: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ 6 ฉบับที่ /0 ประจำเดือน 9/ 2555
หัวข้อข่าว : สำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง เปิดตัวรายการวิทยุเสียงจากผู้หญิงชายแดนใต้ภาคภาษามลายู
รายละเอียด :
                   พันตำรวจเอกทวี  สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้  เป็นประธานเปิดตัวรายการวิทยุเสียงจากผู้หญิงชายแดนใต้ภาคภาษามลายู ในโครงการผู้หญิงภาคประชาสังคม  เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2555 เน้นการนำเสียงของผู้หญิงที่ก้าวข้ามจากการเป็นเหยื่อของสถานการณ์ความรุนแรงมาสู่การเป็นผู้หญิงภาคประชาสังคมที่ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบและพลังขับเคลื่อนการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาสถานการณ์จังหวัด  ชายแดนภาคใต้  กิจกรรมประกอบด้วยการปาฐกถาเรื่องศักยภาพผู้หญิงและวิทยุในชุมชนท้องถิ่นชายแดนใต้กับการสื่อสารเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยคุณสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ   การเสวนาแลกเปลี่ยนเรื่องศักยภาพ ข้อจำกัดและการสร้างความร่วมมือของสื่อวิทยุในชุมชนท้องถิ่นชายแดนใต้ในการจัดทำรายการวิทยุเพื่อแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้  โดยตัวแทนจากสถานีวิทยุหลัก สถานีวิทยุสถาบันการศึกษา  สถานีวิทยุชุมชน และแกนนำเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม ดำเนินรายการโดย คุณนวลน้อย ธรรมเสถียร
                   อาจารย์สมศักดิ์  เหล่าเจริญสุข  ประธานกรรมการอำนวยการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  กล่าวว่า  รายการวิทยุเสียงจากผู้หญิงชายแดนใต้ภาคภาษามลายู  ดำเนินการภายใต้โครงการการสร้างความมั่นคงด้านอาหารและอาชีพ ซึ่งได้รับงบประมาณจากสหภาพยุโรป และอ๊อกแฟม  ดำเนินการโดยฝ่ายส่งเสริมและเผยแพร่ สำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  เป็นองค์กรหนุนเสริมให้เกิดการขับเคลื่อนร่วมกับเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2553-2555 มีกิจกรรมพัฒนาผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และแกนนำผู้หญิงจากชุมชนและองค์กรภาคประชาสังคม มีผลการดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจ เกิดองค์ความรู้จากการทำงานถ่ายทอดไปยังชุมชนและกลุ่มนักวิชาการ เป็นสิ่งบ่งชี้ถึงการปฏิบัติงานที่มีกระบวนการจัดการความรู้  อีกก้าวของการเข้าถึงชุมชนท้องถิ่นกับรายการวิทยุเสียงจากผู้หญิงชายแดนใต้ภาคภาษามลายู  เพื่อชี้ให้เห็นพัฒนาการของการขับเคลื่อนงานด้านสื่อสารสาธารณะของเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมที่เป็นไปด้วยความรวดเร็วจากเดิมที่จัดรายการเป็นภาคภาษาไทยเท่านั้น ซึ่งจะทำให้รายการและสิ่งที่จะสื่อสารเข้าไปถึงคนในชุมชนระดับรากหญ้าที่สื่อสารด้วยภาษามลายูถิ่นได้มากยิ่งขึ้น          ภายใต้สถานการณ์ความรุนแรงที่เราต้องการการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อช่วยแก้ปัญหานั้น เสียงของคนชายขอบที่เป็นผู้หญิง นับเป็นเสียงสะท้อนที่ต้องรับฟังและควรเปิดพื้นที่ให้กับพวกเขาเหล่านั้น
                   นางโซรยา  จามจุรี  หัวหน้าโครงการผู้หญิงภาคประชาสังคม สำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  กล่าวว่า  รายการวิทยุเสียงจากผู้หญิงชายแดนใต้  เป็นรายการที่สื่อสารผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้  มาสู่การเป็นผู้หญิงภาคประชาสังคมที่ให้การช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบรายอื่นๆ และยังเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาและแนวทางการแก้ปัญหาที่เผชิญภายใต้สถานการณ์ความยากลำบากและความรุนแรงที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องกว่า 7 ปี   สำหรับวิทยุเสียงจากผู้หญิงชายแดนใต้ภาคภาษามลายู  กำหนดออกอากาศเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2555 เป็นต้นไป ในสถานีวิทยุ 14 จังหวัดภาคใต้ รวม   47 ตอน  ทุกวันจันทร์-ศุกร์  ความโดดเด่นของรายการนอกเหนือจากการนำเสนอสาระเนื้อหาที่สะท้อนเสียงสำคัญในพื้นที่ที่ขาดหายไปจากการรับรู้ผู้คนแล้ว ยังได้กำหนดให้กระบวนการจัดทำรายการในทุกขั้นตอน เป็นแบบมีส่วนร่วมโดยผู้หญิงจากเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้  ซึ่งเป็นคณะผู้จัดตั้งแต่ขั้นตอนการกำหนดเนื้อหา รูปแบบการนำเสนอ กระบวนการผลิต การเขียนบทวิทยุ การดำเนินรายการ การตัดต่อเสียงให้ออกมาเป็นรายการที่สมบูรณ์ รวมถึงขั้นตอนการประเมินผลการออกอากาศ  
                 “ความโดดเด่นอีกประการหนึ่งของรายการมีที่มาจากคุณสมบัติเฉพาะตัวของผู้จัดรายการคือการมีเรื่องอยู่ในตัวและความสามารถในการเล่าเรื่อง ผ่านรายการให้ผู้ฟังรู้สึกเข้าอก เข้าใจ แม้กระทั่งชื่นชมในความเข้มแข็งของผู้หญิงที่เคยเป็นเหยื่อ และพลิกผันตัวเองเป็นผู้ช่วยเหลือ  และการมีจิตสาธารณะของผู้หญิงภาคประชาสังคมที่ยังคงทำหน้าที่เพื่อชุมชนภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้ง  วิกฤติในครั้งนี้อาจเป็นโอกาส หากผู้หญิงในเครือข่ายสามารถแปรเสียงของตนและพื้นที่ ที่ทำให้เกิดการก้าวข้ามทางศาสนา ชาติพันธ์และวัฒนธรรมของคนในประเทศ นำไปสู่การเข้าอก เข้าใจในความต่าง และเห็นอกเห็นใจในฐานะเพื่อนมนุษย์อันเป็นพื้นฐานสำคัญของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของคนในชาติ” นางโซรยา  จามจุรี  กล่าวเพิ่มเติม
โดย : * [ วันที่ ]