: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ 5 ฉบับที่ /1 ประจำเดือน 2/ 64
หัวข้อข่าว : ม.อ.ปัตตานี ใช้โซลาร์เซลล์ พลังงานทางเลือกและสมาร์ทมิเตอร์ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
รายละเอียด :
    มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  ใช้โซลาร์เซลล์ พลังงานทางเลือกและสมาร์ทมิเตอร์ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน  ส่งเสริมการเป็นวิทยาเขตสีเขียวที่ช่วยลดการใช้พลังงาน ลดการสร้างมลพิษ  เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
    ผศ.ดร.อัตชัย เอื้ออนันตสันต์ รองอธิการบดีฝ่ายระบบสารสนเทศและวางแผน วิทยาเขตปัตตานี  กล่าวว่า  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีพื้นที่ประมาณ 690 ไร่ มีประชากรรวมประมาณ 10,000 คน  ทำให้มีการใช้ปริมาณทรัพยากรที่สูงโดยเฉพาะการใช้พลังงานไฟฟ้าที่มีค่าใช้จ่ายถึงปีละประมาณ 42 ล้านบาท หรือเฉลี่ยเดือนละประมาณ 3,500,000 บาท จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน  โดยส่งเสริมการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว  ซึ่งได้เริ่มมีการใช้พลังงานทดแทน ตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน  โดยการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและ
แผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ในการดำเนินการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวนทั้งสิ้น 2,500 แผง ขนาดรวมทั้งสิ้น 800 กิโลวัตต์ ในพื้นที่ของวิทยาเขตปัตตานี พร้อมการติดตั้งระบบแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานไฟฟ้าชนิด Lithium-Ion ขนาดกำลังไฟฟ้า 50 กิโลวัตต์ ความจุพลังงานไฟฟ้าสูงสุด 500 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายทางไฟฟ้าภายในมหาวิทยาลัย และเสริมคุณค่าทางด้านพลังงานจากการใช้เป็นระบบผลิตสำรองในกรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน แก่วิทยาเขตปัตตานี และชุมชนโดยรอบหากมีความต้องการอีกทั้งระบบกักเก็บพลังงานมีไว้เพื่อใช้กับศูนย์บริการสุขภาพปฐมภูมิ ของคณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาเขตปัตตานี เพื่อที่จะสามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง ในกรณีเกิดปัญหากับระบบไฟฟ้าหลัก  ปัจจุบันมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ บนหลังคาอาคารภายในมหาวิทยาลัย ได้แก่  อาคารเรียนรวม 19   ติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ จำนวน 840 แผง , อาคารเรียนรวม 58   ติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ จำนวน 780 แผง , อาคารเรียนและปฏิบัติการคณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาเขตปัตตานี ติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ จำนวน 160 แผง  และอาคารสำนักวิทยบริการ ติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ จำนวน 720 แผง  จากผลการใช้พลังงานทดแทนดังกล่าว สามารถลดการใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ปีละกว่าสองล้านสามแสนห้าหมื่นกิโลวัตต่อชั่วโมง หรือโดยเฉลี่ยลดลงเดือนละ เกือบสองแสนกิโลวัตต่อชั่วโมง สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยประมาณเดือนละเจ็ดแสนบาท หรือประหยัดค่าใช้จ่ายค่ากระแสไฟฟ้าได้ถึงปีละแปดล้านสี่แสนบาท เหตุผลอีกประการหนึ่ง เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้จำนวนบุคลากรและนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัยมีจำนวนลดลง จึงมีการใช้ไฟฟ้าลดลงมากกว่าปกติ
    รองอธิการบดีฝ่ายระบบสารสนเทศและวางแผน วิทยาเขตปัตตานี  กล่าวเพิ่มเติมว่า  วิทยาเขตปัตตานี ได้ติดตั้งระบบ Smart Energy Meter ด้วยการการติดตั้ง digital meter โดยเชื่อมต่อกับระบบเครือข่าย และสร้างระบบ Smart Monitor เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถดูข้อมูลต่าง ๆ ทางไฟฟ้าได้ในแบบ Real-time โดยได้ดำเนินการติดตั้งระบบ smart meter ตามอาคารต่าง ๆ เพื่อติดตามและประเมินผลปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าของบุคลากรและนักศึกษา จำนวน 73 เครื่อง ซึ่งระบบสามารถแสดงผลการอ่านข้อมูลมิเตอร์วัดพลังงานไฟฟ้าทุก ๆ 15 นาที
โดยระบบจะแสดงข้อมูลการใช้พลังงานไฟฟ้าของ smart meter แต่ละเครื่อง ทำให้หน่วยงานในมหาวิทยาลัยได้ทราบถึงปริมาณการใช้ไฟฟ้า เกิดความตระหนักถึงการใช้พลังงานไฟฟ้า อันนำไปสู่นโยบายการลดการใช้พลังงานไฟฟ้าของทุกคณะ หน่วยงานได้อย่างชัดเจน.
โดย : * [ วันที่ ]