: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ 3 ฉบับที่ /0 ประจำเดือน 2/ 2565
หัวข้อข่าว : โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ (U2T) ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี
รายละเอียด :
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาในสังกัด อว. ได้ใช้องค์ความรู้ งานวิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรมและทรัพยากรของมหาวิทยาลัยในการพัฒนาพื้นที่และพัฒนาประเทศ โดยนำโจทย์หรือปัญหาของพื้นที่มาสู่การพัฒนาศักยภาพทั้งทางด้านกำลังคน องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นในตำบลที่รับผิดชอบ
         
รองศาสตราจารย์อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ รองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี ในฐานะหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการ อว. ส่วนหน้า จังหวัดปัตตานี แจ้งว่าตามที่กระทรวง อว. ได้ดำเนินโครงการ U2T ด้วยเป้าหมายเพื่อพัฒนาอาชีพให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเพื่อช่วยลดปัญหาการว่างงาน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 โดยมีระยะเวลาดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2564 จังหวัดปัตตานีมีพื้นที่ดำเนินโครงการจำนวนทั้งสิ้น 26 ตำบล ครอบคลุมพื้นที่ 8 อำเภอ ดำเนินการโดย 4 สถาบันการศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จำนวน 17 ตำบล มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จำนวน 5 ตำบล วิทยาลัยชุมชนปัตตานี จำนวน 3 ตำบล และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 1 ตำบล โดยได้ดำเนินโครงการแล้วเสร็จด้วยความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เช่น ประชาชน ผู้นำชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานเอกชน เป็นต้นและมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้รายงานผลการดำเนินโครงการให้กระทรวง อว. ทราบแล้ว
         
การดำเนินโครงการ U2T ทั้ง 26 ตำบล ส่งผลให้มีการจ้างงานประชาชนในพื้นที่ทั้งสิ้น 520 อัตรา ได้แก่ บัณฑิตจบใหม่ 260 อัตรา ประชาชนทั่วไป 130 อัตรา และนักศึกษา 130 อัตรา มีการจัดกิจกรรมการพัฒนาตำบลกว่า 200 กิจกรรม โดยมุ่งเน้นการถ่ายทอดองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี องค์ความรู้ทางสังคมศาสตร์ และองค์ความรู้ด้านสุขภาพ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมด้านการสร้างอาชีพ สร้างรายได้และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เช่น การยกระดับการแปรรูปอาหาร การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร การนำวัสดุคงเหลือมาสร้างมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น และกิจกรรมการสร้างและพัฒนาการยกระดับการท่องเที่ยว การส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ด้วยพลังความร่วมมือจากหลายภาคส่วน สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ เกิดผลงานเชิงประจักษ์
         
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รับผิดชอบดำเนินโครงการ U2T ในพื้นที่จังหวัดปัตตานีรวม 17 ตำบล ได้แก่ ต.จะบังติกอ ต.บานา ต.บาราโหม ต.ตันหยงลุโละ ต.อาเนาะรู ต.รูสะมิแล อ.เมืองปัตตานี  ต.ทุ่งพลา อ.โคกโพธิ์  ต.ดอนรัก ต.ท่ากำชำ ต.บางตาวา อ.หนองจิก  ต.ท่าข้าม ต.ปะนาเระ อ.ปะนาเระ  ต.ตรัง อ.มายอ  ต.เตราะบอน อ.สายบุรี  ต.จะรัง ต.ตะโละกาโปร์ และ ต.บางปู อ.ยะหริ่ง ซึ่งภายหลังการดำเนินโครงการ

มีหลายตำบลที่มีบทเรียนจากการดำเนินงานที่สามารถเป็นแบบอย่าง นำมาถ่ายทอดเป็นเรื่องเล่าของความสำเร็จ เช่น  โครงการ Sayo Bana Local Organic Incubator ต.บานา อ.เมืองปัตตานี ดำเนินการโดย คณะวิทยาการอิสลาม เป็นโครงการที่มีความโดดเด่นด้านการยกระดับการประกอบอาชีพ โดยการนำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีทางการเกษตรเพื่อช่วยแก้ปัญหาของเกษตรกรในพื้นที่ เช่น ระบบการให้น้ำแบบสปริงเกอร์ ส่งเสริมการปลูกผักแบบ organic นวัตกรรมปุ๋ยหมักชีวภาพที่สามารถลดต้นทุนการผลิตได้อย่างเป็นรูปธรรม และสร้างความร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่เพื่อการรับซื้อผลผลิต

โครงการพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ โหนด นา ป่าไผ่ ต.ท่าข้าม อ.ปะนาเระ ดำเนินการโดยสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา ที่มุ่งเน้นการยกระดับอาชีพดั้งเดิมของชุมชน ได้แก่ การพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์จากตาลตโนด การต่อยอดข้าวพันธุ์พื้นเมืองในพื้นที่เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ได้แก่ ซูชิจากข้าวพันธุ์พื้นเมือง หรือ ขนมจากแป้งข้าวพันธุ์พื้นเมือง เชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ โดยใช้ทุนทางทรัพยากรธรรมชาติและทุนทางวัฒนธรรมที่สะท้อนวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชน

โครงการ U2T ต.เตราะบอน อ.สายบุรี ดำเนินการโดยสำนักวิทยบริการ เน้นการถ่ายทอดเทคโนโลยี ทั้งเทคโนโลยีระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ที่ช่วยเก็บรวบรวมข้อมูลชุมชนอย่างเป็นระบบ และเทคโนโลยีทางการเกษตรการต่อยอดเชิงพื้นที่ สนับสนุนให้ชุมชนทำการเกษตรแบบผสมผสาน เรียนรู้เรื่องการทำปุ๋ยหมัก ส่งเสริมศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงในชุมชน อีกหนึ่งกิจกรรมเด่น คือ การถ่ายทอดเทคโนโลยีเรื่องพลังงาน ภายใต้โครงการที่มีชื่อว่า คนกินแดดชายแดนใต้ ที่เน้นการนำพลังงานแสงจากดวงอาทิตย์มาเป็นพลังงานสะอาด ช่วยลดการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนและในการเกษตร เป็นต้น

จากการศึกษาผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคม (Social Return on Investment) ที่เกิดจากการดำเนินงานโครงการ U2T ของจังหวัดปัตตานี พบว่า มีค่าเท่ากับ 7.07 สามารถอธิบายได้ว่า การลงทุนในการดำเนินโครงการ U2T ของจังหวัดปัตตานีด้วยเงินลงทุน 1 บาท ก่อให้เกิดผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคมจากการลงทุนจำนวน 7.07 บาท หรือ คิดเป็น 7.07 เท่าของงบประมาณที่ได้ลงทุนไป.
โดย : * [ วันที่ ]