: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ 6 ฉบับที่ /0 ประจำเดือน 9/ 2555
หัวข้อข่าว : เปิดเวทีสัมมนาแนวทางการพัฒนาระบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของคณะกรรมการอิสลาม ประจำ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ ม.อ.ปัตตานี
รายละเอียด :
                 พันตำรวจเอกทวี  สอดส่อง  เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประธานเปิดการสัมมนาทางวิชาการ  เรื่อง ระบบไกล่เกลี่ยข้อพิพาทครอบครัวมรดกอิสลาม : ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางเลือกในสังคมไทย  เมื่อวันที่ 16  มิถุนายน  2555  ณ หอประชุมอีหม่ามนาวาวี อาคารวิทยอิสลามนานาชาติ จัดโดยวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี   โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาระบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเฉพาะเรื่องครอบครัวและมรดกตามหลักศาสนาอิสลาม            โดยมี ผศ.สมปอง ทองผ่อง รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมสัมมนา
                  การสัมมนาประกอบด้วย ปาถกฐาพิเศษ เรื่อง บทบาทขององค์กรศาสนาและวัฒนธรรมกับกระบวนการยุติธรรมทางเลือก โดยนายอาศิส   พิทักษ์คุมพล   จุฬาราชมนตรี   การอภิปรายทางวิชาการ เรื่อง ระบบไกล่เกลี่ยข้อพิพาทครอบครัวมรดกอิสลาม : ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางเลือกในสังคมไทย  โดยนายชาญเชาว์  ไชยานุกิจ    รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ดะโต๊ะอับดุลลอฮฺ  ดาโอ๊ะ   ผู้แทนดะโต๊ะยุติธรรม   ดร.มะรอนิง  สาแลมิง  ผู้แทนนักวิชาการ   ผศ.ดร.วรวิทย์  บารู สมาชิกวุฒิสภา  ดร.มูฮัมหมัดกาแม  แวมูซอ      ผู้แทน กกอ.ประจำจังหวัด  
อีหม่ามเชาวลิต  พินธ์สุวรรณ    ผู้แทนอีหม่ามประจำมัสยิด  ดำเนินการอภิปรายโดย อาจารย์สุทธิศักดิ์  ดือเร๊ะ      
                   ผศ.สมปอง ทองผ่อง รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  กล่าวว่า  การสัมมนาในครั้งนี้เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  ส่วนนโยบายและยุทธศาสตร์จังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้พยายามสร้างสรรค์เพื่อร่วมพัฒนาศักยภาพระบบไกล่เกลี่ยข้อพิพาทครอบครัว มรดกอิสลาม ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางเลือกในสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้โดดเด่นสามารถเผชิญกับความท้าทายในหลากหลายรูปแบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ  จะเห็นว่าการไกล่เกลี่ยประนีประนอม ถิอเป็นการระงับข้อพิพาทที่เป็นการอำนวยความยุติธรรมวิธีหนึ่งที่มีบทบาทที่สำคัญในการสร้างความเป็นธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากองค์หลักทางศาสนาอิสลามในพื้นที่คือ คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้นำมาใช้ในการอำนวยการความยุติธรรมกรณีพิพาทเรื่องครอบครัวและมรดก ตามขอบเขตอำนาจแห่ง พ.ร.บ.การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 ให้การรับรอง เพื่อที่สามารถขับเคลื่อนพัฒนาเพิ่มศักยภาพให้กับระบบไกล่เกลี่ยข้อพิพาทครอบครัวมรดกอิสลามต่อไปในอนาคต
                     นายอาศิส   พิทักษ์คุมพล   จุฬาราชมนตรี   ปาฐกถาพิเศษเรื่องบทบาทของศาสนาและวัฒนธรรมกับกระบวนการยุติธรรมทางเลือก ความตอนหนึ่งว่า  ความยุติธรรมตามหลักการอิสลามถือเป็นเป้าหมายที่ต้องบรรลุโดยใช้วิธีการและรูปแบบที่หลากหลายและยืดหยุ่นตามบริบทที่เหมาะสม วิธีการเหล่านั้นได้แก่ กระบวนการพิจารณาคดี อนุญาโตตุลาการ  การไกล่เกลี่ยประนีประนอมและกระบวนการภาคประชาอาสาและมีรูปแบบทั้งการใช้กระบวนการอำนวยความยุติธรรมโดยภาครัฐและภาคประชาชน    ดังนั้นการการไกล่เกลี่ยประนีประนอม ถือเป็นวิธีการอำนวยความยุติธรรมหนึ่งที่มีบทบาทที่สำคัญในการสร้างความเป็นธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดรวมถึงคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นองค์กรหลักทางศาสนาอิสลามในพื้นที่ได้นำมาใช้ในการอำนวยความยุติธรรม แต่ยังคงประสบปัญหาและอุปสรรคข้อจำกัดทั้งในด้านกฎหมาย บุคลากร สถานที่ เอกสาร งบประมาณและอื่นๆ  ด้วยเหตุดังกล่าวจึงถือเป็นภาระหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่จะต้องให้การสนับสนุนและปรับปรุงพัฒนาการทำหน้าที่ของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดชายแดนใต้ ทั้งในด้านระบบและกลไกต่างๆรวมทั้งการสนับสนุนด้านวิชาการ เพื่อให้คณะกรรมการเหล่านั้นสามารถอำนวยความยุติธรรมแก่ชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สมดังเจตนารมณืแห่งบทบัญญัติศาสนาอิสลามและกฎหมายของรัฐดังที่ได้กล่าว
            ดร.มะรอนิง  สาแลมิง  หัวหน้าโครงการวิจัยเรื่อง การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทครอบครัว และมรดกตามบทบัญญัติแห่งศาสนาอิสลามในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  เปิดเผยว่า   กฏหมายดิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกได้มีการนำมาใช้ในกระบวนการยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยดะโต๊ะยุติธรรมในศาลประจำจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาสและสตูล มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดก ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล พ.ศ.2489  บางกรณีดำเนินการไปในลักษณะการไกล่เกลี่ย หรือลักษณะอนุญาโตตุลาการ หรือลักษณะการตัดสินหรือพิพากษา ซึ่งแนวทางการดำเนินการดังกล่าว มีขั้นตอน วิธีการและระบบการไกล่เกลี่ยที่ไม่ชัดเจน  อีกทั้งในปัจจุบันประเทศไทยตระหนักถึงความสำคัญของการอำนวยความยุติธรรมตามหลักศาสนาอิสลามตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนากระบวนการยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553-2557 ทั้งนี้ในเชิงวิชาการนั้นยังไม่พบการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามบทบัญญัติศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาก่อน  จากความสำคัญดังกล่าวจึงได้มีการศึกษาวิจัยไกล่เกลี่ยข้อพิพาทว่าด้วยเรื่องครอบครัวและมรดกตามบทบัญญัติแห่งศาสนาอิสลามในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  เพื่อพัฒนาการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทว่าด้วยเรื่องครอบครัว และมรดกตามบทบัญญัติแห่งศาสนาอิสลามให้สามารถอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในทางปฏิบัติ
             ดร.มะรอนิง  สาแลมิง   เปิดเผยผลการวิจัยไกล่เกลี่ยข้อพิพาทว่าด้วยเรื่องครอบครัวและมรดกตามบทบัญญัติแห่งศาสนาอิสลามในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  พบว่า ระบบ กลไก กระบวนการ ขั้นตอนการไกล่เกลี่ยในระดับมัสยิด มีความเหมือน และแตกต่างบ้าง ส่วนการไกล่เกลี่ยในระดับคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมีหลากหลายรูปแบบ ปัญหาและอุปสรรคการไกล่เกลี่ยระดับมัสยิด และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด มีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน โดยมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน รูปแบบการประนีประนอมของสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดเน้นการไกล่เกลี่ย ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมีทั้งในลักษณะการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท อนุญาโตตุลาการ และการพิพากษา แนวทางการพัฒนาการไกล่เกลี่ยมีทั้งในด้านกลไก ประกอบด้วยกฎหมาย บุคลากร งบประมาณ คู่มือ ข้อมูลสารสนเทศ เอกสารและแบบฟอร์มต่าง ๆ ส่วนในขั้นตอน หรือกระบวนการไกล่เกลี่ยมีทั้งในระดับมัสยิด และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด กรณีศึกษาการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีความครอบครัวอิสลามในมาเลเซียและสิงคโปร์ ศึกษาเชิงเปรียบเทียบ พบว่า มีความแตกต่างในเชิงโครงสร้างและระบบ แต่มีความคล้ายคลึงกันในวิธีปฏิบัติในบางเรื่อง สำหรับข้อเสนอแนะในการนำผลการวิจัยไปใช้ประกอบด้วย 1) แนวทางการไกล่เกลี่ยนี้สามารถนำไปศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพการไกล่เกลี่ยในสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดอื่น ๆ ของประเทศไทย 2) ประชาสัมพันธ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเพื่อให้เห็นเป็นแนวทางเดียวกัน และการให้ความสำคัญและการปรับโครงสร้างการทำงานด้านการไกล่เกลี่ย
โดย : * [ วันที่ ]