: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ 3 ฉบับที่ /0 ประจำเดือน 3/ 2555
หัวข้อข่าว : ม.อ.ปัตตานี นำงานวิจัยถ่ายทอดสู่ชุมชน สร้างยางปูสระเก็บกักน้ำให้แก่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ที่ ๔๐ จังหวัดปัตตานี และอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่เกาะบุโหลน จังหวัดสตูล
รายละเอียด :
               คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  ถ่ายทอดเทคโนโลยีจากงานวิจัยสู่ชุมชน  
นำยางพารามาใช้ประโยชน์ในการทำผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องต่อความต้องการของชุมชน โดยสร้างสระเก็บกักน้ำเพื่อเลี้ยงปลาเป็นอาหารกลางวัน
ให้กับโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ที่  ๔๐ จังหวัดปัตตานี และโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่เกาะบุโหลน จังหวัดสตูล
         รองศาสตราจารย์ ดร.เจริญ  นาคะสรรค์   คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ชี้แจงว่า  ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้ง
และน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี ซึ่งส่งผลต่อภาคเกษตรกรรมเป็นอย่างมาก  เกษตรกรจึงแก้ไขปัญหาโดยการขุดบ่อเก็บกักน้ำ แต่ปัญหาที่ตามมาคือ
การสูญเสียน้ำจากการซึมลงไปในชั้นดิน เนื่องจากดินไม่สามารถอุ้มน้ำไว้ได้  ซึ่งทั้งในประเทศหรือต่างประเทศจะแก้ปัญหาโดยการปูวัสดุกันซึมของน้ำโดยใช้
แผ่นพลาสติกหรือยางสังเคราะห์เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งวัสดุทั้งสองชนิดมีข้อดี ข้อเสียที่แตกต่างกัน เช่น อายุการใช้งาน ต้นทุนการผลิต เป็นต้น  
ดังนั้นคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จึงได้ศึกษาการนำยางธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ในการสร้างยางปูสระ
          สำหรับกระบวนการผลิตจะใช้การพ่นน้ำยางข้นผสมสารเคมีลงไปบนวัสดุเสริมแรงที่ปูลงไปบนพื้นที่ที่ขุดเป็นสระเก็บกักน้ำ ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้
ในการเก็บกักน้ำในภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตรได้เป็นอย่างดี การใช้ยางพาราปูสระเก็บกักน้ำเพื่อเลี้ยงปลาเป็นอาหารกลางวันให้กับโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ที่๔๐
จังหวัดปัตตานีซึ่งอยู่ในพื้นที่ ต.รูสะมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2555 นับเป็นการบริการวิชาการสู่ชุมชนในเขตพื้นที่ใกล้มหาวิทยาลัย  แล้วยังจะใช้เป็นสระตัวอย่าง
เพื่อการสาธิตในการขยายผลสู่การทำยางปูสระน้ำในพื้นที่อื่นๆของประเทศต่อไป  ซึ่งคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
วิทยาเขตปัตตานี  มีความภาคภูมิใจในเทคโนโลยีด้านยางพาราที่มีประสบการณ์และองค์ความรู้ที่ตกผลึกแล้ว และเกิดประโยชน์มากมายในวงการวิชาการ
ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณชุมชนรูสะมิแล และโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ที่ ๔๐ ที่ให้โอกาสมหาวิทยาลัยได้แสดงบทบาทการบริการวิชาการสู่ชุมชน ขอบคุณ
เครือข่าย สหวิทยาการแห่งราชบัณฑิตยสถานภาคใต้ที่ให้การสนับสนุนงบประมาณ รวมทั้งขอขอบคุณคณะทำงานจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่
ร่วมแรงร่วมใจทำให้โครงการดังกล่าวสำเร็จไปด้วยดี
         รองศาสตราจารย์อาซีซัน  แกสมาน ผู้รับผิดชอบโครงการวิจัย  การใช้ยางพาราปูสระเก็บกักน้ำ เปิดเผยว่า โครงการนี้ มีผู้ร่วมรับผิดชอบโครงการ
5 ท่าน ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.เจริญ  นาคะสรรค์   คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อดิศัย รุ่งวิชานิวัฒน์  รองศาสตราจารย์
ดร.ซุกรี หะยีสาแม นายสมคิด ศรีสุวรรณ  และนายหามะ สุหลง  โดยได้แนวคิดว่า ปีที่ผ่านมา เกิดปัญหาน้ำท้วมสร้างความเสียหายให้กับประเทศเป็นมูลค่า
หลายล้านบาท ซึ่งเป็นภัยธรรมชาติที่เกินกว่ามนุษย์จะคาดเดาได้ บางปีแห้งแล้ง บางปีน้ำมากเกินความต้องการ ถ้าการจัดการไม่ดีก็จะกลายเป็นปัญหาใหญ่
จึงคาดหวังว่าโครงการใช้ยางพาราปูสระเก็บกักน้ำ จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว  และเป็นการนำงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมาถ่ายทอดสู้ชุมชน  
ทั้งนี้โครงการวิจัยนี้ได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย    และสำนักงานประสานงานวิจัยอุตสาหกรรมและชุมชน (CILO-ซีโล่) ให้ทุนสนับสนุน
ด้านการทำโครงการฯ ซึ่งการทดลองทำสระกักเก็บน้ำที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ที่  ๔๐ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่จะขยายไปสู่ชุมชนอื่นๆ  
         ทั้งนี้มหาวิทยาลัยได้นำพันธุ์ปลาจำนวนหนึ่งมาปล่อยในสระให้นักเรียนเลี้ยงและดูแล เพื่อสามารถเป็นอาหารกลางวันแก่นักเรียนในโรงเรียน  
นอกจากนี้คณะวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  ยังมีโครงการสร้างสระเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ที่เกาะบุโหลน      
จ.สตูล เพื่อเป็นแหล่งน้ำจืดให้ผู้คนในเกาะได้ใช้อย่างยั่งยืนต่อไป .

                       ************************************************

โดย : * [ วันที่ ]