: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ 1 ฉบับที่ /0 ประจำเดือน 4/ 2563
หัวข้อข่าว : นักวิชาการ ม.อ.ปัตตานีเปิดเผยผลการสำรวจ พบประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่รับทราบมาตรการและให้ความร่วมมือในการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโควิด19
รายละเอียด :
คณะนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีสำรวจประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อผลกระทบในการใช้มาตรการต่างๆ ในการเฝ้าระวังโรคโควิด 19  พบว่าประชาชน รับทราบมาตรการต่างๆของภาครัฐเป็นอย่างดี มีส่วนน้อยที่ได้รับผลกระทบในขณะที่ผู้มีรายได้น้อยกลับมีสุขภาพจิตดีกว่า และส่วนใหญ่เห็นว่าควรขยายเวลาใช้มาตรการออกไปอีก 1 เดือน

เมื่อบ่ายวานนี้ (วันอังคารที่ 21 เมษายน 2563) ที่ห้องประชุม วิจารณ์ศุภกิจ อาคารสำนักงานวิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ จากคณะพยาบาลศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี หัวหน้าคณะทำงานวิจัย" พร้อมด้วยคณะ
ได้จัดแถลงข่าวด้วยการไลฟ์สดทางเฟสบุก ถึงผลการสำรวจผลกระทบจากมาตรการลดการระบาดของเชื้อโควิด 19 ในกลุ่มประชากรจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล ซึ่งมีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 4,280 คนพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม 3,620 คน ศาสนาพุทธ 657 คน และศาสนาคริสต์ 3 คน

ผลการสำรวจพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่าร้อยละ 90 รับทราบมาตรการของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เดินทางออกจากเคหะสถานต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย, ห้ามเดินทางเข้า – ออก จังหวัด, ห้ามรวมตัวกันในพื้นที่สาธารณะ,  ยกเลิกวันหยุดช่วงเทศกาลสงกรานต์, งดการละหมาดในมัสยิด, ห้ามเดินทาง
เข้า - ออก ประเทศ, ปิดสถานศึกษาจนถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2563, ปิดสถานบริการ เช่น ร้านตัดผม ร้านนวด สถานบันเทิง, การปิดหมู่บ้านที่มีผู้ติดเชื้อ, ปิดห้างสรรพสินค้า ยกเว้น แผนกซุปเปอร์มาเก็ต, ห้ามซื้อ - ขาย เครื่องดื่มแอลกอฮอล์, ห้ามขายอาหารในร้าน, ห้ามออกจากบริเวณบ้านในช่วงเวลา 20.00 – 05.00 น., ห้ามผู้สูงอายุและเด็กออกจากบ้าน และปิดการบริการขนส่งมวลชนทุกประเภท  โดยร้อยละ 80-99 เห็นด้วยกับมาตรการต่างๆข้างต้น

สำหรับผลกระทบจากมาตรการต่างๆ ผู้ตอบแบบสอบถามได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ห้ามเดินทางเข้า – ออก จังหวัด คิดเป็นร้อยละ 49 ,ห้ามขายอาหารในร้าน ได้รับผลกระทบ ร้อยละ 48, งดการละหมาดในมัสยิด ได้รับผลกระทบร้อยละ 40  ส่วนมาตรการอื่นๆได้แก่ ปิดสถานศึกษาจนถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ,การปิดหมู่บ้านที่มีผู้ติดเชื้อ, ปิดการบริการขนส่งมวลชนทุกประเภท, ปิดห้างสรรพสินค้า ยกเว้น แผนกซุปเปอร์มาเก็ต, ห้ามรวมตัวกันในพื้นที่สาธารณะ, ห้ามออกจากบริเวณบ้านในช่วงเวลา 20.00 – 05.00 น., ปิดสถานบริการ เช่น ร้านตัดผม ร้านนวด สถานบันเทิง, ห้ามผู้สูงอายุและเด็กออกจากบ้าน,  ผู้ที่เดินทางออกจากเคหะสถานต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย, ห้ามเดินทาง เข้า - ออก ประเทศ, ยกเลิกวันหยุดช่วงเทศกาลสงกรานต์ และห้ามซื้อ - ขาย เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้รับผลกระทบตั้งแต่ ร้อยละ 39 ลดหลั่นลงมาถึงร้อยละ 22 ตามลำดับ

ความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสอบถามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อมาตรการต่างๆ เมื่อเข้าสู่ช่วงเดือนรอมฎอน ได้แก่จำเป็นต้องมีมาตรการการควบคุมโรคติดต่อ มีผู้เห็นด้วยร้อยละ  94 การงดเว้นกิจกรรมการละศีลอดที่มัสยิด เห็นด้วย ร้อยละ76, การงดเว้นการละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิดเห็นด้วยร้อยละ 72, มาตรการการงดเว้นการอิอติกาฟในช่วงสิบคืนสุดท้ายของเดือนรอมฎอน เห็นด้วยร้อยละ  71,การงดเว้น
การละหมาดตะรอเวียะฮในเดือนรอมฎอน เห็นด้วยร้อยละ 68, การงดเว้นการร่วมละหมาดห้าเวลาที่มัสยิด เห็นด้วยร้อยละ 66, และการปิดตลาดรอมฎอน เห็นด้วยร้อยละ 65 ตามลำดับ

และเมื่อสอบถามถึงผลของโรคระบาดต่อสุขภาพจิต ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 83-91 ตอบว่ามีความกังวลใจ ทั้งนี้เนื่องจากการรับรู้ข่าวสารมากเกินไป ซึ่งมีข้อน่าสังเกตว่าผู้มีรายได้น้อยมีความรู้สึกกังวลใจหรือมีผลกระทบต่อสุขภาพจิตน้อยกว่าผู้มีรายได้มาก สำหรับมาตรการที่จะทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ผู้ตอบแบบสอบถามตอบว่ารัฐควรมีมาตรการช่วยเหลือ และประชาชนส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ80 ตอบว่าเห็นสมควรใช้มาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 ออกไปอีก 1 เดือน และควรมีมาตรการการในการเปิดตลาดในช่วงเดือนรอมฎอน ที่ต้องรักษาระยะห่างทางสังคม .
                  *************************
โดย : * [ วันที่ ]