: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ 7 ฉบับที่ /0 ประจำเดือน 9/ 57
หัวข้อข่าว : “รองอธิการบดี ม.อ.ปัตตานี” เผย มหาวิทยาลัยช่วยสร้างโอกาสการศึกษาเยาวชน 3 จชต.เพิ่มขึ้น ต่อยอด งานวิจัยแก้ปัญหาชุมชน ปี 2557 หวังเพิ่มความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก-อาเซียน
รายละเอียด :
          ผศ.สมปอง ทองผ่อง รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ให้สัมภาษณ์ “สถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี”ว่า ภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยในช่วงรอบปี 2556 ที่ผ่านมา ได้ดำเนินการทุกเรื่องอย่างมีคุณภาพ ตามพันธกิจสำคัญของมหาวิทยาลัย คือ การผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพออกสู่สังคม การบริการวิชาการ งานวิจัย และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม เพื่อเป็นหลักประกันให้สังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ เป็นสังคมที่ใช้ปัญญาและองค์ความรู้ขับเคลื่อนไปสู่สันติภาพ และเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน
                    “ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยได้ทำหน้าที่อย่างครบถ้วน เรื่องของการผลิตบัณฑิต    สิ่งที่ผมภูมิใจ คือ ม.อ.ปัตตานี มีนักศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประมาณ 65 % ซึ่งถ้าคิดเป็นจำนวนนักศึกษาก็จะอยู่ที่ประมาณ 6,500 คน ถือว่ามีจำนวนมาก ที่ว่าภูมิใจเพราะว่าเราเชื่อมั่นว่านักศึกษากลุ่มนี้ เมื่อจบการศึกษาแล้ว เขาจะมีส่วนไปช่วยพัฒนาท้องถิ่นหรือพัฒนาสังคม และที่สำคัญคือ เขาจะไปช่วยสร้างสรรค์ สิ่งดีๆ ให้กับสังคม เพราะเขามีประสบการณ์ในการเรียน การทำกิจกรรม ตลอด 4 ปี หรือ 5 ปี สำหรับบางหลักสูตร นี่คือสิ่งที่ภูมิใจ” รองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานีกล่าวและเสริมว่า
                   ผศ.สมปอง ทองผ่อง รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า การปฏิบัติงานด้านการวิจัยและบริการวิชาการก็ถือว่าวิทยาเขตปัตตานีได้ทำงานร่วมกับหลายหน่วยงานทั้งภายนอกและภายใน มีงานวิจัยที่มีคุณค่า เช่น คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้นำเทคโนโลยีการใช้น้ำยางไปปูพื้น บ่อน้ำ หรือสระน้ำเพื่อให้เก็บรักษาน้ำได้ ซึ่งทำในหลายพื้นที่ และมีการประสานงานกับ ศอ.บต.เพื่อที่จะนำผลวิจัยดังกล่าวไปประยุกต์เป็นสนามฟุตซอลต่อไป
                   รองอธิการบดี วิทยาเขตปัตตานี กล่าวอีกว่า งานด้านบริการวิชาการในรอบปีที่ผ่านมามีมากกว่า 100 โครงการ แบ่งกันดำเนินงานในแต่ละคณะ หน่วยงาน และดำเนินการกับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย เช่น การอบรมครูตาดีกา อบรมครูไม่ตรงวุฒิ อบรมครูภาษาอังกฤษ การจัดค่ายคณิตศาสตร์หรือค่ายของภาษาอังกฤษ ค่ายของวิทยาศาสตร์ช่วงซัมเมอร์ โครงการหมู่บ้านประมงนำร่อง ของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ดำเนินการมา 7-8 ปี แล้ว มีส่วนทำให้หมู่บ้านมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น มีงานเชื่อมโยงความร่วมมือด้านต่างๆ กับหน่วยงานภายนอก เช่น เครือข่ายสตรีฯ กิจกรรมด้านการช่วยเหลือเยียวยา ส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนในพื้นที่ และพัฒนาทักษะการเรียนรู้ร่วมกับชุมชน โรงเรียน  ด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมนั้น มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการครบทุกมิติ ทุกศาสนา สนับสนุนให้นักศึกษามีกิจกรรมต่างๆ ตามประเพณีวัฒนธรรม สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนาได้จัดกิจกรรมด้านวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง เช่น นิทรรศการด้านภาพวาด ลายเส้น หรือ ภาพท้องถิ่นและงานมหกรรมศิลปวัฒนธรรม
                   “ผมคิดว่าสิ่งที่อยากจะเห็นมากขึ้น คือ ความร่วมมือกับหน่วยงานภายในและภายนอก เช่น ล่าสุด ผมลงนามความร่วมมือกับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส คิดว่าเป็นช่องทางหนึ่งที่จะทำให้ข่าวของเราในพื้นที่ ได้สื่อออกไปกว้างมากขึ้น บ่อยขึ้น จะเป็นประโยชน์กับตัวนักศึกษา และเราพยายามทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในมาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม อยากเห็นว่านักศึกษามีความกระตือรือร้นมากขึ้นในการหาความรู้ในยุคที่เราจะเข้าสู่ AEC และในวิทยาเขตปัตตานีเองเรามีนักศึกษาต่างชาติอยู่ประมาณ 200 คนทั้งในระดับปริญญาตรี โท และเอก” รองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานีกล่าวและระบุว่า
         รองอธิการบดี วิทยาเขตปัตตานี กล่าวเพิ่มเติมว่า  มหาวิทยาลัยยังมีความพร้อมในการหนุนเสริมและสนับสนุนการพูดคุยกระบวนการสันติภาพ พร้อมทั้งบุคลากร อาจารย์ หน่วยงาน องค์ความรู้และนักศึกษาที่ทำเรื่องนี้อยู่แล้ว เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อพื้นที่ชายแดนใต้ในระยะยาว นักศึกษาที่จบจาก ม.อ.ปัตตานีจะนำความรู้ที่ได้รับจากการศึกษาไปช่วยสนับสนุนงานด้านสันติภาพในพื้นที่ คาดหวังว่าปี 2557 สถานการณ์หรือเหตุการณ์ในพื้นที่คงจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นแล้วทุกคนในพื้นที่คงจะได้มีความสุข
โดย : * [ วันที่ ]