: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ 1 ฉบับที่ /0 ประจำเดือน 7/ 2556
หัวข้อข่าว : ม.อ.ปัตตานี พร้อมรองรับนักศึกษาต่างชาติ และเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
รายละเอียด :
          ม.อ. ปัตตานี พร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ทั้งการเปิดหลักสูตรนานาชาติ การเปลี่ยนกำหนดเปิดและปิดภาคการศึกษาให้สอดคล้องกับประเทศอาเซียน ในขณะที่นักศึกษาต่างชาติเข้ามาศึกษาต่อมีจำนวนมากขึ้น
         ผศ.ดร. ยุพดี ชัยสุขสันต์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ และวิเทศสัมพันธ์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในการเข้าสู่ประคมอาเซียนว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมในทุก ๆ ด้าน ทั้งด้านโครงสร้างกายภาพ อาคารสถานที่ ระบบสารสนเทศและเทคโนโลยี ด้านการเตรียมความพร้อมในการรับนักศึกษาต่างชาติที่จะมีจำนวนมากขึ้นทุกปี ในเรื่องของการลงทะเบียน ที่พักอาศัย ระบบความปลอดภัย สิ่งอำนวยความสะดวกและความช่วยเหลือที่หลากหลายในรูปของกิจกรรม/โครงการต่าง ๆ อาทิ การจัดสอนภาษาไทยสำหรับการสื่อสารและการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยสำหรับนักศึกษาต่างชาติ การปฐมนิเทศนักศึกษาต่างชาติ การอบรมเจ้าหน้าที่บุคลากรที่เกี่ยวข้องในด้านทักษะภาษาต่างประเทศและการดูแลนักศึกษาต่างชาติ รวมถึงการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. 2558
            ในปีการศึกษา 2556 นี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มีนักศึกษาต่างชาติเข้ามาศึกษาจำนวน 64 คน คิดเป็นร้อยละ 0.63 ของนักศึกษาทั้งหมดของวิทยาเขตปัตตานี  จำนวน 10,114 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีการศึกษา 2555 ที่มีนักศึกษาต่างชาติจำนวน ร้อยละ 0.50 โดยมาศึกษาในระดับปริญญาตรี 49 คน และระดับบัณฑิตศึกษา 15 คน นักศึกษาต่างชาติส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาจากประเทศจีน (36 คน) รองลง มาคือ นักศึกษาจากประเทศกัมพูชา (12 คน) ซึ่งได้รับทุนพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  จากประเทศเวียตนาม (4 คน) เนปาล (4 คน) และกินี (3 คน) นอกจากนี้มีนักศึกษาจากไลบีเรีย ตูนีเซีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และซูดาน ประเทศละ 1 คน โดยนักศึกษาต่างชาติระดับปริญญาตรีเข้าศึกษาที่วิทยาลัยอิสลามศึกษา สาขาวิชาอิสลามศึกษา  27 คน คณะวิทยาการสื่อสาร สาขาวิชานวัตกรรมการออกแบบสื่อและการผลิตสื่อ 9 คน คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 7 คน ในสาขาวิชาเทคโนโลยีการประมง (3 คน) สาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร (2 คน) สาขาวิชาคณิตศาสตร์ประยุกต์ (1 คน) สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการ (1 คน) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  6 คน ในสาขาวิชาการจัดการทรัพยากรมนุษย์และองค์การ (4 คน) สาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา (1 คน) และสาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส (1 คน)  ส่วนนักศึกษาต่างชาติในระดับบัณฑิตศึกษา 15 คน ศึกษาที่วิทยาลัยอิสลามศึกษาสาขาอิสลามศึกษา 4 คน คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 11 คนในสาขาวิชาวิธีวิทยาการวิจัย 4 คน สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการ 2 คน สาขาเทคโนโลยีการประมง 2 คน และสาขาวิชาชีววิทยาประยุกต์ ฟิสิกส์ประยุกต์ คณิตศาสตร์ประยุกต์ สาขาวิชาละ 1 คน จากการจัดกิจกรรมปฐมนิเทศนักศึกษาต่างชาติที่มาศึกษาในวิทยาเขตปัตตานีก่อนการเปิดภาคการศึกษา 1/2556 โดยกองบริการการศึกษาร่วมกับ กองกิจการนักศึกษา วิทยาเขตปัตตานี พบว่านักศึกษาต่างชาติเหล่านี้มีความพอใจในระบบการเรียนการสอนและการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  
          การที่มีนักศึกษาต่างชาติมาศึกษาในวิทยาเขตปัตตานีมากขึ้น แสดงให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยสงขลา นครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีมีความพร้อมในทุกด้านที่จะรองรับนักศึกษาต่างชาติ และพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งทุกคณะและหน่วยงาน ในวิทยาเขตปัตตานีล้วนมีการตื่นตัวในการเตรียมความพร้อมรับนักศึกษาต่างชาติ ได้จัดการเรียนการสอนเป็นภาษาต่างประเทศในหลายรายวิชา มีการจัดทำหลักสูตรหลายรูปแบบที่มีความเป็นนานาชาติทั้งแบบ 2+2 และ double degree และมีเนื้อหาหลักสูตรเป็นความต้องการของผู้ศึกษา มีการจัดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนนักศึกษา (student mobility) กับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ โดยเฉพาะมาเลเซีย อินโดนีเซียและจีนมากขึ้น  มีการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ที่มหาวิทยาลัยเป็นผู้ออกแบบระบบขึ้นใช้เอง โดยขณะนี้วิทยาเขตปัตตานีกำลังดำเนินการจัดทำเวบไซต์ภาษาอังกฤษสำหรับการลงทะเบียนและการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษาต่างชาติ ส่วนนักศึกษาชาวไทยที่เป็นเพื่อนร่วมชั้นก็ต้องมีทักษะการใช้ภาษาต่างประเทศได้เช่นกัน โดยเฉพาะนักศึกษาของวิทยาเขตปัตตานีส่วนใหญ่มีทักษะภาษามลายู ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ในประเทศแถบอาเซียน ขณะนี้วิทยาเขตได้กำลังรณรงค์ โครงการบัณฑิตของวิทยาเขตปัตตานีพูดภาษายาวีและภาษามลายูได้ทุกคน ซึ่งจะทำให้บัณฑิตที่จบจากวิทยาเขตปัตตานีมีความได้เปรียบในการที่สามารถใช้ภาษาได้ถึง 3 ภาษาคือ ไทย อังกฤษ และ มลายูกลาง  นอกจากนี้วิทยาเขตปัตตานีได้ดำเนินการปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค ระบบความปลอดภัย และสวัสดิการ ทั้งที่พักอาศัย การรักษาพยาบาล การให้บริการคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต ในทุกหอพักและทุกอาคาร ให้มีระบบอินเตอร์เน็ตไร้สายบริการครอบคลุมทุกพื้นที่ ในส่วนของสำนักวิทยบริการ ก็ได้จัดหาหนังสือภาษาต่างประเทศให้นักศึกษาได้สืบค้นประกอบการเรียนได้อย่างเพียงพอ รวมถึงการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนในบริบทต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง
        นอกจากนี้ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2557 เป็นต้นไปมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีก็ได้กำหนดปฏิทินการศึกษาให้สอดคล้องกับการเปิดและปิดภาคเรียนของมหาวิทยาลัยในประเทศประชาคมอาเซียน โดยกำหนดเปิดภาคการศึกษาที่ 1 ใน วันที่ 11 สิงหาคม 2557 และปิดภาคเรียนในวันที่ 21 ธันวาคม 2557  และเปิดภาคการศึกษาที่ 2 ในวันที่ 12 มกราคม 2558 ปิดภาคในวันที่ 23 พฤษภาคม 2558  ภาคฤดูร้อนเปิดเรียนในวันที่ 8 มิถุนายน 2558 และปิดการศึกษาภาคฤดูร้อนในวันที่ 1 สิงหาคม 2558
          กิจกรรมที่นอกเหนือจากการเรียนการสอนในห้องเรียนนั้น มหาวิทยาลัยได้รับความร่วมมือจากกองกิจการนักศึกษา ในการนำนักศึกษาต่างชาติเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่คณะหรือมหาวิทยาลัยจัดขึ้น อาทิ กิจกรรมปฐมนิเทศนักศึกษา กิจกรรมรับน้อง กิจกรรมกีฬาสัมพันธ์และกิจกรรมอื่นๆ  มีการนำนักศึกษาไปเข้าค่ายร่วมกิจกรรมกับนักศึกษาต่างประเทศ การส่งนักศึกษาไปอบรม ดูงาน และฝึกงาน ณ ต่างประเทศ ทำให้นักศึกษามีความมั่นใจในการสื่อสารและการใช้ภาษาอังกฤษมากขึ้น และขณะนี้ได้ดำเนินการปรับปรุงอาคารสโมสรบุคลากรเป็น  International student club  เพื่อเป็นศูนย์รวมของนักศึกษาต่างชาติและเป็นที่สำหรับจัดกิจกรรมร่วมกันระหว่างนักศึกษาต่างชาติกับนักศึกษาไทยและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง สำหรับบุคลากรในวิทยาเขตก็ต้องมีความเชี่ยวชาญในภาษาต่างประเทศทั้งภาษาอังกฤษและภาษามลายูในระดับดีด้วยเช่นกัน  ซึ่งวิทยาเขตปัตตานีก็ได้ดำเนินการพัฒนาบุคลากรให้สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้มากขึ้น โดยจัดอบรมภาษาอังกฤษแก่บุคลากรสายสนับสนุนเป็นระยะ รวมถึงกิจกรรมอย่างต่อเนื่องในการอบรมเจ้าหน้าที่วิเทศสัมพันธ์ของคณะ/หน่วยงานเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจและมีทักษะในด้านการบริหารจัดการดูแลนักศึกษาต่างชาติและผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศต่าง ๆ
                  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี เป็นสังคมพหุวัฒนธรรม มีนักศึกษาที่มีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม และภาษา และจากการที่มีพื้นที่ติดต่อและเป็นประตูสู่ประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และนักศึกษามีความได้เปรียบทางด้านภาษาไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ หรือภาษามลายู  มหาวิทยาลัยมีโครงการส่งเสริมให้บัณฑิตของวิทยาเขตปัตตานี พูดภาษาอังกฤษ และพูดภาษามลายูได้ทุกคน จึงมีความพร้อมอย่างสูงที่จะเปิดรับนักศึกษาจากนานาชาติ และการส่งเสริมให้นักศึกษาของมหาวิทยาลัยไปอบรม ฝึกงาน และศึกษาต่อ ณ ต่างประเทศมากขึ้นทุกปี
                                         ******************************************
         
         
         
โดย : * [ วันที่ ]