: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ 7 ฉบับที่ /0 ประจำเดือน 5/ 2562
หัวข้อข่าว : โรงงานแปรรูปอาหาร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.อ.ปัตตานี ได้รับใบรับรองระบบมาตรฐานวิธีการที่ดีในการผลิตตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข พร้อมให้บริการแก่ผู้ประกอบการรายใหม่
รายละเอียด :
          โรงงานแปรรูปอาหาร ภาควิชาวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้รับใบรับรองระบบมาตรฐานวิธีการที่ดีในการผลิตการเก็บรักษาอาหารในภาชนะปิดสนิทชนิดที่มีความเป็นกรดต่ำ จากสถาบันตรวจรับรองมาตรฐาน MS CERTIFICATION โดยมีกลุ่ม start up 15 รายที่เข้ามาขอรับบริการผลิตได้รับการรับรองเลขสารบบอาหาร และอีก 13 รายกำลังรอจดทะเบียน

          อาจารย์เนตรนภิส อ๋องสุวรรณ          หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี แจ้งว่าศูนย์วิทยาศาสตร์อาหาร
ฮาลาลเป็นหน่วยงานบริการวิชาการภายในภาควิชาวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้เริ่มดำเนินการ มาตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2546 เพื่อตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาลที่ได้กำหนดให้มี “ยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล” ของประเทศ ดำเนินการคู่ขนานไปกับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารของการนิคมอุตสาหกรรมโดยได้บูรณาการการทำงานร่วมกันกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แห่งประเทศไทย โดยมีเป้าหมาย คือ ยกระดับคุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจของชุมชนให้ดียิ่งขึ้นด้วยศักยภาพและทรัพยากรที่มีอยู่

          ปี พ.ศ.2558 ศูนย์วิทยาศาสตร์อาหารฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ได้ปรับแต่งอาคารสถานที่ผลิต เปลี่ยนเครื่องจักรที่ใช้เพื่อการสอนนักศึกษามาเป็นใช้เพื่อการผลิตอาหาร และได้จัดทำเอกสารตามหลัก GMP (Good Manufacturing Practice) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายใหม่ หรือที่รียกว่ากลุ่ม start up จากนั้นจึงขออนุญาตผลิตอาหารสเตอริไลส์ (อาหารกรดต่ำ) ในปี พ.ศ.2559 ซึ่งได้รับอนุญาตให้เป็นโรงงานผลิตอาหาร และเครื่องดื่มในภาชนะบรรจุปิดสนิท  และในปี 2561 ได้รับอนุญาตให้เพิ่มชนิดอาหารได้แก่ชา และอาหารกึ่งสำเร็จรูป

          ต่อมาศูนย์วิทยาศาสตร์อาหารฮาลาล ได้พัฒนาโรงงานแปรรูปอาหาร และได้ทำการขอ Certified GMP โดยให้บริษัทรับรองระบบมาประเมินตรวจสอบ (audit) ทั้งการผลิตและระบบเอกสารต่างๆ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 349 เรื่องวิธีการผลิต เครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิต และการเก็บรักษาอาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทที่มีความเป็นกรดต่ำ และชนิดปรับกรด ในขอบข่ายการผลิต 4 ขอบข่าย คือ อาหารในภาชนะที่ปิดสนิท เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท ชา และอาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทชนิดที่มีความเป็นกรดต่ำ ซึ่งหมายความว่า อาหารที่ผ่านกรรมวิธีที่ใช้ทําลายหรือยับยั้งการขยายพันธุ์ของจุลินทรีย์ด้วยความร้อน ภายหลังหรือก่อนบรรจุหรือปิดผนึกและให้ความหมายรวมถึงอาหารอื่นที่มีกระบวนการผลิตในทํานองเดียวกันนี้ที่มีค่าพีเอช มากกว่า 4.6 และมีค่าวอเตอร์แอคติวิตี้ (Water activity) มากกว่า 0.85 ซึ่งเก็บรักษาไว้ในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทที่เป็นโลหะหรือวัตถุอื่นที่คงรูปหรือไม่คงรูป ที่สามารถป้องกันมิให้อากาศภายนอกเข้าไปในภาชนะบรรจุได้ และสามารถเก็บรักษาไว้ได้ในอุณหภูมิปกติ  ที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  ซึ่งในวันที่ 22 เมษายน 2562 โรงงานแปรรูปอาหารภาควิชาวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้ผ่านการประเมิน GMP ด้วยคะแนน 90.03%  

          หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่านี่คือหลักประกันความเชื่อมั่น ว่าเราผลิตอาหารโดยยึดถือความปลอดภัยตามระบบ GMP ที่ถูกต้อง ผู้ประกอบการที่มาขอรับบริการสามารถใช้ข้อความ “ผ่านการตรวจประเมินสถานที่ผลิตตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร (GMP)”  บนบรรจุภัณฑ์ได้  ถือเป็นการติดอาวุธให้กับธุรกิจของผู้ประกอบการที่เข้ามาผลิต  ซึ่งทีมงานของเราจะพัฒนาระบบการผลิตและการให้บริการวิชาการอย่างต่อเนื่อง  ตามพระราชปณิธาน “ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง” ของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกในรัชกาลที่ 9

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พัชรินทร์ ภักดีฉนวน  ภาควิชาวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผู้จัดการ โรงงานสเตอริไลส์อาหาร ศูนย์วิทยาศาสตร์อาหารฮาลาล รายงานเพิ่มเติมว่าปัจจุบันมีผู้ประกอบการรายใหม่ หรือที่เรียกว่ากลุ่ม start up มาขอรับบริการให้คำปรึกษาและขอผลิตอาหารสเตอริไลส์ จากศูนย์วิทยาศาสตร์อาหารฮาลาล ภาควิชาวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จำนวน 15 รายซึ่งได้รับเลขสารบบอาหารแล้ว ได้แก่รังนกในน้ำเชื่อม ไก่กอและ ขาแพะกอและ แกงแพะ ชานม น้ำแกงพะแนงสำเร็จรูป น้ำแกงมัสมั่นสำเร็จรูป
น้ำแกงเขียวหวานสำเร็จรูป แกงกะหรี่ กรือโป๊ะสด แกงเนื้อ เป็นต้น  และผู้ประกอบการรายใหม่อีก 13 ราย ได้แก่ ผู้ประกอบการแกงน้ำเคยยอดหวาย คั่วกลิ้งไตปลา แกงไตปลา น้ำแกงกะหรี่ น้ำแกงต้มยำ น้ำปลาหวาน เครื่องแกงต้มยำปลาทู ไก่ย่างสาหร่าย ข้าวหมกอาหรับ และน้ำจิ้มซีฟู้ด อยู่ในขั้นตอนการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ และกำลังรอจดทะเบียนเลขสารบบอาหาร.
โดย : * [ วันที่ ]