: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ 9 ฉบับที่ /1 ประจำเดือน 1/ 2561
หัวข้อข่าว : ม.อ.ปัตตานีเชิญนักวิชาการประมงกว่า 600 คน จาก 12 ประเทศ ร่วมสัมมนาเครือข่ายประมงศึกษาอาเซียน ที่หาดใหญ่
รายละเอียด :
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นเจ้าภาพจัดสัมมนานานาชาติ เครือข่ายประมงศึกษาอาเซียนครั้งที่ 8   ภายใต้หัวข้อ “การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ยั่งยืนเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ” ระหว่างวันที่ 18-21 พฤศจิกายน 2561 ณ โรงแรมหรรษา เจบี หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
โดยมีนักวิชาการประมงจากทั่วโลกเข้าร่วมงานกว่า 600 คน จาก 12 ประเทศ นำเสนอผลงานวิชาการด้านการประมงกว่า 400 เรื่อง

เมื่อเช้าวันนี้  (วันที่19 พฤศจิกายน 2561) ที่ โรงแรมหรรษา เจบี หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา รองศาสตราจารย์อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนานานาชาติ เครือข่ายประมงศึกษาอาเซียนครั้งที่ 8 (8th INTERNATIONAL FISHERIES SYMPOSIUM)   ภายใต้หัวข้อ “การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ยั่งยืนเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ” หรือ"Sustainable Fisheries and Aquaculture for the Benefits of Mankind" โดยมีนักวิชาการประมง และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจาก 12 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมการสัมมนากว่า 600 คน มีการนำเสนอผลงานวิชาการประกอบด้วยการนำเสนอผลงานด้านการประมง และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ในรูปโปสเตอร์ 113 ผลงาน และการรายงานผลงานวิชาการด้วยการบรรยายประมาณ 300 ผลงาน

รองศาสตราจารย์ ดร.ซุกรี  หะยีสาแม คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลา นครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ประธานเครือข่ายสถาบันการจัดการศึกษาทางด้านประมงของอาเซียน (ASEAN Fisheries Education Network- ASEAN FEN) ซึ่งมีสมาชิกประกอบด้วยมหาวิทยาลัยที่มีการจัดการเรียนการสอนทางด้านการประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทั้งสิ้น 27 สถาบัน และเป็นประธานจัดการสัมมนาเครือข่ายประมงศึกษาอาเซียนครั้งที่ 8 กล่าวว่า International Fishery Symposium เป็นการสัมมนาที่สำคัญที่สุดทางด้านการประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ วิทยาศาสตร์ทางทะเล และศาสตร์ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ของเครือข่ายประมงศึกษาอาเซียน ที่มีนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และนักศึกษา จากทั่วโลกเข้ามาร่วมสัมมนามากที่สุดแห่งหนึ่งที่จัดขึ้นในทวีปเอเซีย โดยได้มีการจัดสัมมนามาแล้ว 7 ครั้ง หมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพไปยังมหาวิทยาลัยของประเทศต่างๆ ที่เป็นสมาชิก ASEAN FEN และการสัมมนาครั้งนี้จะเป็นการรวบรวมผลงานวิชาการทางด้านการประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ วิทยาศาสตร์ทางทะเล ของมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาในอาเซียน และจากนอกอาเซียน

คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลา นครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ชี้แจงว่าการศึกษาวิจัยและจัดการเรียนการสอนด้าน การประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และศาสตร์ที่เกี่ยวข้องทางทะเล นับว่าเป็นนโยบายและยุทธศาสตร์สำคัญของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยกลไกของคณะวิชา
ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ตั้งอยู่ในวิทยาเขตต่างๆ เช่น คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะทรัพยากรธรรมชาติ คณะวิทยาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม และคณะเศรษฐศาสตร์ ได้เล็งเห็นความสำคัญยิ่งของศาสตร์ทางด้านการประมง
และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยการจัดตั้งสาขาวิชาความเป็นเลิศทางด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน และการจัดตั้งสถาบันทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง ดังนั้นการจัดสัมมนาครั้งนี้ จึงมีเป้าหมายสำคัญ คือ การสร้างสภาพแวดล้อมทางวิชาการเพื่อให้นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ นักศึกษา และผู้สนใจ ในศาสตร์ทางด้านการประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทั้งในและต่างประเทศ ทั้งในภูมิภาคและนอกภูมิภาค ได้มีโอกาสมานำเสนอผลงานทางวิชาการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และแสวงหาความร่วมมือในอนาคต อันจะนำไปสู่การสร้างกลไกทางวิชาการที่จะพัฒนา เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย และของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ทางด้านการประมง
และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต่อไปในอนาคต.
                         
      *********************************

โดย : * [ วันที่ ]