: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ ฉบับที่ ประจำเดือน
หัวข้อข่าว : คณะศึกษาศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี ขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานแก้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้
รายละเอียด :
    คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  เป็นพี่เลี้ยงยกระดับคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานของจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นระบบ แก้ปัญหาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ สร้างองค์ความรู้ใหม่เกิดนวัตกรรมใหม่  “หนังสือบัญชีคำพื้นฐาน ชั้น ป.1 และ ป.2” และ “กิจกรรม อ่าน เล่น เพื่อการเรียนรู้และพัฒนาทักษะการบริหารจัดการชีวิตในเด็ก ”  ส่งผลให้โรงเรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านคุณภาพการศึกษาได้อย่างเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม มีคู่มือ สื่อนวัตกรรมเพื่อการเรียนการสอนที่สามารถนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน
     รศ.ดร.เอกรินทร์  สังข์ทอง  คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  กล่าวว่า โครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่น โดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยง  เกิดขึ้นภายใต้ข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา  โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคนให้นำประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนตามยุทธศาสตร์ชาติ โดยให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมอย่างเป็นระบบ  โดยมีเครือข่ายอุดมศึกษาภูมิภาค 9 เครือข่าย  ที่มีความพร้อมทั้งด้านความรู้และเชี่ยวชาญทางวิชาการของบุคลากรและเทคโนโลยีที่จะให้บริการทางวิชาการแก่ชุมชนท้องถิ่นได้อย่างเป็นรูปธรรม  เพื่อช่วยพัฒนาโรงเรียนให้ผลิตนักเรียนที่มีคุณภาพเข้าสู่ภาคอุดมศึกษาในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0  คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  1 ใน เครือข่ายอุดมศึกษาภูมิภาค จึงได้มีโครงการพัฒนา คุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่นโดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยง  ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน มีโรงเรียนที่อยู่โครงการ จำนวน 30 แห่ง เป็นโรงเรียนสังกัดสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 18 แห่งและสังกัดตำรวจตระเวนชายแดน 12 แห่ง  โดยในจังหวัดปัตตานี 19 โรง ยะลา 6 โรง และนราธิวาส 5 โรง มีหน้าที่เป็น “พี่เลี้ยง” โดยทำงานร่วมกับโรงเรียน ชุมชน และหน่วยงาน ในพื้นที่ในการนำองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และเทคโนโลยีไปช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพการศึกษาของ โรงเรียนในท้องถิ่นให้เกิดความเข้มแข็งและพัฒนาท้องถิ่นได้ตรงตามบริบทของชุมชน  และมีส่วนร่วมในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการยกระดับคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานในภาพรวมของประเทศ
         ผลการดำเนินโครงการ ปี 2562  พบว่าคณะศึกษาศาสตร์ มีแนวคิดพัฒนางานหลัก 2 เรื่อง คือ เรื่องการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ระดับปฐมวัย ได้จัดกิจกรรม  “Read and Play Learning in Preschool” หรือ RPL ในกลุ่มผู้สอนระดับอนุบาล 1-3  ทำให้เกิดนวัตกรรม “กิจกรรม อ่าน เล่น เพื่อการเรียนรู้และพัฒนาทักษะการบริหารจัดการชีวิตในเด็ก หรือ EF”  โรงเรียนได้นำไปใช้ในการส่งเสริมประสบการณการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน   และเรื่องการส่งเสริมการอ่านออกเขียนได้ระดับ ป.1 และ ป.2  ได้จัดกิจกรรม “นวัตกรรมบัญชีคำพื้นฐาน”  ให้แก่ครูผู้สอนระดับชั้น ป.1 และ ป.2 เพื่อพัฒนาการอ่านออกเขียนได้  ทำให้เกิดนวัตกรรม  “หนังสือบัญชีคำพื้นฐาน ชั้น ป.1 และ ป.2”  ที่สอดคล้องกับชีวิตประจำวันของผู้เรียนในพื้นที่
         ด้านครูผู้สอนมีความต้องการให้คณะศึกษาศาสตร์ ซึ่งเป็นพี่เลี้ยง มีการผลิตสื่อที่ส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษา การจัดทำแผนประสบการณ์ และสื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย มาตรฐานเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ปี 2561 เทคนิคการปรับพฤติกรรมเด็ก หลักสูตรเกี่ยวกับปฐมวัย ที่มีการปฏิบัติจริง
       รศ.ดร.เอกรินทร์  สังข์ทอง  กล่าวเพิ่มเติมว่า  โดยสรุปการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่นโดยมีคณะศึกษาศาสตร์เป็นพี่เลี้ยง เป็นกิจกรรมเพื่อแก้ปัญหาการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ สร้างความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาและหน่วยงานทุกภาคส่วนในพื้นที่ สามารถส่งผลให้โรงเรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านคุณภาพการศึกษาได้อย่างเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม มีคู่มือ สื่อนวัตกรรมเพื่อการเรียนการสอนที่สามารถนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยคณะศึกษาศาสตร์จะได้มีการติดตามและประเมินต่อไป ซึ่งมีกิจกรรมการพัฒนาห้องเรียนวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย การประเมินผลการใช้หนังสือบัญชีคำพื้นฐาน การประเมินการพัฒนาทักษะการบริหารจัดการชีวิตเด็ก หรือ EF และพัฒนาการผ่าน  “Read and Play Learning in Preschool”  RPL  ในเด็กปฐมวัย และแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถอดบทเรียนจากการดำเนินงานในระยะที่สองภายหลังได้นำนวัตกรรมต่างๆไปดำเนินการต่อไป.
โดย : * [ วันที่ ]