: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ 9 ฉบับที่ /0 ประจำเดือน 6/ 2560
หัวข้อข่าว : เมียนมาร์เชิญคณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.อ. หารือเรื่องการเป็นเจ้าภาพสัมมนานานาชาติด้านการประมง และร่วมจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการการเปิดหลักสูตรประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
รายละเอียด :
       คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และประธานเครือข่ายสถาบันการจัดการศึกษาด้านประมงของอาเซียน ได้รับเชิญจาก University of Yangon เพื่อขอเป็นเจ้าภาพจัดสัมมนานานาชาติด้านการประมง International fishery symposium 2018 และร่วมร่างหลักสูตรด้านการประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้แก่กลุ่มมหาวิทยาลัยของเมียนมาร์

          รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในฐานะประธานเครือข่ายสถาบันการจัดการศึกษาด้านประมงของอาเซียน (ASEAN Fisheries Education Network- ASEAN FEN) ซึ่งมีสมาชิกประกอบด้วย มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนด้านการประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในภูมิภาคอาเซียน 23 มหาวิทยาลัย และนอกภูมิภาคอีก 3 มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14-16 มิถุนายน 2560 ได้ร่วมกับรองอธิบดีกรมอุดมศึกษาแห่งเมียนมาร์ รองอธิบดีกรมประมงเมียนมาร์ ผู้บริหารจากมหาวิทยาลัยต่างๆในเมียนมาร์จำนวน 10 แห่ง ผู้แทนจากสหภาพยุโรป ผู้แทนจากโครงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างยั่งยืนของประเทศพม่า หรือ Myanmar sustainable aquaculture program ที่สนับสนุนโดยสหภาพยุโรป ตลอดจนประธานสมาคมการประมงแห่งเมียนมาร์และคณะ
อธิการบดี มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ได้แสดงความจำนงขอรับเป็นเจ้าภาพจัดสัมมนานานาชาติด้านการประมง International fishery symposium 2018 ณ กรุงย่างกุ้งในปี พ.ศ. 2561 และจะมีมหาวิทยาลัยอื่นๆในประเทศเมียนมาร์ร่วมเป็นเจ้าภาพด้วย ทั้งนี้เนื่องจากได้เล็งเห็นความสำคัญของการจัดสัมมนาในระดับนานาชาติว่าเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งที่จะนำนักวิชาการโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และของโลก
เข้ามาเยี่ยมและแลกเปลี่ยนทางวิชาการกับเมียนมาร์ภายหลังจากได้มีรัฐบาลใหม่ ที่มีความพร้อมจะทำงานด้านวิชาการร่วมกับต่างประเทศ ทั้งนี้รัฐบาลปัจจุบันเน้นความสำคัญกับการปฏิรูปการศึกษา และนโยบาย Blue economy หรือเศรษฐกิจสีน้ำเงิน ซึ่งหมายถึงเศรษฐกิจที่มีที่มามาจากทะเล ได้แก่การประมง
การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการค้าขาย ที่เกี่ยวข้องกับทะเล ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่กำลังดำเนินการในขณะนี้

         นอกจากนั้น ยังได้เข้าร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เพื่อเตรียมการจัดทำหลักสูตรการศึกษาทางด้านการประมง และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในระดับที่สูงมาก ทั้งนี้เนื่องจากประเทศเมียนมาร์ซึ่งมีประชากร 50 กว่าล้านคน มีมหาวิทยาลัย 170 แห่ง แต่เปิดสอนหลักสูตรด้านการประมงเพียงสามแห่งเท่านั้น หลายมหาวิทยาลัย
จึงให้ความสำคัญกับการเปิดหลักสูตรใหม่ และในขณะเดียวกับที่เขามีสถิติการจับสัตว์น้ำสูงมาก คือ มีอัตราการจับสัตว์น้ำ 2.7 ล้านตันต่อปี ขณะที่ไทยมีเพียง 1.5 ล้านตัน และผลผลิตจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีปริมาณเกือบ 1 ล้านตันต่อปี สูงกว่าไทยนิดหน่อย ทรัพยากรเหล่านี้เขาส่งออกเป็นวัตถุดิบ เขาจึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาการจับสัตว์น้ำและการแปรรูป ในขณะที่เขาไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านนี้

         เมียนมาร์มีชายฝั่งทะเลยาวกว่า 2,000กิโลเมตร  เขามีเกาะแก่งจำนวนมาก จึงมีความจำเป็นต้องเล่นเรื่อง Blue Ocean ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล หลักสูตรจึงต้องพัฒนาให้เร็ว หลักสูตรใหม่ที่กำลังจะร่างควรจะให้มีความเหมาะสมกลมกลืนกับประเทศในอาเซี่ยน และสอดคล้องกับทรัพยากรที่มีอยู่ เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนนักศึกษากับประเทศในอาเซียน สามารถถ่ายโอนหน่วยกิตกับมหาวิทยาลัยในอาเซียน ผู้ที่จบการศึกษาสามารถไปศึกษาต่อในต่างประเทศได้  และนับเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลเมียนมาร์ได้เปิดโอกาส
ให้ภาคเอกชนของเมียนมาร์ ตลอดจนนานาชาติเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบหลักสูตร ดังนั้นเราจึงพร้อมที่จะสนับสนุนให้เมียนมาร์ได้ศึกษาหลักสูตรของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หรือหลักสูตรของเครือข่ายสถาบันการจัดการศึกษาด้านประมงของอาเซียน หรือต้องการผู้เชี่ยวชาญออกแบบหลักสูตร หรือมาดูงาน
เราก็พร้อม

         เมียนมาร์เป็นโอกาสของไทยในธุรกิจการประมง เขามีฐานทรัพยากรทางการประมงที่เข้มแข็งมาก ด้านการศึกษาเขาจะเติบโตได้กว่านี้มากเพราะฐานทรัพยากร ดังนั้นหากเขาต้องการจะส่งนักศึกษามาเรียนที่ ม.อ. หรือการที่อาจารย์ของเราจะไปช่วยทำวิจัย หรือช่วยสอน ความสัมพันธ์นี้จะส่งผลในระดับประเทศ เมื่อเศรษฐกิจของเพื่อนบ้านดีขึ้นก็จะส่งผลให้เศรษฐกิจของเราดีขึ้นด้วย การช่วยเมียนมาร์ในด้านหลักสูตรการศึกษาด้านการประมงจะเป็นหนึ่งในเรื่องการศึกษาเพื่อการทูต หรือ education diplomazy
คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าว.
**************************
โดย : * [ วันที่ ]