: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ฉบับที่ 05 ประจำเดือน 02 2554
หัวข้อข่าว : นักศึกษา ม.อ. ปัตตานี ได้รางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศผลงานวิชาการจากมหาวิทยาลัยนราธิวาส ราชนครินทร์
รายละเอียด :
         นักศึกษาวิชาเอกจิตวิทยาการปรึกษาและการแนะแนว ชั้นปีที่ ๓ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัย
สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้รับรางวัลชนะเลิศจากผลงานวิจัยความวิตกกังวลของนักศึกษา
คณะศึกษาศาสตร์  ชั้นปีที่  ๑  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  และรางวัลรองชนะเลิศ
จากผลงานวิจัยการศึกษาพฤติกรรมก้าวร้าวของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาของโรงเรียนเทศบาล  
อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี  ในงาน  “ศวชต.มนร. วิชาการ  ประจำปี  ๒๕๕๓”  ของมหาวิทยาลัย
นราธิวาสราชนครินทร์  เมื่อวันที่  ๘  ธันวาคม  ๒๕๕๓
         นางสาวรออานี  เจ๊ะอุเซ็ง  ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศจากผลงานวิจัยความวิตกกังวลของนักศึกษา
คณะศึกษาศาสตร์  ชั้นปีที่  ๑  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  ในงาน  “ศวชต.
มนร. วิชาการ  ประจำปี ๒๕๕๓” กล่าวว่า โครงการศึกษาวิจัยเรื่องความวิตกกังวลของนักศึกษา
คณะศึกษาศาสตร์ ชั้นปีที่ ๑ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  เป็นกระบวนการศึกษา
วิจัยของนักศึกษาชั้นปีที่ ๓ วิชาเอกจิตวิทยาการปรึกษาและการแนะแนว  ภาควิชาจิตวิทยาและ
การแนะแนว  คณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  เป็นการศึกษา
ความวิตกกังวลและวิธีลดความวิตกกังวลของนักศึกษาชั้นปีที่ ๑ คณะศึกษาศาสตร์  ที่มีต่อสถานการณ์
จังหวัดชายแดนภาคใต้  คณะผู้วิจัยประกอบด้วยนางสาวรออานี  เจ๊ะอุเซ็ง  นางสาวกัลยารัตน์  แก้วอินทร์  
นางสาวรอบียา  บูแม  นางสาวพาตีเมาะ  มะสาแม็งและนางสาววันใหม่  หวั่นร้าหมาน  โดยใช้กลุ่ม
ตัวอย่าง  จำนวน  ๒๒๒  คน
         จากการศึกษาพบว่านักศึกษาส่วนใหญ่มีความวิตกกังวลอยู่ในระดับปานกลาง  โดยนักศึกษาหญิง
มีความวิตกกังวลมากกว่านักศึกษาชาย และนักศึกษาที่มีสาขาวิชาเอกแตกต่างกัน มีความวิตก
กังวลแตกต่างกัน โดยเฉพาะนักศึกษาชั้นปีที่  ๑  สาขาวิชาเอกจิตวิทยาและเทคโนโลยีการศึกษา  
มีความวิตกกังวลสูงกว่าสาขาวิชาอื่น  ๆ  นักศึกษาส่วนใหญ่มีความวิตกกังวลเรื่องการศึกษา  
คิดเป็นร้อยละ  ๖๗.๓๔  รองลงมาคือปัญหาครอบครัว ส่วนปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบ
ในพื้นที่นั้น นักศึกษาส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ  ๕๓.๒๐  ระบุว่าไม่ได้รับผลกระทบต่อการศึกษา  
และร้อยละ  ๒๕.๒๐  คิดว่าปัญหาดังกล่าวมีผลกระทบ  จากความวิตกกังวลดังกล่าว  นักศึกษาส่วนใหญ่
ใช้วิธีการแก้ปัญหาโดยการทำความเข้าใจปัญหาและหาทางออกด้วยตนเอง  รองลงมาปรึกษา
คนในครอบครัว  เพื่อน  อ่านคัมภีร์อัลกุรอ่าน  และออกกำลังกาย
         คณะศึกษาวิจัยดังกล่าวมีการนำเสนอข้อเสนอแนะ  โดยนักศึกษาส่วนใหญ่มีความวิตกกังวล
อยู่ในระดับปานกลาง  นักศึกษาส่วนใหญ่มีความวิตกกังวลเรื่องการศึกษามากกว่า ซึ่งนักศึกษา
จะหาวิธีแก้ปัญหาด้วยตนเอง  แม้ว่าความวิตกกังวลระดับปานกลางจะมีผลต่อความสำเร็จทาง
การศึกษา  แต่เพื่อไม่ให้มีแนวโน้มความวิตกกังวลมากขึ้น  ผู้ที่เกี่ยวข้องได้แก่  อาจารย์ที่ปรึกษา  
อาจารย์ผู้สอน  เจ้าหน้าที่  รวมทั้งผู้ปกครอง  ต้องคอยระวังดูแลนักศึกษาอย่างใกล้ชิด  โดยเฉพาะ
นักศึกษาหญิงและนักศึกษาที่มีสาขาวิชาเอกที่นักศึกษารู้สึกว่าเรียนยากเป็นกรณีพิเศษ  และ
ควรศึกษาวิธีลดความวิตกกังวลที่หลากหลาย  เพื่อเป็นทางเลือกในการแก้ปัญหาสำหรับ
นักศึกษาชั้นปีที่  ๑  ต่อไป
         นางสาวซาลีฮะห์  สาและ  ผู้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศจากผลงานวิจัยการศึกษาพฤติกรรม
ก้าวร้าวของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาของโรงเรียนเทศบาล  อำเภอเมือง  จังหวัดปัตตานี  
ในงาน  “ศวชต.มนร. วิชาการ  ประจำปี  ๒๕๕๓”  กล่าวว่า  การศึกษาวิจัยเรื่องการศึกษาพฤติกรรม
ก้าวร้าวของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาของโรงเรียนเทศบาล  อำเภอเมือง  จังหวัดปัตตานี  
เป็นการศึกษาระดับพฤติกรรมก้าวร้าวของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาในเขตเทศบาล  อำเภอเมือง  
จังหวัดปัตตานี  คณะผู้วิจัยประกอบด้วยนางสาวซาลีฮะห์  สาและ  นางสาวนาซูฮา  อีแต  นางสาวนูรียะ  
เจะหะ  นางสาวฟาดีละ  แวดราแม  นางสาวอรวรรณ  ฮะ  และนางสาวฮาปีซะห์  มามะ  นักศึกษา
ชั้นปีที่  ๓  วิชาเอกจิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว  ภาควิชาจิตวิทยาและการแนะแนว  คณะ
ศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  โดยกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด  
๑๕๐  คน  ศึกษาวิจัยแบบวัดพฤติกรรมก้าวร้าวตามแนวคิด
ของแบนดูรา
         ผลการวิจัยพบว่า  นักเรียนส่วนใหญ่มีระดับพฤติกรรมก้าวร้าวอยู่ในระดับปานกลาง  นักเรียนที่
เพศและศาสนาแตกต่างกัน  มีระดับคะแนนพฤติกรรมก้าวร้าวแตกต่างกัน  ส่วนนักเรียนที่มีอายุ  
ระดับชั้นเรียน  เกรดเฉลี่ย ภูมิลำเนา การอยู่อาศัย รายได้เฉลี่ย และสถานภาพของ
บิดามารดาแตกต่างกัน  มีระดับคะแนนพฤติกรรมก้าวร้าวไม่แตกต่างกัน  จากการที่นักเรียน
ส่วนใหญ่มีพฤติกรรมก้าวร้าวอยู่ในระดับปานกลางและอาจจะมีแนวโน้มสูงขึ้น  หากไม่ได้รับ
การป้องกันและแก้ปัญหาดังกล่าว  ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะผู้ปกครองและครู  ควรดูแลเอาใจใส่
ต่อบุตรหลานและลูกศิษย์  โดยเฉพาะนักเรียนชาย  อาจเปิดโอกาสให้นักเรียนชายเหล่านั้น
ได้แสดงออกตามความรู้ความสามารถตามที่สังคมยอมรับ  เช่น  จัดประกวดวงดนตรี  ร้องเพลง
การแข่งขันฟุตบอลนักเรียนมัธยมในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้  ตลอดจนส่งเสริมถึงระดับภูมิภาค
และประเทศต่อไป
         นอกจากนี้ครูและผู้ปกครองควรดูแลเอาใจใส่ให้มากขึ้น  สร้างความเข้าใจระหว่างนักเรียน
กับครู  ลูกกับพ่อแม่ผู้ปกครองกันมากขึ้น  เพื่อเป็นที่ปรึกษาชีวิตให้กับนักเรียนชายเหล่านั้น  
ตลอดจนส่งเสริมนักเรียนตามความถนัดและความสามารถ  แสดงความชื่นชมเพื่อให้เด็กเห็น
คุณค่าของตน  คาดว่าจะช่วยลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อการมีพฤติกรรมก้าวร้าว  และยังป้องกันไม่ให้
เข้าไปเกี่ยวข้องกับปัญหาอื่น  ๆ  ได้อีกด้วย  นอกจากนี้ควรศึกษาโปรแกรมการลดพฤติกรรม
ก้าวร้าวของนักเรียนตามความเหมาะสมกับบริบทของนักเรียนในพื้นที่  โดยพิจารณาถึงความ
แตกต่างของตัวแปร  เพศ  และศาสนาของนักเรียน

                                      ************************************
โดย : * [ วันที่ ]