทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพสูงสุด ไม่เพียงแต่จะต้องมีสถานที่ที่เหมาะสมเท่านั้น นักวิชาการยังต้อง
มีความรู้ มีประสบการณ์ และศึกษาวิจัยเพื่อหาความเหมาะสมของโรงเพาะฟัก หน่วยวิจัยและเพาะฟักสัตว์น้ำ
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงได้เริ่มต้นศึกษาตั้งแต่ปี 2537 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปฏิบัติการ
ทดลองด้านวิชาการการเพาะฟักและอนุบาลลูกกุ้ง และเป็นแหล่งสาธิตในการด้านการผลิตพันธุ์กุ้งกุลาดำ
นายโชคชัย เหลืองธุวปราณีต หัวหน้าโครงการหน่วยวิจัยและเพาะฟักสัตว์น้ำ คณะวิทยาศาสตร์
และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยถึงผลการทดลองว่าได้แบ่งการ
ทดลองออกเป็น 2 ช่วง โดยระยะแรกเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2537 จนถึงต้นปี 2538 ได้ทำการทดลอง
ในขณะที่หน่วยวิจัยยังไม่มีความพร้อมทางด้านต่าง ๆ เป็นช่วงที่กำลังปรับปรุงทรัพยากรของหน่วยฯ
ให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ ซึ่งพบว่ามีปัญหามากมาย การทดลองครั้งที่ 2 หน่วยวิจัยฯ ได้รับจัดสรรง
บประมาณประจำปี 2539 เป็นจำนวน 200,000 บาท ได้ดำเนินการผลิตลูกกุ้งจำนวน 6 รุ่น
ได้ผลผลิตรวม 4,750,000 ตัว สามารถจำหน่ายผลผลิตแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในบริเวณใกล้เคียง
ได้จำนวน 2,885,000 ตัว บริจาคจำนวน 1,865,000 ตัว มีรายได้รวม 368,100 บาท
ทั้งนี้การทดลองในครั้งที่ 2 นี้มีความคล่องตัวมากขึ้น สามารถทำการผลิตลูกกุ้งได้ดีและมากขึ้น
จัดจำหน่ายและปล่อยลงสู่ทะเลเพื่อการอนุรักษ์ได้อีกด้วย
เกษตรกรที่ประสงค์จะเข้าชมการสาธิตการเพาะฟักหรือต้องการซื้อพันธุ์ลูกกุ้งกุลาดำ สามารถ
ติดต่อได้ที่หน่วยวิจัยและเพาะฟักสัตว์น้ำ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลสะกอม
อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา หรือติดต่อได้ที่คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
วิทยาเขตปัตตานี.
|