: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ 7 ฉบับที่ /0 ประจำเดือน 9/ 57
หัวข้อข่าว : ม.อ. ค้นพบนวัตกรรมใหม่ได้รับรางวัลเหรียญทองในผลงานกาวสำหรับติดยางกับโลหะ ลดการนำเข้าปีละหลายพันล้านบาท
รายละเอียด :
         นักวิจัยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำเสนอผลงานจากงานวิจัยใหม่ รับรางวัลเหรียญทองในผลงานกาวสำหรับติดยางกับโลหะ ในเวทีการประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ ครั้งที่ 42  ณ
กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ในผลงาน กว่า 1,000 ผลงานที่ส่งเข้าประกวดจาก 45 ประเทศ
         รศ.ดร.เจริญ นาคะสรรค์  หัวหน้าโครงการวิจัยกาวสำหรับติดยางกับโลหะโดยใช้กาวรองพื้น (ไพรเมอร์) และกาวยางธรรมชาติ   มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  เปิดเผยว่า ปัจจุบันการใช้กาวที่ใช้ยึดระหว่างยางกับโลหะชนิดต่างๆ มีการขยายตัวมากขึ้น เนื่องจากผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ในงานเชิงวิศวกรรมส่วนใหญ่ไม่ได้ทำขึ้นจากยางเพียงอย่างเดียวอาจมีการเสริมความแข็งแรงให้แก่โครงสร้างด้วยโลหะ ทำให้ปริมาณการใช้ยางติดโลหะมีความจำเป็นในระบบอุตสาหกรรมโดยใช้เป็นส่วนประกอบ เช่น ชุดอุปกรณ์ลดเสียงดังที่เกิดจากการสั่น การเคลื่อนที่ และการเสียดสี หรือความเสียหายจากการสั่นสะเทือน ปกป้องความเสียหายจากการกระแทก และใช้อุดรอยรั่วของน้ำมัน กาวที่ใช้ติดระหว่างยางกับโลหะจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ดังกล่าว
           การผลิตกาวยางกับโลหะมีความจำเป็นที่จะต้องใช้องค์ประกอบ 2 ส่วน คือ กาวรองพื้นหรือไพรเมอร์ หรือตัวให้แรงยึดติด  เพื่อช่วยให้เกิดการเปียกที่ผิวของวัสดุที่ต้องการติด และยังช่วยเสริมความแข็งแรงของพันธะทางเคมี และส่วนกาวทาชั้นบน เพื่อเป็นชั้นยึดยางคอมเปาว์และเสริมประสิทธิภาพในการยึดติดโลหะ  จากความสำคัญดังกล่าวจึงได้มีการศึกษาวิจัยเรื่องกาวสำหรับติดยางกับโลหะโดยใช้กาวรองพื้นและกาวยางธรรมชาติ  โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คือ รศ.อาซีซัน แกสมาน คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ ดร.เอกวิภู กาลกรณ์สุรปราณี คณะวิทยาศาสตร์ การวิจัยดังกล่าวจะมุ่งเน้นการพัฒนาการเตรียมสารไพรเมอร์เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับกาวสูตรที่ให้คุณสมบัติที่ดีที่สุดจากงานวิจัย  โดยการศึกษาคุณสมบัติการยึดติดระหว่างคอมเปาวด์ยางธรรมชาติกับโลหะ 3 ชนิด คือ ทองแดง เหล็ก และอลูมิเนียม
                      รศ.ดร.เจริญ นาคะสรรค์  เปิดเผยถึงผลสรุปการวิจัยว่า  สามารถพัฒนายางพาราเป็นกาวได้ โดยการลดขนาดโมเลกุลของยางพาราให้มีความเหมาะสมแก่ความต้องการของอุตสาหกรรมแต่ละอย่างด้วยวิธีการทางเคมี พบว่า ให้ความสามารถในการติดประสานระหว่างยางกับโลหะสูงมาก กาวชนิดนี้เหมาะสำหรับใช้งานในอุตสาหกรรมยานยนต์ การก่อสร้าง และการขนส่ง สำหรับการเคลือบลงบนผิวโลหะอาจจะใช้การพ่น การทาด้วยแปรงหรือลูกกลิ้ง และการจุ่ม นอกจากมีคุณสมบัติด้านความแข็งแรงแล้ว กาวชนิดนี้ยังมีข้อดีทางด้านการทนน้ำมันและสิ่งแวดล้อม
                     “จุดเด่นของกาวชนิดนี้คือเป็นกาวที่สร้างจากวัตถุดิบธรรมชาติ ไม่มีองค์ประกอบของสารพิษเจือปนอยู่ดังเช่นกาวที่ใช้กันทั่วไป ซึ่งมักจะมีฟอร์มาลินเป็นองค์ประกอบซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพมาก และข้อสำคัญคือกาวที่คิดขึ้นนี้มีความแข็งแรงสูงกว่ากาวที่ใช้กันอยู่  เพราะฉะนั้น โอกาสที่จะใช้ประโยชน์จากกาวที่ผลิตจากน้ำยางพาราจึงมีสูงมาก และจะมีมูลค่ามหาศาลเพราะสามารถลดการนำเข้ากาวซึ่งเราต้องนำเข้ามาปีละหลายพันล้านบาทได้เป็นอย่างดี.”  รศ.ดร.เจริญ นาคะสรรค์  เปิดเผยเพิ่มเติม
โดย : * [ วันที่ ]