: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ฉบับที่ 00 ประจำเดือน 05 2557
หัวข้อข่าว : ผลงานวิจัยหมอนรองศีรษะจากพอลิยูรีเทนเจลและยางพารา ลดปัญหาแผลกดทับผู้ป่วยผ่าตัด ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คว้ารางวัลเหรียญทอง ณ กรุงเจนีวา
รายละเอียด :
      คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ร่วมกับ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัย
สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  ค้นคว้าวิจัยหมอนรองศีรษะจากพอลิยูรีเทนเจลและยางพาราแปรรูป ป้องกันแผลกดทับ
จากการผ่าตัด ยึดหยุ่นได้ตามแรงกดทับ ลดแรงกดบริเวณศีรษะและใบหน้า ได้รับรางวัลเหรียญทองจากการประกวด ในงาน
42 nd International Exhibition of Inventions of Geneva ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ระหว่างวันที่ 2 – 6 เมษายน
2557
             ดร. ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ผู้ร่วมค้นคว้าวิจัยหมอนรองศีรษะจากพอลิยูรีเทนเจล
และยาพารา เปิดเผยว่า งานวิจัยสิ่งประดิษฐ์จากพอลิยูรีเทนเจลและยางพารา เป็นงานวิจัยที่ทำมากว่า 10 ปี โดยแรกเริ่ม
ได้งบประมาณสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยส่วนหนึ่งมาทำการวิจัย และอาศัยเครื่องมือและอุปกรณ์บางชิ้นจากคณะวิศวกรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตหาดใหญ่ เพื่อทำการทดลองงานวิจัยเกี่ยวกับพอลิยูรีเทนเจลและยางพารา ได้มีการพัฒนา
มาเรื่อย ๆ  โดยมีกลุ่มนักศึกษาระดับบัณฑิตวิทยาลัยเข้ามาร่วมทำการวิจัย  มีการส่งผลงานเข้าประกวดในหลาย ๆ โครงการ โดย
ขณะนั้นรูปแบบของชิ้นงานยังไม่มีความหลากหลาย มีรูปแบบเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมธรรมดา ได้รับรางวัลมาหลายเวทีและที่สำคัญ
ผลงานชิ้นนี้มีผลช่วยส่งเสริมเป็นทุนการศึกษาให้แก่นักศึกษาได้มีทุนทรัพย์จากการจำหน่ายชิ้นงานจนจบการศึกษามาหลายรุ่น
      จากผลงานดังกล่าว  จึงจุดประกายให้ได้รับโอกาสจาก ผศ.พญ.นลินี โกวิทวนาวงษ์ วิสัญญีแพทย์ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์
หัวหน้าโครงการวิจัยหมอนเจลรองศีรษะป้องกันแผลกดทับ ส่งโจทย์ให้ต่อยอดและพัฒนางานวิจัยประดิษฐ์หมอนรองศีรษะ
จากพอลิยูรีเทนเจลและยางพารา  เพื่อใช้กับกรณีผู้ป่วยแผลกดทับเกิดจากแรงกดจากภายนอกกระทำต่อผิวหนัง  ทำให้เกิด
ความดันกดทับระหว่างผิวสัมผัส มักพบ  ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถขยับตัวได้เป็นเวลานาน เช่น ผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือผู้ป่วย
ที่ดมยาสลบและผ่าตัดเป็นเวลานาน โดยเฉพาะการผ่าตัดที่นานเกิน 2 ชั่วโมง ได้แก่ การผ่าตัดสมอง ผ่าตัดในช่องปอด หรือ
การผ่าตัดกระดูกสันหลัง ซึ่งต้องใช้เวลาในการผ่าตัดประมาณ 2 ชั่วโมงขึ้นไป และผู้ป่วยจะต้องนอนผ่าตัดในท่านอนคว่ำ
หากเกิดแผลกดทับบริเวณผิวหนังและกล้ามเนื้ออาจเกิดความพิการ และต้องเสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา
จึงมีความพยายามที่จะประดิษฐ์วัสดุรองรับเพื่อป้องกันบริเวณที่จะเกิดแผลกดทับสูง เช่น บริเวณศีรษะและใบหน้า คณะผู้วิจัย
พยายามใช้ยางพาราแปรรูปซึ่งเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายภายในประเทศและช่วยเพิ่มมูลค่าแก่ยางพารา  ลดการนำเข้าวัสดุทาง
การแพทย์จากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาสูงกว่าหลายเท่า โดยหมอนเจลฯ ที่นำเข้าจากต่างประเทศจะมีราคา 8,000 – 10,000 บาท
ในขณะที่หมอนเจลฯ ที่ผลิตเองมีราคาประมาณ 4,500 บาท ในส่วนของรูปแบบชิ้นงานจะมีการพัฒนารูปแบบจากเดิมเป็น
ชิ้นสี่เหลี่ยมธรรมดา ให้เป็นลักษณะโค้งเข้ารูปทรงกับการใช้งาน โดย พญ.นลินี โกวิทวนาวงษ์ วิสัญญี ได้ส่งรูปแบบ
การวิจัย บล็อกรูปทรงต่างๆ ที่น่าสนใจและเหมาะสมต่อการใช้งานมาให้ทางทีมงานวิจัยได้ดำเนินการพัฒนาต่อยอดต่อไป
       ผลงานดังกล่าวถือเป็นผลงานที่ทรงคุณค่าและประโยชน์ต่อสาธารณชน  และคว้ารางวัลเหรียญทอง 1 ใน 5 รางวัล
จากการส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดและจัดแสดงนิทรรศการในฐานะตัวแทนประเทศไทย ในงาน 42 nd International
Exhibition of Inventions of Geneva ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ระหว่างวันที่ 2 – 6 เมษายน  2557  ถือเป็นความภาคภูมิใจ
ของชาวสงขลานครินทร์


                                                                            ***********************************
โดย : * [ วันที่ ]