: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ 5 ฉบับที่ /0 ประจำเดือน 6/ 2556
หัวข้อข่าว : อธิการบดี ชี้แจงสงขลานครินทร์พร้อมก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ขอให้ประชาคมร่วมกันเสนอแนะร่างพรบ. ยืนยันการบริหารรูปแบบใหม่เป็นประโยชน์ต่อองค์กร และไม่มีผลกระทบด้านลบต่อประชาคม
รายละเอียด :

            อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พร้อมด้วย ทีมบริหาร เดินสายชี้แจงทำความเข้าใจการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ณ วิทยาเขตปัตตานีเป็นแห่งแรก ในขณะที่บุคลากร
และนักศึกษาที่เข้ารับฟังกว่า 500 คน ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อการปรับเปลี่ยนการบริหาร          
            เมื่อวันอังคารที่ 27 สิงหาคม 2556 ระหว่างเวลา 13.30-16.00น. ณ หอประชุมวิทยาเขตปัตตานี รศ.ดร. ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พร้อมด้วย
อาจารย์ พิชิต เรืองแสงวัฒนา รองอธิการบดี  ซึ่งดูแลร่าง พรบ.ม.อ. และ รศ.ดร. เกริกชัย ทองหนู รองอธิการบดีฝ่ายระบบสารสนเทศและโครงสร้างกายภาพ คณะทำงานฝ่ายประชาสัมพันธ์
และรับฟังความคิดเห็น ได้เดินทางมาชี้แจงทำความเข้าใจแก่ประชาคม วิทยาเขตปัตตานี ต่อการปรับเปลี่ยนการบริหารมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จากระบบราชการ มาเป็นมหาวิทยาลัย
ในกำกับของรัฐ โดยท่านอธิการบดีแจ้งว่าในวันนี้จะมาทำความเข้าใจและชี้แจงใน 4 ภารกิจคือ 1. การเพิ่มเงินเดือนพนักงานมหาวิทยาลัยตามมติ ครม.  2. การตั้งกรรมการสภาวิทยาเขต
3.การปฏิบัติตามมาตรฐานตำแหน่งทางวิชาการ และเรื่องที่ 4 ที่สำคัญที่สุดคือการก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ (งานประชาสัมพันธ์ วิทยาเขตปัตตานี ขอลงรายละเอียด
เฉพาะเรื่องการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์)
             อธิการบดีกล่าวว่าการก้าวสูการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จะชี้แจงในรายละเอียดใน 4 ประเด็น ได้แก่ ความจำเป็นในการเป็นมหาวิทยาลัย
ในกำกับของรัฐ  สถานะของมหาวิทยาลัยในกำกับ ผลกระทบต่อบุคลากร และนักศึกษา และแผนการดำเนินงาน ความจำเป็นในการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ สืบเนื่องจากงบประมาณ
ที่มหาวิทยาลัยได้รับจากรัฐมีจำนวนจำกัด รวมทั้งการจำกัดด้านอัตรากำลัง มหาวิทยาลัยจึงมีความจำเป็นต้องบริหารให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้หากอยู่ในระบบราชการจะทำไม่ได้
เนื่องจากติดเรื่องระเบียบราชการ จึงต้องสร้างระเบียบการบริหารจัดการขึ้นเองให้มีประสิทธิภาพ คล่องตัว ทั้งในเรื่องของการบริหารการเงิน การบริหารจัดการ การบริหารวิชาการ
โดยยังคงต้องรักษาความเท่าเทียมกันของโอกาสทางการศึกษา และความเป็นเลิศทางวิชาการ ทั้งนี้การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับยังคงต้องมีสภามหาวิทยาลัย ซึ่งการบริหารวิชาการ
ในภาพรวมไม่เปลี่ยนแปลง และเรายังคงเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐอยู่เช่นเดิมไม่ได้เปลี่ยนไปเป็นมหาวิทยาลัยเอกชน  รัฐยังคงสนับสนุนงบประมาณเช่นเดิมไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด
            ทางด้านผลกระทบต่อนักศึกษา รศ.ดร. ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่าการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐนักศึกษาจะได้รับประโยชน์มากขึ้น
ทั้งนี้เนื่องจากเมื่อเรามีการบริหาร จัดการที่ดีมีประสิทธิภาพ นักศึกษาก็จะได้รับการบริการที่ดีตามไปด้วย ทั้งนี้การเปลี่ยนไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อขึ้นค่าเล่าเรียน
ส่วนการปรับอัตราค่าเล่าเรียนก็จะเหมือที่ได้ปฏิบัติมา นั่นคือปรับตามอัตราเงินเฟ้อ
             ผลกระทบต่อบุคลากร บุคลากรที่เป็นข้าราชการ ซึ่งปัจจุบันมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีข้าราชการอยู่ประมาณสองพันกว่าคน และมีพนักงานอยู่ประมาณสองพันคน ในปีหน้าพนักงาน
ก็จะมีจำนวนมากกว่าข้าราชการ และ ภายในสิบปี ข้าราชการก็จะหมดไปจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพราะไม่มีการรับเพิ่ม ในขณะที่จำนวนพนักงานมหาวิทยาลัยก็จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี
ระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆก็จะเอื้อแก่พนักงานมหาวิทยาลัย เมื่อเราเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ข้าราชการก็มีสิทธิเลือกที่จะยังคงเป็นข้าราชการหรือพนักงาน
             อธิการบดีแจ้งว่าที่ประชุมคณบดีเมื่อเดือนเมษายน 2556 มีมติเห็นชอบกับการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ จากการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ในขณะนี้มหาวิทยาลัยได้มีร่างพรบ.ร่าง 3 แล้ว
หากบุคลากรและนักศึกษามีข้อเสนอแนะก็สามารถเสนอมาได้ หลังจากนี้จะได้นำมาปรับเป็นร่าง 4 แล้วจึงจะนำไปทำประชาพิจารณ์ แล้วออกมาเป็นร่าง 5 แล้วจึงนำเข้าสู่ที่ประชุมคณบดี
และที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย หลังจากนั้นจึงนำเสนอที่ประชุมสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และจึงนำเสนอรัฐสภาเพื่อตราเป็นพระราชบัญญัติต่อไป
            อาจารย์ พิชิต เรืองแสงวัฒนา รองอธิการบดี  ซึ่งดูแลร่าง พรบ.ม.อ.กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารมหาวิทยาลัยจากระบบราชการมาเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับดำเนินการมา
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 โดยเริ่มดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และนำเข้าสู่กระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาคมของมหาวิทยาลัยอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่กระบวนการ
ยกร่างพระราชบัญญัติ ฯ การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้รับทราบ และการเสนอความเห็น  ต่อมาที่ประชุมคณบดี เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2549 มีความเห็นเบื้องต้นว่า ในการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ
ของรัฐ ยังมีความไม่ชัดเจนในการดำเนินงานหลายประเด็น จนเป็นที่ห่วงใยของหลาย ๆ ฝ่าย จึงมีมติให้ชะลอการยืนยันร่างพระราชบัญญัติ ฯ ไว้ก่อน เมื่อมีความชัดเจนจะนำมาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงยังคงค้างการพิจารณาในสภานิติบัญญัติฯ เกือบ 7 ปี จนกระทั่งที่ประชุมคณบดี เมื่อ วันที่ 4 เมษายน 2556 ได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการ
เตรียมการขับเคลื่อนให้มหาวิทยาลัยปรับสถานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ จึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาคม และให้นำความคิดเห็นเหล่านั้นมาพิจารณาในขั้นตอน
การร่างพระราชบัญญัติ และ ข้อบังคับของมหาวิทยาลัย จนกระทั่งปัจจุบันได้มีร่างพรบ.ม.อ.ร่าง 3 มาให้ประชาคมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็น ซึ่งพรบ.ม.อ.
ได้ออกแบบให้บุคลากรมหาวิทยาลัยเป็นพนักงาน สำหรับข้าราชการภายในปีแรกสามารถเปลี่ยนไปเป็นพนักงานได้เลย หากพ้นจาก 1 ปี ก็ต้องมีการประเมินเข้าสู่ตำแหน่ง และข้าราชการ
ที่ทำงานเกิน 10 ปี เมื่อปรับเปลี่ยนมาเป็นพนักงาน ก็จะยังคงได้รับสิทธิและสวัสดิการเหมือนเดิมเนื่องจากเป็นข้าราชการบำนาญ เหตุจากการยุบเลิกระบบบริหารเดิม
            รองอธิการบดีชี้แจงต่อไปว่ามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ 9 แห่ง ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในจำนวนนี้มี 5 แห่งที่ปรับสถานะเป็นมหาวิทยาลัย
ในกำกับฯแล้วคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี  ส่วนที่เหลืออีกจำนวน 4 แห่ง
มีการดำเนินการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับฯ อย่างชัดเจน 3 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ส่วนมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
เป็นมหาวิทยาลัยสุดท้ายที่เริ่มขับเคลื่อนในเรื่องนี้
             รศ.ดร. เกริกชัย ทองหนู รองอธิการบดีฝ่ายระบบสารสนเทศและโครงสร้างกายภาพ คณะทำงานฝ่ายประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็น กล่าวว่าการปรับเปลี่ยนการบริหารจากระบบราชการ
มาเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐจะเป็นการเปิดโอกาสทางการศึกษาเนื่องจากเราสามารถบริหารงบประมาณได้อย่างสะดวกรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และไม่ติดขัดกับระบบราชการที่ออกแบบ
มาให้ใช้กับทุกภาคส่วน ซึ่งในความเป็นจริงแต่ละองค์กรก็มีลักษณะการทำงานที่แตกต่างกันสำหรับการดำเนินการประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็น นั้น รศ.ดร. เกริกชัย ทองหนู แจ้งว่า
มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการสื่อสารกับประชาคมผ่านช่องทางต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นfacebook จดหมายข่าว e-mail  การเดินสายพบปะบุคลากรและนักศึกษา เพื่อการรับฟังความคิดเห็น
   และผู้สนใจยังสามารถดูวีดิโอย้อนหลังได้  ทั้งนี้ในขณะนี้มหาวิทยาลัยได้ร่างพรบ ร่าง 3 แล้ว เมื่อมีการปรับปรุงเป็นร่าง 4 ก็จะนำมาทำประชาพิจารณ์เพื่อระดมความคิดเห็น และปรับเป็นร่าง 5
คาดว่าภายต้นปี 2557 ร่างพระราชบัญญัติ และ ข้อบังคับของมหาวิทยาลัยก็จะแล้วเสร็จ และเข้าสู่กระบวนการตราเป็นกฎหมายต่อไป ทั้งนี้บุคลากร และนักศึกษาสามารถติดตามความคืบหน้า
ของการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ที่ http://psuautonomy.blogspot.com/

                                                                                                                                     
                            งานประชาสัมพันธ์ วิทยาเขตปัตตานี รายงาน
                  *******************************
โดย : * [ วันที่ ]