: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ฉบับที่ 20 ประจำเดือน 07 2562
หัวข้อข่าว : ม.อ.ปัตตานี นำนักศึกษาใหม่ฝากตัวเป็นลูกหลานชาวปัตตานี ในกิจกรรมรับน้องใหม่
รายละเอียด :
      มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จัดกิจกรรมศรีตรังสะพรั่งบานบนเส้นทางพหุวัฒนธรรม เพื่อให้นักศึกษาใหม่เรียนรู้
อัตลักษณ์การอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม และฝากตัวเป็นลูกหลานชาวปัตตานี ในโอกาสเดินทางมาศึกษาที่วิทยาเขตปัตตานี
ในวันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคม 2562
      ดร.บดินทร์ แวลาเตะ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี แจ้งว่า ในภาคการศึกษาที่ 1
ปีการศึกษา 2562 นักศึกษาใหม่ประมาณ 1,957 คน จะเดินทางมาอยู่ที่วิทยาเขตปัตตานี ในปลายเดือนกรกฎาคม 2562 เนื่องจาก
จังหวัดปัตตานี ถือว่าเป็นจังหวัดที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และทรัพยากรด้านต่าง ๆ ดังนั้น เพื่อให้นักศึกษาใหม่ได้เรียนรู้และ
เข้าใจบริบทของความหลากหลายของจังหวัดปัตตานี โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ ที่เป็นเมืองเก่าของเมืองปัตตานีที่มีวิถีชีวิตและชีวิต
ความเป็นอยู่ของผู้คนที่มีความเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่น สะท้อนความเป็นพหุวัฒนธรรมของพื้นที่จังหวัดปัตตานี ได้เป็นเป็นอย่างดี
เส้นทางนี้เป็นที่รู้จักในนาม “Pattani Heritage City” หรือเมืองที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมจังหวัดปัตตานี ดังนั้น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
วิทยาเขตปัตตานี จึงได้นำมาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมรับน้องใหม่ประจำปีการศึกษา 2562 ให้นักศึกษาใหม่รู้จักเส้นทางดังกล่าว
ได้เรียนรู้อัตลักษณ์การอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม และฝากตัวเป็นลูกหลานชาวจังหวัดปัตตานี โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
วิทยาเขตปัตตานี ได้กำหนดจัดกิจกรรมศรีตรังสะพรั่งบานบนเส้นทางพหุวัฒนธรรม ในวันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคม 2562 ภายใต้แนวคิด
“RICH” นั่นคือ R : Resource หมายถึงพื้นที่ที่มีความหลากหลายและอุดมสมบูรณ์ทางชีวภาพจากแหล่งธรรมชาติ จากพื้นดินที่อุดม
สมบูรณ์ แม่น้ำ ทะเล ป่าไม้และภูเขา I : Integration หมายถึง บูรณาการสหวิทยาพัฒนาความรู้ สร้างแรงบันดาลใจจากประสบการณ์
สร้างเสริมความเป็นพลเมืองโลก C : Care หมายถึง พัฒนาอัตลักษณ์นักศึกษาสู่ PSU Pattani Smart Students และ H : Heritage
หมายถึง เรียนรู้ด้วยอัตลักษณ์วิถีพหุวัฒนธรรมที่โดดเด่นงดงาม สัมผัสประวัติศาสตร์ร่องรอยทรงคุณค่า
       สำหรับกิจกรรมศรีตรังสะพรั่งบานบนเส้นทางพหุวัฒนธรรมในปีนี้ ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 2 ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ซึ่งมีกำหนดการดังนี้
วันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคม 2562 เวลา 05.00 น. นักศึกษาลงทะเบียนและรวมตัวหน้าลานพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร
อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ภายในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี รองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี กล่าวต้อนรับ
นักศึกษาใหม่ เวลา 06.00  น. เคลื่อนขบวนนักศึกษาและคณาจารย์ไปตามถนนเจริญประดิษฐ์  เข้าสู่ถนนวัฒนธรรม  เพื่อไปพร้อมกันที่
ลานศิลปวัฒนธรรมจังหวัดปัตตานี ตรงข้ามศาลากลางจังหวัดปัตตานี  เวลา 08.00 น. ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นายกเทศมนตรีเมืองปัตตานี
นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี และนายกเทศมนตรีตำบลรูสะมิแล กล่าวต้อนรับนักศึกษาใหม่ เวลา 08.40 น. พิธีเปิดและ
ปล่อยตัวนักศึกษา เดินศึกษาเส้นทางวงแหวนวัฒนธรรมจังหวัดปัตตานี  ผ่านจุดที่เป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของจังหวัดปัตตานี 8 จุด ได้แก่
จุดที่ 1 วัดตานีนรสโมสร พระอารามหลวง ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อมาในสมัยที่พระธรรมโมลี (เกตุ ติสสโร) รองเจ้าคณะภาค 9
และเจ้าคณะจังหวัดปัตตานี เป็นเจ้าอาวาส ท่านได้บริจาคศิลปะโบราณวัตถุและมอบเงินทุนจำนวน 2,000,000 บาท ให้แก่มหาวิทยาลัย
สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี สำหรับสร้างพิพิธภัณฑ์พระเทพญาณโมลี จุดที่ 2 บ้านเลขที่ 1 ถนนอาเนาะรู ซึ่งเป็นบ้านของคุณซุ่ยสิ้ม
ปริชญากร ผู้บริจาคที่ดินให้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จุดที่ 3 ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ที่ประดิษฐานรูปแกะสลัก
เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว จุดที่ 4 ศูนย์การค้าไดอาน่า จุดที่ 5 มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี มัสยิดที่สวยที่สุดในประเทศไทย เป็นศูนย์รวมจิตใจ
ของผู้นับถือศาสนาอิสลามในภาคใต้ จุดที่ 6 มัสยิดรายอฟาตอนี หรือมัสยิดรายาจะบังติกอ สร้างขึ้นในสมัยสุลต่านมูฮำมัด เมื่อเกือบ 200 ปี
ที่แล้ว รูปทรงสถาปัตยกรรมมลายูยุคเก่า โครงสร้างทำด้วยไม้ตะเคียนทองทั้งหลัง จุดที่ 7 วังจะบังติกอ สร้างโดยสถาปนิกชาวจีนในสมัย
ตนกูมูฮัมหมัดหรือตนกูบือซา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองปัตตานี และจุดที่ 8
ริมแม่น้ำปัตตานี ซึ่งเป็นแม่น้ำหลักของจังหวัดปัตตานี มีทัศนียภาพที่สวยงาม มีชุมชนริมแม่น้ำ สัมผัสชีวิตดั้งเดิม อีกแห่งหนึ่งของเมือง
ปัตตานี  รวมระยะทางประมาณ 6  กิโลเมตร  ซึ่งนักศึกษาทั้ง 1,957 คน จะได้รับคูปองจากมหาวิทยาลัย เพื่อนำไปซื้ออาหารพื้นถิ่นที่
ชาวบ้านบริเวณทั้ง 8 จุด ได้ร่วมกันจัดทำเพื่อให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้ลิ้มลองและเรียนรู้อาหารที่ได้รับความนิยมของคนยุคสมัยหนึ่งในอดีต
ของชาวปัตตานี และจังหวัดใกล้เคียง ตลอดจนสินค้าจากชุมชนรอบเมืองปัตตานีอีกด้วย

(ชมภาพกิจกรรมได้ที่ http://pr.pn.psu.ac.th/picturebank/activity/sritrang-sa-prang-ban%2062/album/index.html)
                                                       
                                          *******************************
โดย : * [ วันที่ ]