: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ / ฉบับที่ 10 ประจำเดือน /2 558
หัวข้อข่าว : นักวิชาการ ม.อ.ปัตตานี สร้างเกมบันไดงู เพื่อให้เยาวชนเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นผ่านการเล่นเกม
รายละเอียด :
        นักวิชาการจากสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ออกแบบสร้างเกมบันไดงู เพื่อให้เยาวชนได้เรียนรู้ และภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ปัตตานี ผ่านการเล่นเกม พร้อมแจกจ่ายให้โรงเรียนและผู้สนใจ

        นางสาวนราวดี โลหะจินดา นักวิชาการอุดมศึกษา สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยว่า ตามที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้อนุมัติให้สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา ได้จัดโครงการสายใยชุมชนสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2553 โดยรับสมัครเยาวชนและผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ โดยลงพื้นที่เรียนรู้แหล่งประวัติศาสตร์ของจังหวัดปัตตานี ได้สัมภาษณ์ผู้สูงอายุที่เป็นปราชญ์ชาวบ้าน หรือผู้ที่มีข้อมูลประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ทำให้เยาวชนได้รับทราบข้อมูลประวัติศาสตร์ เกิดความภาคภูมิใจในแผ่นดินเกิด หลังจากเก็บข้อมูลซ้ำเพื่อยืนยันความถูกต้องแล้วสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา จึงรวบรวมข้อมูล มาจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มเพื่อการศึกษาและเผยแพร่ นั้น
        ล่าสุดในปี 2558 สถาบันฯ ได้จัดโครงการสายใยชุมชนสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นปัตตานี” ระหว่างเดือนมกราคม ถึงเดือนมิถุนายน 2558 โดยนำเยาวชนลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลแหล่งประวัติศาสตร์ในเมืองปัตตานีประมาณ 60 แห่ง แล้วคัดเลือกให้เหลือเพียง 20 แห่ง ที่สามารถเดินทาง
เข้าถึงได้สะดวก แล้วนำข้อมูลประวัติศาสตร์ท้องถิ่นปัตตานีที่รวบรวมมาได้ ออกแบบเป็นเกมบันไดงู เพื่อให้เยาวชนได้เรียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของตนเองอย่างสนุกสนาน และเข้าใจได้ง่าย โดยเกมดังกล่าวมีชื่อว่า “เส้นทางนี้ มีเรื่องราว” ปัตตานีในความทรงจำ  

         “สำหรับเกมบันไดงูที่ออกแบบขึ้นนี้ ได้ใช้มาตราส่วนจากแผนที่จริง เพื่อให้ผู้เล่นทราบที่ตั้งของโบราณสถานที่สำคัญๆ ทำเกิดความเข้าใจได้ง่าย โดยในเบื้องต้นได้จัดพิมพ์จำนวน 1,000 ชุด ประกอบด้วยแผนผังเกมบันไดงู และคำอธิบายแหล่งประวัติศาสตร์ ที่ตัวหมากแต่ละตัวเดินผ่าน และมีลูกเต๋าให้ผู้เล่นโยนเพื่ออ่านว่าจะต้องเดินผ่านบันไดกี่ขั้น ไปพบเจอแหล่งประวัติศาสตร์ใด นอกจากทำให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลินแล้ว ผู้เล่นก็จะได้เรียนรู้แหล่งประวัติศาสตร์ไปพร้อมกันอย่างไม่รู้เบื่อ นอกจากนี้ในวันเด็กแห่งชาติประจำปี 2559 สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จะได้จัดพิมพ์เกมบันไดงูด้วยไวนีล ขนาดใหญ่ และใช้คนจริงๆเป็นตัวเดินแทนหมาก คาดว่าจะสร้างความสนุกสนานและทำให้ผู้เล่นได้รับความรู้ควบคู่กันไป” นางสาวนราวดี โลหะจินดา เจ้าของความคิดสร้างเกมบันไดงู กล่าว
        ต่อคำถามว่าในท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผลกระทบต่อการลงพื้นที่เก็บข้อมูลหรือไม่ นางสาวนราวดี โลหะจินดา ตอบว่า ได้รับผลกระทบเพียงครั้งเดียว เนื่องจาก ในวันที่ลงพื้นที่สำรวจสุสานโต๊ะปาไซ ตำบลตะลุโบะ อำเภอเมือง  จังหวัดปัตตานี ซึ่งตรงกับวันฮารีรายอ
ชาวบ้านประมาณ 30 คน ได้มาปิดล้อม หลังจากได้พูดคุยสอบถามและทราบที่มาที่ไปว่าเป็นการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของนักวิชาการจริง ชาวบ้านจึงได้อนุญาตให้ดำเนินการต่อได้
ตัวอย่างข้อมูลแผนที่ “เส้นทางนี้  มีเรื่องราว” ปัตตานีในความทรงจำ
(เรียงตามลำดับระยะทางจากสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ไปยังโบราณสถานที่ใกล้ที่สุด และโบราญสถานที่ไกลออกไปตามลำดับ และตามภาพในเกมบันไดงู)
        1. สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ตั้งอยู่เลขที่ 181 ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมืองปัตตานี  จังหวัดปัตตานี เดิมชื่อ โครงการจัดตั้งศูนย์การศึกษาเกี่ยวกับภาคใต้ เริ่มดำเนินงานเมื่อปี พ.ศ. 2522 มีภารกิจด้านการศึกษา ค้นคว้า วิจัย ส่งเสริมสนับสนุน อนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม พร้อมทั้งบริการแหล่งเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมในรูปแบบพิพิธภัณฑ์และหอศิลปวัฒนธรรมภาคใต้
        2. ตึกขาว หรือ ตึกเดชะปัตตนายากูล (ชื่อตามประกาศขึ้นทะเบียน) หรือ “ตึกเดชะปัตตนยานุกูล”    (ชื่อดั้งเดิม) ตั้งอยู่ริมถนนหนองจิก ตำบลสะบารัง อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ในปี พ.ศ. 2465 ถือเป็นอาคารของโรงเรียนเบญจมราชู-ทิศหลังแรก ต่อมาใช้เป็นสำนักงานสามัญศึกษาจังหวัดปัตตานี กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 116 ตอนพิเศษ 7 ง วันที่ 22 มกราคม 2542 หน้า 4 พื้นที่โบราณสถานประมาณ 2 งาน 6.67 ตารางวา (กรมศิลปากร.มปป.ทำเนียบนามแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรมในเขตพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้.กรุงเทพฯ : บริษัทบางกอกอินเฮาส์จำกัด)
        3. ศาลหลักเมืองปัตตานี ตั้งอยู่บริเวณสนามศักดิ์เสนีย์ ตรงข้ามศาลากลางจังหวัดปัตตานี ริมฝั่งแม่น้ำปัตตานี ตำบลสะบารัง อำเภอเมือง สร้างเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2494 สมัยพระยารัตนภักดี (แจ้ง  สุวรรณจินดา) ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี และนายพร้อม ชูแข นายอำเภอเมืองปัตตานี ศาลหลักเมืองเป็นศาสนสถานตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์
        4. มัสยิดปากีสถานปัตตานี ตั้งอยู่ที่ถนนปัตตานีภิรมย์  ตำบลอาเนาะรู อำเภอเมืองปัตตานี  จังหวัดปัตตานี  ชาวปากีสถานกลุ่มหนึ่ง จากแคว้นเปชาวาร์ ประเทศปากีสถาน เข้ามาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดปัตตานี เมื่อกว่าร้อยปีก่อน พวกเขาช่วยกันสร้างมัสยิดเป็นอาคารไม้เพื่อเป็นสถานที่ละหมาดและพักแรม ต่อมาชาวมุสลิมปาทานและชาวมุสลิมในพื้นที่เมืองปัตตานีได้ช่วยกันระดมทุนสร้างอาคารหลังใหม่ขึ้นเป็นอาคารก่ออิฐทรงโดมใช้ชื่อว่า “มัสยิดปากีสถานปัตตานี” มัสยิดแห่งนี้มีชาวมุสลิมเข้ามาประกอบพิธีละหมาด และเป็นสถานที่พักแรมสำหรับคนต่างถิ่น เรียกว่า เดรา
        5. วัดตานีนรสโมสร ตั้งอยู่ถนนปัตตานีภิรมย์ ตำบลอาเนาะรู อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี ตามจดหมายเหตุระยะทางเสด็จประพาสแหลมลายูในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5  ร.ศ.  108  วันที่  1  สิงหาคม  พ.ศ.2432  “เวลาเช้า 5 โมงเศษ  เสด็จฯ  ถึงปากน้ำเมืองตานี  มีข้าราชบริพารและประชาชนเฝ้ารับเสด็จฯ...จากนั้นเสด็จฯ ขึ้นฉนวนหน้าวัดบางน้ำจืด  เพื่อบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองศาลาที่โปรดเกล้าฯ  ให้สร้างขึ้นในวัดเมื่อปี พ.ศ. 2431  เวลาต่อมาเสด็จฯประทับบนศาลาที่สร้างขึ้นใหม่...จากนั้นทรงโปรยทานบนศาลา แล้วทรงติดแผ่นศิลาจารึกเรื่องที่ทรงมีพระปรารภให้สร้างศาลาและพระราชทานชื่อวัดบางน้ำจืดเป็น วัดตานีนรสโมสร...”
        6. สะพานเดชานุชิต เป็นสะพานคอนกรีต สร้างเมื่อปี พ.ศ.2469 เป็นสะพานข้ามแม่น้ำปัตตานีแห่งแรกของจังหวัดปัตตานี เมื่อปี วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2484 ยุวชนทหาร ตำรวจ และทหาร เคยปะทะกับกองทัพญี่ปุ่นที่บุกยึดศาลากลางจังหวัด และสถานีตำรวจ ในสงครามมหาเอเชียบูรพา ณ สะพานแห่งนี้
        7. โรงอ่าง ปัจจุบัน คือชื่อของถนนสายหนึ่งในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี หากขับรถเลี้ยวเลาะไปตามตรอกต่าง ๆ ยังพอมีเตาเผาร้างให้เห็นอยู่บ้าง และปัจจุบันเหลือเพียงครองครัวเดียวที่ยังคงผลิต โอ่ง อ่าง จำหน่าย หลักฐานการเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาของเมืองปัตตานี “โรงอ่าง” จากรายงานการเสด็จตรวจราชการหัวเมืองปักษ์ใต้ พ.ศ. 2427 ในพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช “เหนือตรงบ้านเจ้าเมืองขึ้นไป มีโรงทำกระเบื้องเผากระเบื้องหมู่หนึ่ง ไกลตลิ่งประมาณ 1 เส้น ถัดไปอีกหน่อยมีโรงปั้น เผา ไห โอ่ง อีก 2 หมู่ ทำคล้ายกันกับเมืองสงขลา เป็นพวกจีนเรียนมาแต่เมืองสงขลา...” (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช.2504.ชีวิวัฒน์.กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์คุรุสภา,82-83.)
        8. วังจะบังติกอ  สร้างในสมัยตนกูมูฮัมหมัด (พ.ศ. 2388-2399) วังนี้สร้างโดยสถาปนิกชาวจีน ตัววังล้อมรอบด้วยกำแพงทึบก่ออิฐถือปูน รูปทรงของวังเป็นอาคารชั้นเดียวขนาดใหญ่ หลังคาทรงปั้นหยาหรือแบบลีมะ ตัวอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายกพื้นสูง 1 เมตร สร้างด้วยไม้ ภายในอาคารมีโถงขนาดใหญ่ใช้เป็นที่ว่าราชการของเจ้าเมือง ส่วนด้านหลังจะเป็นที่พักอาศัย เนื่องจากตัวอาคารสร้างด้วยไม้ ปัจจุบันจึงผุพังและถูกรื้อถอนไป
        9. มัสยิดรายอปัตตานี เริ่มก่อสร้างสมัยตนกูปะสา (พ.ศ. 2388-2399) เดิมเป็นสุเหร่า อาคารไม้สร้างในรั้ววัง ต่อมาได้ย้ายมาสร้างเป็นอาคารถาวรทางด้านทิศตะวันออกของวัง (มัสยิดปัจจุบัน) ในสมัยตนกูปูเตะ(พ.ศ. 2399-2424) เป็นราชบุตรของตนกูปะสาได้ทรงเลือกที่ตั้งมัสยิด ณ ทิศตะวันออกของวังเจ้าเมืองต่อมาตนกูตีมุง (พ.ศ.2424-2433)ได้แต่งตั้ง ฮัจยี อับดุลลาเตะฮ ดาโต๊ะ เป็นนักกอรี ผู้ที่สามารถอ่านอัลกรุ-อาน    อาซานได้ไพเราะ เป็นอีหม่านประจำมัสยิดอย่างเป็นทางการท่านแรก และได้ขยายอาคารเพิ่มเติมแต่ยังไม่ทันแล้วเสร็จสมบูรณ์ตนกูตีมุงสิ้นพระชนม์เสียก่อน ต่อมาตนกูสุไลมานหรือตนกูบอสู  ให้สร้างต่อจนเสร็จ และตั้งชื่อมัสยิดเป็น“มัสยิดรายอฟาฎอนี”
        10. มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี ตั้งอยู่ที่ถนนยะรัง - ปัตตานี สร้างเมื่อ ปี พ.ศ. 2497  ใช้เวลาในการก่อสร้าง  9 ปี รูปแบบมัสยิดสร้างเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสองชั้น ตรงกลางเป็นอาคารมียอดโดมขนาดใหญ่และมีโดมบริวาร 4 ทิศ ชั้นบนเป็นดาดฟ้าและโดม ภายในมัสยิดประดับด้วยหินอ่อนมีลักษณะเป็นห้องโถง  เป็นที่ประกอบพิธีละหมาด
        11. ศาลเจ้าเล่งจูเกียง หรือศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ตั้งอยู่ที่ถนนอาเนาะรู อำเภอเมืองปัตตานี
จังหวัดปัตตานี สันนิษฐานว่าสร้างประมาณปี พ.ศ. 2117 เดิมเรียกศาลเจ้าซูกง เป็นศาลเจ้าประจำชุมชนชาวจีน   เมื่อปี พ.ศ.2407 หลวงสำเร็จกิจกรจางวางและกลุ่มชาวจีนได้ทำการบูรณะศาลเจ้าซูกง ต่อมาพระจีนคณานุรักษ์ได้อัญเชิญเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวจากบ้านกรือเซะ มาประดิษฐาน ณ ศาลเจ้า    ซูกง และเรียกชื่อว่า ศาลเจ้าเล่งจูเกียง หรือศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ปัจจุบันประดิษฐานรูปแกะสลักของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว พระหมอ เจ้าแม่ทับทิม และเทพเจ้าอีกหลายองค์
        12. ย่านชุมชนชาวจีน          บริเวณที่ชาวจีนตั้งบ้านเรือนร้านค้า เรียกว่า หมู่บ้านชาวจีน หรือตลาดจีน เป็นอาคารแบบจีน ตั้งอยู่เรียงรายไปตามถนนปัตตานีภิรมย์ และถนนอาเนาะรู ในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี เป็นกลุ่มอาคารที่สร้างขึ้นต่อเนื่องร่วมสมัยตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เป็นต้นมา
        13. นาเกลือ พื้นที่ทำนาเกลืออยู่ในเขตตำบลบานา ตำบลตันหยงลุโละ อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี  มีพื้นที่ที่เป็นหาดเลนชาวบ้านใช้เป็นพื้นที่ทำนาเกลือ มากว่า 400 ปี และมีการทำนาเกลือมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน    มีเอกสารที่กล่าวถึงการค้าเกลือ ปรากฏให้เห็นเรื่อยมา แล้วค่อย ๆ หายไป  แต่ร่องรอยการทำนาเกลือในอดีตก็ยังคงปรากฏอยู่จนกระทั่งปัจจุบัน  
        14. ฮวงซุ้ยเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว จากคำบอกเล่าของชาวบ้าน เดิมฮวงซุ้ยเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวตั้งอยู่ใกล้กับชายฝั่งทะเล เมื่อเวลาผ่านไปน้ำกัดเซาะชายฝั่งเป็นเหตุให้สุสานจมลงทะเล ชาวจีนจึงทำพิธีบวงสรวงเพื่อย้ายสุสานที่อยู่ติดชายฝั่ง
มาตั้งไว้ใกล้กับมัสยิดกรือเซะ ปัจจุบันในทะเลตันหยงลุโละยังมีแท่นหินที่ชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นสุสานของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ซึ่งมีสะพานทอดยาวไปถึงสุสาน แท่นหินจะเห็นได้ชัดเมื่อน้ำทะเลลดระดับลง
        15. มัสยิดกรือเซะ ตั้งอยู่บ้านกรือเซะ ตำบลตันหยงลุโละ อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี  สันนิษฐานว่ามัสยิดกรือเซะ สร้างขึ้นในสมัยสุลต่าน มูซัฟฟาร์ ซาร์ (พ.ศ.2073-2107) ตามคำแนะนำของชัยค ซอฟียุดดิน ให้ชื่อว่า “มัสยิดปินตู เกิรบัง”(มัสยิดประตูเมือง) มัสยิดกรือเซะ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน  ขนาดกว้าง  15.10 เมตร  ยาว  29.60  เมตร  สูง  6.50 เมตร  เสาทรงกลม  ช่องประตูหน้าต่างมีทั้งแบบโค้งแหลม และแบบโค้งมน มัสยิดกรือเซะ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ.2478 ปัจจุบันเป็นศาสนสถานเพื่อปฏิบัติศาสนกิจของชาวมุสลิม
        16. สุสานพญาอินทิราหรือกุโบร์มัรฮูม ตั้งอยู่ที่บ้านปาเระ ตำบลตันหยงลุโละ อำเภอเมืองปัตตานี  จังหวัดปัตตานี พญาอินทิรา (พ.ศ. 2043- 2073)  เป็นกษัตริย์พระองค์แรกที่เข้ารับอิสลาม และเปลี่ยนพระนามเป็นสุลต่านอิสมาแอล ชาห์  พระองค์เคยเสด็จเยือนมะละกาเพื่อเจริญสัมพันธไมตรี และมีบันทึกของชาวโปรตุเกสบรรยายถึงเมืองปัตตานีในสมัยพญาอินทิรา ว่าในเมืองปัตตานีมีพ่อค้าโปรตุเกสมาอาศัยกว่า 300 คน มีชาวสยาม จีน และญี่ปุ่น จำนวนมาก    
        17. สุสานราชินี ได้แก่ รายาฮิเยา รายาบีรู รายาอูงู ตั้งอยู่ที่บ้านปาเระ ตำบลบาราโหม อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี รายาทั้งสามพระองค์เป็นพี่น้องกัน ตามลำดับและมีหลานชื่อรายากูนิงเป็นพระธิดาของรายาอูงู ทั้งสี่พระองค์เคยปกครองเมืองปัตตานีให้มีความเจริญรุ่งเรืองต่อเนื่องยาวนาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2127 – 2194  ขณะนั้นเมืองปัตตานีเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ในฐานะเมืองท่าค้าขาย และเมืองที่ปกครองโดยราชินี
มีการเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับนานาชาติ เช่น ญี่ปุ่น ฮอลันดา สเปน อังกฤษ เป็นต้น
        18. วัดบ้านดี หรือวัดกะดี ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลบาราโหม อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น พระเจ้าแผ่นดินสยามได้มอบเชลยชาวพะโค 60 คน และชาวลานช้าง 100 คน ให้สุลต่าน มูซัฟฟาร ชาห์ พระองค์ให้เชลยตั้งบ้านเรือน ใกล้กับพระราชวัง ชาวพะโคตั้งบ้านเรือนอยู่ตรงเชิงสะพานกะดี  หน้ากำแพงเมืองใกล้กับประตูช้าง ให้ทำหน้าที่เลี้ยงช้างของพระราชสำนัก ส่วนชาวลานช้างได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ริมคลองปาเระ และให้ที่ดินทำนาในบริเวณนั้นด้วย เนื่องจากชาวพะโคและชาวลานช้างนับถือศาสนาพุทธ จึงสร้างวัด และได้เรียกวัดนี้ว่า วัดบ้านดีจนถึงปัจจุบัน
        19. สถานที่หล่อปืนใหญ่ สถานที่ตั้งอยู่ที่บ้านกรือเซะ ตำบลตันหยงลุโละ อำเภอเมืองปัตตานี  จังหวัดปัตตานี สภาพเป็นเนินดินมีเถ้าถ่านและหลักฐานการถลุงโลหะ และเศษอิฐที่ทำการหล่อปืนใหญ่
        20. บ่อฮังตูวะห์ (Hang  Tuah) ตั้งอยู่ริมทางหลวงสายปัตตานี – นราธิวาส ตำบลตันหยงลุโละ อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี ฮังตูวะห์เป็นแม่ทัพใหญ่ผู้ซื่อสัตย์ของสุลต่านมัล โซ ชาร์ แห่งมะละกา ในช่วงศตวรรษที่ 15 จากบันทึก Hikayat Hang Tuah ระบุว่าเขาเคยเดินทางมาเยือนปัตตานี และขุดบ่อแห่งนี้ไว้เป็นอนุสรณ์
        รายงานข่าวแจ้งว่า โครงการสายใยชุมชนสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2553 นั้น ในปีแรกได้ลงสำรวจและเก็บข้อมูลที่บ้านตันหยงลุโล๊ะ อำเภอเมืองปัตตานี  ครั้งที่ 2 ปี 2556 ได้ศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่น ในอำเภอตากใบ และ อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส  ครั้งที่ 3 ปี 2557 สำรวจแหล่งประวัติศาสตร์ ในพื้นที่ อำเภอรามัน และ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา และครั้งที่ 4 ในปีนี้ สำรวจแหล่งประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในจังหวัดปัตตานี เพื่อนำข้อมูลที่ได้รับมาออกแบบเป็นเกมบันไดงู ซึ่งผู้จัดทำจะได้แจกเกมบันไดงู แก่โรงเรียนต่างๆในจังหวัดปัตตานีต่อไป และผู้ที่มาเยือนสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ก็จะได้รับแจก เกมบันไดงูด้วยเช่นกัน

โดย : * [ วันที่ ]