: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ 0 ฉบับที่ 13 ประจำเดือน 05 2557
หัวข้อข่าว : ม.อ. ค้นพบนวัตกรรมใหม่ ได้รับรางวัลเหรียญทองในผลงานกาวสำหรับติดยางกับโลหะ ลดการนำเข้าปีละหลายพันล้านบาท
รายละเอียด :
         นักวิจัยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  นำเสนอผลงานจากงานวิจัยใหม่  รับรางวัลเหรียญทองในผลงาน
กาวสำหรับติดยางกับโลหะ ในเวทีการประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ ครั้งที่ ๔๒ ณ กรุงเจนีวา  สมาพันธ์รัฐสวิส  
ในผลงานกว่า  ๑,๐๐๐  ผลงานที่ส่งเข้าประกวดจาก  ๔๕  ประเทศ
         รองศาสตราจารย์  ดร.เจริญ  นาคะสรรค์  หัวหน้าโครงการวิจัยกาวสำหรับติดยางกับโลหะโดยใช้กาวรองพื้น  
(ไพรเมอร์)  และกาวยางธรรมชาติ  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  เปิดเผยว่า  ปัจจุบันการใช้
กาวที่ใช้ยึดระหว่างยางกับโลหะชนิดต่าง  ๆ  มีการขยายตัวมากขึ้น  เนื่องจากผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ในงานเชิงวิศวกรรม  
ส่วนใหญ่ไม่ได้ทำขึ้นจากยางเพียงอย่างเดียว  อาจมีการเสริมความแข็งแรงให้แก่โครงสร้างด้วยโลหะ  ทำให้ปริมาณ
การใช้ยางติดโลหะมีความจำเป็นในระบบอุตสาหกรรม  โดยใช้เป็นส่วนประกอบเช่น  ชุดอุปกรณ์ลดเสียงดังที่
เกิดจากการสั่น  การเคลื่อนที่  และการเสียดสี  หรือความเสียหายจากการสั่นสะเทือน  ปกป้องความเสียหายจาก
การกระแทกและใช้อุดรอยรั่วของน้ำมัน  กาวที่ใช้ติดระหว่างยางกับโลหะจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในกระบวนการ
ผลิตผลิตภัณฑ์ดังกล่าว
         การผลิตกาวยางกับโลหะ  มีความจำเป็นที่จะต้องใช้องค์ประกอบ ๒ ส่วน คือ กาวรองพื้นหรือไพรเมอร์  
หรือตัวให้แรงยึดติด  เพื่อช่วยให้เกิดการเปียกที่ผิวของวัสดุที่ต้องการติดและยังช่วยเสริมความแข็งแรงของ
พันธะทางเคมีและส่วนกาวทาชั้นบน  เพื่อเป็นชั้นยึดยางคอมเปาว์และเสริมประสิทธิภาพในการยึดติดโลหะ  
จากความสำคัญดังกล่าวจึงได้มีการศึกษาวิจัยเรื่อง กาวสำหรับติดยางกับโลหะโดยใช้กาวรองพื้นและกาวยาง
ธรรมชาติ  โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  คือ  รองศาสตราจารย์อาซีซัน  แกสมาน  
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  และ  ดร.เอกวิภู  กาลกรณ์สุรปราณี  คณะวิทยาศาสตร์  การวิจัยดังกล่าว
จะมุ่งเน้นการพัฒนาการเตรียมสารไพรเมอร์  เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับกาวสูตรที่ให้คุณสมบัติที่ดีที่สุดจากงานวิจัย
โดยการศึกษาคุณสมบัติการยึดติดระหว่างคอมเปาว์ยางธรรมชาติกับโลหะ  ๓  ชนิด  คือ  ทองแดง  เหล็ก  และ
อลูมิเนียม
         รองศาสตราจารย์  ดร.เจริญ  นาคะสรรค์  เปิดเผยถึงผลสรุปการวิจัยว่า  สามารถพัฒนายางพาราเป็นกาวได้  
โดยการลดขนาดโมเลกุลของยางพาราให้มีความเหมาะสมแก่ความต้องการของอุตสาหกรรมแต่ละอย่างด้วยวิธีการ
ทางเคมี  พบว่าให้ความสามารถในการติดประสานระหว่างยางกับโลหะสูงมาก  กาวชนิดนี้เหมาะสำหรับใช้งานใน
อุตสาหกรรมยานยนต์  การก่อสร้าง  และการขนส่ง สำหรับการเคลือบลงบนผิวโลหะ  อาจจะใช้การพ่น  การทาด้วย
แปรงหรือลูกกลิ้ง  และการจุ่ม  นอกจากมีคุณสมบัติด้านความแข็งแรงแล้ว  กาวชนิดนี้ยังมีข้อดีด้านการทนน้ำมันและ
สิ่งแวดล้อม
         “จุดเด่นของกาวชนิดนี้คือ  เป็นกาวที่สร้างจากวัตถุดิบธรรมชาติ  ไม่มีองค์ประกอบของสารพิษเจือปนอยู่
ดังเช่นกาวที่ใช้กันทั่วไป  จะมีฟอร์มาลินเป็นองค์ประกอบ  ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพมากและข้อสำคัญคือ  
กาวที่คิดขึ้นนี้มีความแข็งแรงสูงกว่ากาวที่ใช้กันอยู่  เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะใช้ประโยชน์จากกาวที่ผลิตจากน้ำยางพารา  
จึงมีสูงมากและจะมีมูลค่ามหาศาล  เพราะสามารถลดการนำเข้ากาว  ซึ่งเราต้องนำเข้ามาปีละหลายพันล้านบาท
ได้เป็นอย่างดี”  รองศาสตราจารย์  ดร.เจริญ  นาคะสรรค์  เปิดเผยเพิ่มเติม


                                                           ********************************
โดย : * [ วันที่ ]