: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ 6 ฉบับที่ /0 ประจำเดือน 9/ 2555
หัวข้อข่าว : ม.อ. ปัตตานี ลงเกาะบุโหลน วางรากฐาน “การพัฒนาชุมชนโดยชุมชน”
รายละเอียด :
               มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  ลงพื้นที่ศึกษาและจัดกิจกรรมเพื่อสร้างศักยภาพการพัฒนาชุมชน เกาะบุโหลนดอนและเกาะบุโหลนเล จังหวัดสตูล โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน หนึ่งในโครงการพัฒนาเกาะบุโหลนตามพระราชดำริ ประจำปี 2555 ดำเนินการภายใต้ความร่วมมือระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนากับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และการพัฒนาตามนโยบายหนึ่งมหาวิทยาลัยหนึ่งจังหวัดของรัฐบาล โดยการจัดเวทีระดมความคิด สร้างแผนพัฒนาชุมชน สร้างโอกาสให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมเพื่อทำความเข้าใจและเข้าถึงชุมชนอย่างแท้จริง
                รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี หัวหน้าโครงการ เปิดเผยว่า เกาะบุโหลน จังหวัดสตูลเป็นชุมชนชาวประมงพื้นบ้าน มีแหล่งทำการประมงอยู่บริเวณรอบๆเกาะ หรือห่างออกไปไม่ไกลมากนัก สามารถทำการประมงได้ตลอดทั้งปี ซึ่งมีสภาพโดยรวมไม่แตกต่างกับชุมชนประมงในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ แต่สิ่งที่ส่งผลให้เกาะบุโหลนมีการพัฒนาทางด้านต่างๆ ได้ยาก คือการมีพื้นที่เป็นเกาะซึ่งห่างไกลจากแผ่นดินใหญ่ บุคคลภายนอกสามารถเข้าถึงเกาะได้เพียงในบางฤดูกาลเท่านั้น จึงต้องใช้หลักการพัฒนาพื้นที่ในรูปแบบใหม่ คือการใช้กระบวนการวิเคราะห์ประสบการณ์ ความคิดเห็น และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาชุมชน ทั้งที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลว การศึกษาความต้องการของชาวบ้าน และนำความคิดเห็นดังกล่าวมาใช้วางแผนจัดกิจกรรมพัฒนาชุมชน รวมทั้งการแสวงหาและพัฒนาศักยภาพผู้นำชุมชน เพื่อการมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนในอนาคต โดยเน้นการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง และมีระบบการประกันคุณภาพในทุกขั้นตอน อาศัยความร่วมมือจากหลายๆ ภาคส่วน โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างจริงจัง
                กิจกรรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการพัฒนาชุมชนของชาวบ้านเกาะบุโหลนที่คณะผู้ร่วมโครงการและชาวบ้านร่วมกันดำเนินการ ประกอบด้วย การจัดประชุมผู้นำชุมชน แกนนำกลุ่ม รวมถึงเยาวชนเพื่อร่วมกันกำหนดรูปแบบการพัฒนาชุมชน การสร้างเวทีพูดคุยปรับความคิดเพื่อรองรับการพัฒนา การปรับปรุงสถานที่พบปะเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพชุมชน การจัดการแข่งขันกีฬาเพื่อสร้างความสัมพันธ์ของคนในชุมชน การพัฒนาและปรับปรุงภูมิทัศน์ การจัดกิจกรรมเนื่องในวันสำคัญต่าง ๆ ตามประเพณีของคนในชุมชน การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรที่มีบทบาทในชุมชน ได้แก่ บ้าน โรงเรียน มัสยิด ตลอดจนการคัดเลือกกลุ่มแกนนำพัฒนาชุมชนและการพัฒนาศักยภาพกลุ่มแกนนำ เพื่อจัดทำแผนพัฒนาชุมชนในอนาคต โดยที่ชุมชนจะเป็นผู้บริหารจัดการโครงการด้วยตนเอง
                 รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม ยังกล่าวอีกว่า การสร้างกระบวนการเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมให้เกิดขึ้นในชุมชนเกาะบุโหลนอย่างแท้จริงนั้น จำเป็นต้องบูรณาการทั้งทางด้านประเด็นงานและหน่วยงานเข้าไปอำนวยการปฏิบัติงานในพื้นที่ โดยให้ชาวบ้านเกาะบุโหลนเป็นผู้กำหนดรูปแบบ วางแผนและปฏิบัติงานต่างๆ ด้วยตนเอง โดยหลักการสำคัญทางด้านเนื้องานหรือประเด็นที่จะได้รับการพัฒนาในระยะต่อไปนั้น ควรประกอบด้วย การบูรณาการเพื่อสร้างจิตสำนึกสาธารณะ ที่จะเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิตของชาวเกาะบุโหลนอย่างมีคุณภาพ คงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ดั้งเดิม รวมทั้งการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทั้งบนบกและในท้องทะเล การสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อความยั่งยืนในการประกอบอาชีพ การสร้างระบบสหกรณ์เครือข่าย และการสร้างสภาพภูมินิเวศที่เหมาะสมให้แก่หมู่บ้าน การจัดกิจกรรมที่มีเป้าหมายเพื่อให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้มากที่สุด
โดย : * [ วันที่ ]