: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ 2 ฉบับที่ /0 ประจำเดือน 3/ 59
หัวข้อข่าว : นักวิชาการสื่อสารมวลชน ม.อ.ปัตตานี แถลงผลการสำรวจสถานภาพการสื่อสาร เชื่อมั่นถึงกระบวนการพูดคุยเป็นวิธีการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยั่งยืน
รายละเอียด :
              ศูนย์ศึกษาและพัฒนาการสื่อสารสันติภาพ คณะวิทยาการสื่อสาร  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  แถลงผลการสำรวจสถานภาพการสื่อสาร ภายใต้บริบทการพูดคุยสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในงานวันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ครั้งที่ 3 และสมัชชาสันติภาพ 2016 เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2559 ณ คณะวิทยาการสื่อสาร  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยมี ผศ.ดร.กุสุมา กูใหญ่ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิเทศสัมพันธ์ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  เป็นผู้แถลง  โดยระบุว่า การรู้เท่าทันสื่อและการพัฒนาคุณภาพข่าวสารสันติภาพเป็นปัจจัยสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการพูดคุยสันติภาพสันติสุขของประชาชน
                        ผศ.ดร.กุสุมา กูใหญ่ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิเทศสัมพันธ์ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  คณะผู้สำรวจสถานภาพการสื่อสาร ภายใต้บริบทการพูดคุยสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า  การสำรวจในครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้   ศูนย์ศึกษาและพัฒนาการสื่อสารสันติภาพ คณะวิทยาการสื่อสาร  ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  ในโครงการการศึกษาสภาพทางสังคมและสถานการณ์ยาเสพติด ภายใต้บริบทการสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเปิดรับข่าวสารของประชาชนผ่านสื่อสารมวลชน สื่อชุมชนและสื่อสังคม ความคิดเห็นต่อข้อมูลข่าวสารและบทบาทของสื่อในการสนับสนุนการแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งความเชื่อมั่นต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ   การสำรวจในครั้งนี้ได้ดำเนินการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2558-มกราคม 2559  มีการสุ่มตัวอย่างประชากรจำนวน 1,205 ตัวอย่าง ในชุมชน 200 ชุมชน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา
                   พบว่า สื่อโทรทัศน์และสื่อวิทยุยังคงเป็นสื่อที่ประชาชนเปิดรับข่าวสารมากที่สุด  ในขณะที่การสื่อสารระหว่างบุคคลในชุมชน อินเทอร์เน็ตและสื่อสังคม  เช่น  ไลน์ มีแนวโน้มเข้ามามีบทบาทสำคัญในการรับข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ นอกจากนี้ จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในประเด็นความเชื่อมั่นต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ สันติสุข ที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน พบว่า ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อความสำเร็จของกระบวนการพูดคุยสันติภาพ สันติสุขอยู่ในระดับผ่านเกณฑ์เล็กน้อย คือ คะแนนเฉลี่ย 5.39 จาก 10 คะแนน   และมีความพึงพอใจต่อนโยบายและการทำงานของรัฐบาลปัจจุบันในระดับปานกลาง คือคะแนนเฉลี่ย 5.58  จึงอาจกล่าวได้ว่า ความเชื่อมั่นต่อความสำเร็จและความต่อเนื่องของกระบวนการพูดคุยสันติภาพ สันติสุขยังคงเปราะบาง
                   ผศ.ดร.กุสุมา กูใหญ่  กล่าวเพิ่มเติมว่า ระดับการเปิดรับข่าวสารและการรู้เท่าทันสื่อและข่าวสารของประชาชนนั้นสัมพันธ์กับความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ สันติสุข ในส่วนที่ประชาชนที่เปิดรับข่าวสารและมีการคิดวิพากษ์ข่าวสารมาก ก็จะมีความเชื่อมั่นต่อความสำเร็จและความต่อเนื่องของกระบวนการพูดคุยมากด้วย การสำรวจครั้งนี้จึงเป็นการยืนยันแนวคิดการพูดคุยสันติภาพไม่ควรจำกัดเพียงระหว่างผู้มีอำนาจที่เป็นคู่ขัดแย้ง  แต่ประชาชนจำเป็นต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการดังกล่าวโดยผ่านช่องทางการสื่อสารรูปแบบต่างๆ ดังนั้นการเปิดพื้นที่การสื่อสารมีส่วนสำคัญต่อความเชื่อมั่นของประชาชนในการแก้ปัญหาด้วยวิถีทางการเมืองและสันติวิธี  อันเป็นการยืนยันว่าการพูดคุยเจรจาเพื่อสันติภาพ สันติสุขนั้น เป็นวิธีการที่มีเหตุผลมากกว่าการใช้ความรุนแรงหรือการโฆษณาชวนเชื่อ และส่งผลให้การสร้างสันติภาพ สันติสุขในพื้นที่เป็นจริงและยั่งยืน.
โดย : * [ วันที่ ]