: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ 1 ฉบับที่ /1 ประจำเดือน 0/ 2558
หัวข้อข่าว : นักศึกษา ม.อ.ปัตตานี ไอเดียร์เจ๋ง นำรองเท้าขยะจากทะเล มาแปรรูปเป็นรองเท้าแฟชั่นสไตล์ท้องถิ่นปัตตานี
รายละเอียด :

               ประทีป เอื้อนมงคล รายงาน ( นวพงษ์ เพ็ชรอุไร บรรณาธิกรณ์)
          ทีมงานอาจารย์และนักศึกษาระดับปริญญาโท สาขาเทคโนโลยีพอลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี รีไซเคิลรองเท้าขยะจากท้องลงทะเลให้เป็นรองเท้าสไตล์ท้องถิ่นปัตตานีที่สวยงาม ช่วยลดมลภาวะและช่วยรักษาแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นธรรมชาติ  อีกทั้งผลงานดังกล่าว ยังผ่านการคัดเลือกเป็น 1 ใน 10 ของโครงการ One Young World
          นายปฏิญญา อารีย์ หนึ่งในทีมงานนักศึกษาระดับปริญญาโท สาขาเทคโนโลยีพอลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผู้ร่วมโครงการรีไซเคิลรองเท้าขยะจากท้องทะเลมาเป็นรองเท้าสไตล์ท้องถิ่นปัตตานี ชี้แจงว่าจากการที่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศไทยมีขยะตกค้างจากชุมชน ตลอดจนขยะที่ถูกทิ้งไว้ จะถูกน้ำพัดพาลงสู่แม่น้ำลำคลอง ไหลลงสู่ทะเล และคลื่นได้พัดพาขยะเหล่านี้ขึ้นมาติดค้างบริเวณชายหาด โดยเฉพาะที่เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล มีปริมาณขยะเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งขยะบางประเภทสามารถนำไปจำหน่ายเพื่อแปรรูปได้ แต่มีขยะบางประเภทที่ไม่สามารถนำไปจำหน่ายเพื่อแปรรูปได้ ได้แก่ รองเท้า ซึ่งในช่วงระยะเวลา 3-4 เดือน ทีมงานสามารถเก็บรองเท้าได้เกือบ 100,000 ข้าง หรือประมาณ 7-8 ตัน ซึ่งเป็นปริมาณขยะที่สูงมาก ทีมงานจึงได้คิดค้นนำขยะรองเท้ามารีไซเคิล ให้เป็นรองเท้าใหม่ ในรูปแบบและสีสันที่มีกลิ่นอายวัฒนธรรมท้องถิ่นปัตตานี โดยมี ดร.ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย อาจารย์ที่ปรึกษา เป็นผู้คอยให้คำแนะนำ
          “สำหรับขั้นตอนการผลิตโดยการนำรองเท้าขยะมาทำความสะอาดเอาดิน ทราย และเพรียงออก จากนั้นนำมาบดย่อยเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วผสมกับกาวพอลิยูริเทน แล้วนำไปอัดเบ้าขึ้นรูป เป็นส่วนของพื้นรองเท้า แล้วใส่หูหนีบ หรือเย็บติดกับส่วนของผ้า โดยมุ่งเน้นนำผ้าท้องถิ่นมาผลิต เพื่อประชาสัมพันธ์ผ้าท้องถิ่นให้กับกลุ่มแม่บ้าน และเพื่อเปิดตลาดผ้าท้องถิ่นสู่ตลาดต่างภูมิภาค และที่สำคัญคืออยากให้ทุกคนที่เห็นรองเท้าก็รู้ได้เลยว่ารองเท้าเรามาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้” นายปฏิญญา อารีย์ กล่าว

          ผลงานรองเท้ารองเท้าแฟชั่นสไตล์ท้องถิ่นปัตตานี จากขยะได้ผ่านรอบ 10 ทีมสุดท้ายในโครงการ One Young World ซึ่งเป็นการรวมตัวของเยาวชนที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ และมีผู้นำรุ่นใหม่ที่เคยร่วมโครงการนี้มาแล้วกว่า 6,000 คนจาก 196 ประเทศทั่วโลก และในปีนี้ กรุงเทพมหานครได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุม ซึ่งเป็นการจัดการประชุมครั้งแรก ในเอเชีย One Young World และกรุงเทพมหานคร จึงต้องการเฟ้นหาผู้นำเยาวชนไทยรุ่นใหม่ที่ต้องการ สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมและประเทศได้รับการสร้างเสริมและส่งเสริมทักษะ เพื่อนำไปสู่ การเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคมอย่างประสบความสำเร็จ และจะคัดเลือกรอบสุดท้ายเหลือ 4 ทีม โดยผู้ชนะจะได้รับรางวัลใหญ่ คือ ได้รับโอกาสในการนำเสนอโครงการของตนบนเวทีใหญ่ของ One Young World Summit 2015 กับ ศาสตราจารย์ Muhammad Yunus บิดาแห่งการประกอบกิจการเพื่อสังคม(Social Business Accelerator ) และเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณแก่โครงการ One Young World โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากทั่วโลก ระหว่างวันที่ 18-21 พฤศจิกายน 2558 นี้ ณ กรุงเทพมหานคร  นอกจากนี้ยังได้รับเงินสนับสนุน เพื่อริเริ่มหรือสานต่อกิจการเพื่อสังคมของตนเอง .
โดย : * [ วันที่ ]