: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ 2 ฉบับที่ /0 ประจำเดือน 9/ 2556
หัวข้อข่าว : นักวิชาการ ม.อ.ปัตตานี แนะภาครัฐควรชัดเจนในเรื่องการลดต้นทุน และการเพิ่มมูลค่ายางพาราโดยการแปรรูปในประเทศ
รายละเอียด :
           นักวิชาการด้านยางพารา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี แนะแนวทางการแก้ปัญหาราคายางตกต่ำในระยะยาวโดยรัฐต้องมีนโยบายที่ชัดเจนในการลดต้นทุนการผลิตและการเพิ่มมูลค่ายางพารา ด้วยการแปรรูป เช่น ถนนยางมะตอยผสมยางพารา แผ่นยางปูพื้น สนามเด็กเล่นและสนามกีฬา โดยสามารถเพิ่มมูลค่ามากกว่าการส่งออกเกือบ 5 เท่า ทั้งนี้รัฐต้องมีมาตรการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมด้วยการลดหย่อนภาษีในระยะแรกของการลงทุน
                    รศ.ดร.อาซีซัน  แกสมาน  ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  กล่าวว่า            สถานการณ์การผลิตยางพาราไทยใน 5 ปีที่ผ่านมาพบว่าการใช้ยางในประเทศเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง สะท้อนให้เห็นถึงความไม่มีประสิทธิภาพในนโยบายการเพิ่มมูลค่ายางพาราของรัฐบาล  สำหรับแนวคิดของรัฐบาลที่เสนอให้มีการลดต้นทุนการผลิตโดยการช่วยเหลือในเรื่องปัจจัยการผลิตนั้นเป็นวิธีการแก้ปัญหาระยะสั้น ไม่ตรงจุด เพราะโครงสร้างต้นทุนปัจจัยการผลิตมีเพียง 15-20 %  เท่านั้น จะต้องมีมาตรการการบริหารจัดการเรื่องแรงงานที่ชัดเจนเพิ่มเติมด้วย สำหรับมาตรการเกี่ยวกับการเร่งรัดการโค่นต้นยางอายุเกิน 25 ปี เป็นแนวคิดในการแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ  แต่ในภาคปฏิบัติทำได้ยาก เนื่องจากรัฐไม่สามารถบังคับ แนะนำให้เกษตรกรโค่นต้นยางและปลูกทดแทนใหม่ ได้   สิ่งที่น่าเป็นห่วงในอนาคตคือปริมาณยางพาราที่ล้นตลาด เนื่องจากในปี 2557 จะเป็นปีที่ปะเทศไทยมีผลผลิตยางเพิ่มจากผลผลิตยางในโครงการ 1 ล้านไร่ และอีก 2 ล้านไร่ที่อยู่นอกโครงการ คาดว่าน่าจะมีผลกระทบต่อราคายางพาราแน่นอน
                      รศ.ดร.อาซีซัน  แกสมาน   กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาคอุตสาหกรรมเป็นส่วนสำคัญในการแก้ปัญหายางพารา โดยการนำยางพาราไปใช้ประโยชน์ในการทำเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ เป็นที่ทราบกันดีว่าในปี 2555 ประเทศไทยส่งยางออกในรูปวัตถุดิบคือยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน น้ำยางข้นและยางแปรรูปอื่นๆ ประมาณ 3.12 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 86 สร้างรายได้เข้าประเทศ 336,000 ล้านบาท ใช้แปรรูปในประเทศเพียง 0.5 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 14 แต่สร้างรายได้ 260,000 ล้านบาท เมื่อเทียบการเพิ่มมูลค่าเพิ่ม พบว่า การใช้ยางพาราผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สามารถเพิ่มมูลค่าได้ประมาณ 4.8 เท่า ของราคาวัตถุดิบ  ปัจจุบันยางพารามีการใช้มากที่สุดในอุสาหกรรมการผลิตล้อรถยนต์  คิดเป็นร้อยละ 70 รองลงมาคือ ถุงมือยาง เส้นด้ายยางยืด ถุงยางอนามัย ยางฟองน้ำ  ทั้งนี้ยางพาราสามารถไปใช้ประโยชน์เป็นถนนยางมะตอยผสมยางพารา  เป็นแนวทางหนึ่งที่ได้มีการศึกษาวิจัย ซึ่งถ้ามีการผลักดันอย่างจริงจังจะทำให้มีการใช้ยางพาราในประเพทศเพิ่มมากขึ้น และยังสามารถใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่น ๆ เช่น แผ่นยางปูพื้นสำหรับสนามเด็กเล่น สนามกีฬา  เหล่านี้เป็นผลจากการวิจัยที่นักวิจัยในสถาบันการศึกษาได้ศึกษาไว้แล้ว หากมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ภาคเอกชน สามารถนำไปผลิตได้  
                      สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาต้นทุนการผลิตที่นำไปสู่การแก้ปัญหาราคายาง ควรมีมาตรการระยะเร่งด่วน เจรจากับทุกฝ่ายให้มีการประกันราคายาง  มาตรการระยะกลางคือ ภาครัฐต้องมีนโยบายเร่งรัดการใช้ยางในประเทศ   การสนับสนุนปัจจัยการผลิต การสนับสนุนถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ยางพาราให้ภาคเอกชน และสนับสนุนการลดหย่อนภาษีในระยะแรกของการลงทุน ที่ชัดเจน และมาตรการระยะยาว คือ กำหนดนโยบายควบคุมการขยายพื้นที่ปลูกและมุ่งเน้นการเพิ่มผลิตภาพการผลิตให้สูงขึ้น กำหนดนโยบายบริหารจัดการแรงงาน   และสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมจากยางพาราให้มีมูลค่าเพิ่มโดยรัฐต้องสนับสนุนระยะยาวทั้งโครงสร้างพื้นฐาน อุปกรณ์ และการพัฒนาคน มีการกำหนดเป้าหมายผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เป็นระยะ  รวมทั้งสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนอย่างเต็มที่.
                    ผู้ที่สนใจขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ รศ.ดร.อาซีซัน  แกสมาน  ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี 94000  โทร.0 8965 8589 2  
โดย : * [ วันที่ ]