: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ 5 ฉบับที่ /0 ประจำเดือน 3/ 2558
หัวข้อข่าว : นานาชาติมีมติให้ไทยเป็นต้นแบบในการอยู่ร่วมกันของผู้คนต่างศาสนา
รายละเอียด :
                 นักวิชาการ 31 ประเทศ มีมติให้ใช้ประเทศไทยในการทำวิจัยหลักสูตรสำหรับนักศึกษามุสลิม เพื่อเป็นต้นแบบการจัดการศึกษาอิสลามศึกษาทั่วโลก เนื่องจากเป็นพื้นที่ผู้คนต่างวัฒนธรรมอยู่กันอย่างสมานฉันท์
       รศ.ดรชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่าการสัมมนาทางวิชาการคุณค่าอิสลามในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง ในระหว่างวันที่ 23-25 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา มีนักวิชาการจาก 31 ประเทศรวม 600 คน ร่วมสัมมนาระดมแนวคิดในเรื่องคุณค่าอิสลามในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง และได้นำเสนอบทความรวม  70 บทความ มีการเจรจาความร่วมมือทางวิชาการร่วม 20 คู่เจรจา และมีมติจะทำงานด้วยกัน 3 ประเด็นคือ การศึกษา การวิจัย และความร่วมมือในการ ส่งเสริมให้เกิดสันติสุขในสังคมต่างศาสนา  ส่งเสริมให้มีความเข้าใจในศาสนาอิสลามและการประยุกต์ใช้ และในอีก 2 ปีข้างหน้า จะนำผลการดำเนินงานมาเสนอในคราวสัมมนานานาชาติ ครั้งที่ 4 ที่ปัตตานี
       ศ.ดร.กนก วงศ์ตระหง่าน ที่ปรึกษาผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการจาก31ประเทศ สรุปว่าจะต้องสร้างสันติสุข และการเข้าใจในอิสลามและประยุกต์ใช้หลักศาสนา ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติ ที่ประชุมเห็นว่าพื้นที่ประเทศไทยเหมาะกับการปฏิบัติ นานาชาติจึงมีมติแสดงเจตจำนงที่จะนำการศึกษาการวิจัย มาทดลองใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จะเป็นแกนในการดำเนินการ ทั้งในด้านหลักสูตรและสาระวิชาที่จะสอน
ซึ่งประเทศมาเลเซียก็กำลังทำวิจัยเรื่องนี้ เราจะร่วมมือกันเพื่อสร้างหลักสูตรสำหรับนักเรียนมุสลิม เพื่อให้มีความรู้ทั้งในหลักศาสนา และความรู้ที่จะประกอบอาชีพให้ประสบความความสำเร็จในชีวิต ส่วนการพัฒนาคุณภาพครู นั้น คณะศึกษาศาสตร์ และวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จะได้เตรียมโครงการพัฒนาและจะฝึกหัดครูอิสลามให้มีคุณภาพ ตามมติที่ประชุมต่อไป
ด้านการวิจัย ได้มีการพูดกันมากว่าวันนี้หลักการอิสลามถูกบิดเบือน ถูกนำมาใช้บางส่วน ไม่ครบถ้วน จนทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อหลักการอิสลาม ซึ่งมุสลิมคือคนที่นับถือศาสนาอิสลาม ที่อาจจะมีทั้งคนดี และคนไม่ดีก็ได้ แต่อิสลามคือศาสนาที่พระผู้เป็นเจ้าประทานมา ซึ่งเป็นความดีงามความถูกต้อง  งานวิจัยอีกด้านหนึ่งคือการนำศาสนามาแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะปัญหาการสู้รบ ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากการนำศาสนามาใช้ไม่ครบถ้วน และมีความบิดเบือน ปัญหาความยากจน ปัญหาการขาดการศึกษา โดยจะนำหลักการอิสลามมาประยุกต์เพื่อการแก้ไข
       ศ.ดร.กนก วงศ์ตระหง่าน  ชี้แจงต่อไปว่า ที่ประชุมยกย่องประเทศไทยว่า แม้เป็นประเทศที่ไม่ได้มีมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ได้ให้โอกาสและสิทธิในการนับถือศาสนาและการปฏิบัติศาสนกิจ รวมถึงการจัดสัมมนาทั้ง 3 ครั้ง ที่รัฐบาลให้การสนับสนุน โลกวิชาการพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เคยคิดว่ารัฐบาลและประเทศไทยจะให้เสรีภาพมากขนาดนี้ มากกว่าที่ประเทศมุสลิมให้แก่คนของเขาเอง ที่ประชุมเห็นว่าประเทศมุสลิมต่างๆจะต้องเรียนรู้จากประเทศไทย ว่าทำอย่างไรให้ผู้ที่มุสลิมและผู้ไม่ใช่มุสลิมอยู่ด้วยกันได้อย่างสันติ  ประเทศไทยเป็นตัวอย่างที่เขาจะต้องเข้ามาศึกษาและมาทำงานร่วมกัน ในการที่ทำให้มีสันติภาพมีความมั่นคงยิ่งขึ้น การสนับสนุนให้ผู้คิดต่างได้พูดคุยกัน ลดความหวาดระแวง ลดอคติ ความสันติสุขก็จะเกิดขึ้นในทุกภูมิภาค รวมถึงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย
       ดร.ยูโซะ ตาเละ ผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์   กล่าวว่าการสัมมนาที่นี่แตกต่างจากการสัมมนาทั่วไปกล่าวคือมีการนำเสนอบทความทางวิชาการด้านอิสลามศึกษา
รวม 70 บทความ การประชุมโต๊ะกลมเพื่อระดมสมองในการแก้ไขปัญหาต่างๆ  การประชุมทวิภาคี ระหว่างมหาวิทยาลัยต่างๆที่มาประชุม ทำให้เกิดการเจรจาความร่วมมือที่สำคัญระหว่างคณะ และสถาบันต่างๆ
รวม 18 คู่เจรจา และยังตอบโจทย์ในเรื่องคุณภาพการศึกษา การแก้ไขปัญหาความยากจน  การแก้ไขปัญหาความไม่สงบสุขในพื้นที่ นอกจากนี้ ผลของการสัมมนาอิสลามศึกษานานาติ ทำให้มีความร่วมมือระหว่างคณะศึกษาศาสตร์  และวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ในการสร้างโรงเรียนสาธิตอิสลาม
ในปีการศึกษา 2559  การจัดตั้งสถาบันพัฒนาครู  การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลอิสลาม และจัดตั้งสถาบันทดสอบภาษาอาหรับ  ในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  เป็นต้น.
โดย : * [ วันที่ ]