: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ 0 ฉบับที่ 13 ประจำเดือน 05 2561
หัวข้อข่าว : ม.อ.ปัตตานี ส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกาบกล้วย หนึ่งในนวัตกรรมพลังวิจัยสู่โอท็อปสามดาว
รายละเอียด :
        สำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นำเทคโนโลยีโรงอบแห้งวัตถุดิบกาบกล้วยด้วย
พลังงานแสงอาทิตย์ นำยางธรรมชาติมาเป็นวัสดุเคลือบผิวเพื่อป้องกันการดูดซึมน้ำ และใช้กาวยางธรรมชาติ มาเป็นตัวยึดติดผลิตภัณฑ์
จากกาบกล้วยส่งเสริมกลุ่มโอท็อปปัตตานี
          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จรีรัตน์ รวมเจริญ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขต
ปัตตานี ผู้จัดทำโครงการ “การพัฒนาและถ่ายทอดความรู้เพื่อการเตรียมวัตถุดิบที่มีคุณภาพสำหรับผลิตภัณฑ์จากต้นกล้วย” กล่าวว่า  
โครงการนี้เป็นความต้องการของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกัทลี  ต.บาราโหม อ.เมือง จ.ปัตตานี และสมาชิกเครือข่ายของกลุ่มในพื้นที่
จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นกลุ่มที่นำต้นกล้วยมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่าง ๆ  อาทิ  กระเป๋าถือ  กระเป๋าสะพาย รองเท้า
กล่องใส่ของ แฟ้มเอกสาร เป็นต้น  เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบในท้องถิ่นและสร้างรายได้ให้กับสมาชิกของกลุ่ม  แต่กลุ่ม
ยังประสบปัญหาในการเตรียมวัตถุดิบและมีวัตถุดิบไม่เพียงพอต่อความต้องการ     และต้องใช้เวลานานในการทำให้แห้ง  
       ดังนั้น ตนเองในฐานะผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง ผู้มีหน้าที่ให้บริการวิชาการแก่สังคม และนักวิทยาศาสตร์ มีความสนใจ
ที่จะนำเทคโนโลยีการอบแห้งด้วยโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์ และแก้ปัญหาการดูดซึมน้ำและการเกิดเชื้อราของกาบกล้วย  จึงได้วิจัยนำ
องค์ความรู้เรื่องน้ำยางธรรมชาติมาพัฒนาเป็นวัสดุเคลือบผิวกาบกล้วยและใช้กาวน้ำยางธรรมชาติมาใช้ในการยึดติดชิ้นงาน เนื่องจาก
กาวน้ำยางสามารถใช้ยึดติดวัสดุที่มีรูพรุนได้ดี ทั้งนี้โดยได้รับความร่วมมือจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  คณะวิทยาการสื่อสาร
และคลินิกเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยได้นำ
องค์ความรู้ไปถ่ายทอดให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปัตตานี เพื่อจะได้นำความรู้ที่ได้รับไปแก้ปัญหาให้กับกลุ่มเพื่อพัฒนาการเตรียมวัตถุดิบ
และพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกาบกล้วยและกระดาษกาบกล้วย นำไปสู่การสร้างรายได้หลักและรายได้เสริมให้กับสมาชิกกลุ่มและครอบครัว
ต่อไป
          ผลจากนำเทคโนโลยีโรงอบแห้งวัตถุดิบกาบกล้วยด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ นำยางธรรมชาติมาเป็นวัสดุเคลือบผิวเพื่อป้องกันการดูดซึมน้ำ
และใช้กาวยางธรรมชาติมาเป็นตัวยึดติดผลิตภัณฑ์จากกาบกล้วย ทำให้กลุ่มโอท็อป หรือวิสาหกิจชุมชน ต.บาราโหม อ.เมือง จ.ปัตตานี
สามารถร่นระยะเวลาในการทำแห้งกาบกล้วย และทำให้ผลิตภัณฑ์มีความสวยงาม แข็งแรง ไม่ขึ้นรา สามารถผลิตแผ่นกาบกล้วยจากเดือนละ
1,000 แผ่น เพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 4,000 แผ่น ผลิตกระดาษจากกาบกล้วย จากเดิม เดือนละ 500 แผ่น เป็น 2,000 แผ่น สามารถผลิต
ผลิตภัณฑ์จากแผ่นกาบกล้วยและกระดาษ  เช่น กระเป๋า สมุดบันทึก กล่องบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจาก 15,000 บาท  
เป็นกว่าเดือนละ 40,000 บาท เป็นต้น
         นางสาวดรุณี  แวยามา ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกัทลี ต.บาราโหม อ.เมือง จ.ปัตตานี กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มกัทลีเป็นกลุ่มแปรรูปเป็น
ผลิตภัณฑ์จากกาบกล้วย  ที่มีสมาชิกร่วมดำเนินกิจกรรมของกลุ่มจากสมาชิกภายใน ต.บาราโหม  ในช่วงแรกมีสมาชิก 10 คน  ปัจจุบันมี
สมาชิกเพิ่มเป็น 20 คน สมาชิกส่วนใหญ่เป็นแม่บ้านและเยาวชนในตำบลบาราโหม อ.เมือง จ.ปัตตานี สมาชิกจะมีส่วนร่วมในกระบวนการ
การผลิต โดยแบ่งหน้าที่กันในแต่ละขั้นตอนการผลิต การดำเนินงานของกลุ่มได้รับความช่วยเหลือและคำแนะนำจากหน่วยงานต่าง ๆ
ภายในจังหวัดอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับการคัดสรรเป็นผลิตภัณฑ์ระดับสามดาว ตามโครงการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย
ปี 2559 ได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ปี 2559  และได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 การประกวดของที่ระลึก ในงานกาชาดและงานประจำปี
จังหวัดปัตตานี ปี 2555 ผลิตภัณฑ์จากกาบกล้วยยังเป็นที่ต้องการของตลาด  เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความโดดเด่น  และผลิตจาก
วัตถุดิบที่เป็นธรรมชาติจากท้องถิ่น  แต่กลุ่มยังคงต้องพัฒนาศักยภาพทางด้านการผลิตให้มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการออกแบบ
ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด  และการแสวงหาตลาดใหม่ ๆ โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ  
         “กลุ่มได้รับการสนับสนุนจากสำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง ม.อ.ปัตตานี  ในการนำองค์ความรู้ มาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ เช่น การเคลือบ
กาบกล้วยด้วยน้ำยาง การย้อมสี การออกแบบ ฯลฯ  และยังได้สนับสนุนอาคารในบริเวณสถานีบริการวิชาการชุมชนปัตตานี อ.เมือง
จ.ปัตตานี ให้เป็นที่ตั้งของกลุ่มกัทลี และสถานที่ผลิต พร้อมกับให้เป็นแหล่งเรียนรู้ ฝึกอบรม และศึกษาดูงานของนักเรียน นักศึกษา กลุ่ม
อาชีพต่าง ๆ และผู้สนใจโดยทั่วไป ซึ่งปัจจุบันมีผู้สนใจเข้ามารับบริการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการสนับสนุนการพัฒนาช่องทางการตลาด
ให้กับกลุ่ม โดยการนำสินค้าผลิตภัณฑ์กาบกล้วยจัดแสดงและจำหน่ายภายในงานต่าง ๆ”  นางสาวดรุณี  แวยามา  กล่าวเพิ่มเติม

                                                       
          *******************************

โดย : * [ วันที่ ]