: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ 0 ฉบับที่ 03 ประจำเดือน 25 52
หัวข้อข่าว : ม.อ.ทูลเกล้าถวายปริญญารัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งมาเลเซีย
รายละเอียด :
          มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  จัดพิธีทูลเกล้าฯ ถวายปริญญารัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
แด่สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งมาเลเซีย  โดยมีอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะผู้บริหารและ
กรรมการสภามหาวิทยาลัย เฝ้ารับเสด็จฯ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2552  ณ โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล
กรุงเทพฯ จากนั้น รศ.อรัญญา  เชาวลิต รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ทูลเกล้าฯถวายมาลัยข้อพระกรแด่
สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งมาเลเซีย  รศ.อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ  คณบดีคณะวิทยาการสื่อสาร ทูลเกล้าฯ
ถวายมาลัยข้อพระกรแด่สมเด็จพระราชินีแห่งมาเลเซีย  รศ.บุญสม ศิริบำรุงสุข  อธิการบดีมหาวิทยาลัย
สงขลานครินทร์ ผศ.นิฟาริด ระเด่นอาหมัด รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและวัฒนธรรม วิทยาเขตปัตตานี
และ ผศ.พักตรา คูบุรัตถ์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี น้อมเกล้าฯ ถวายของที่ระลึกแด่สมเด็จ
พระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินี รศ.ดร.อิสมาแอ อาลี ผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา ทูลเกล้าฯ
ถวายสูจิบัตรแด่สมเด็จพระราชาธิบดี และ รศ.ลดาวัลย์ ประทีปชัยกูร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ทูลเกล้าฯ
ถวายสูจิบัตรแด่สมเด็จพระราชินี จากนั้น รศ.ระวีวรรณ ชอุ่มพฤกษ์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
 ผศ.ชิดชนก ราฮิมมูลา  รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์  ผศ.วสันต์ อติศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการ และ
นางเสาวณีย์ ศิริบำรุง  ภริยาอธิการบดี  ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตรแด่พระราชวงศ์    ผศ.สมปอง ทองผ่อง
รองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี ทูลเกล้าฯ ถวายฉลองพระองค์ครุยและ ผศ.ปิยะ กิจถาวร คณบดีคณะรัฐศาสตร์
ถวายพระมาลา  หลังจากนั้นสมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินี พระราชทานวโรกาสให้ผู้เข้าร่วมพิธีฯ
ร่วมถ่ายภาพ แล้วเสด็จฯ เข้าสู่ห้องพิธีถวายปริญญา โดยมี ศ.เกษม สุวรรณกุล นายกสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
กราบบังคมทูลถวายสดุดีพระเกียรติคุณ  รศ.บุญสม ศิริบำรุงสุข  อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทูลเกล้าฯ
ถวายปริญญารัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งมาเลเซีย พร้อมทรงรับมอบปริญญา
และมีพระราชดำรัสตอบ
           ศาสตราจารย์เกษม สุวรรณกุล นายกสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กราบบังคมทูลถวายสดุดีพระเกียรติคุณ
สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งมาเลเซียความว่า       สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งสหพันธรัฐมาเลเซีย  Yang di-Pertuan Agong
Tuanku Mizan Zainal Abidin lbni Al-Marhum Sultan Mahmud Al-Muktafi Billah Shah ทรงพระราชสมภพเมื่อ
วันที่ 22 มกราคม 2505 ณ พระราชวังมุคตาร กัวลาตรังกานู ประเทศสหพันธรัฐมาเลเซีย  ทรงเป็นพระโอรส
พระองค์แรกของสุลต่าน  Mahmud Al-Muktafi Billah Shah  และทรงเป็นสุลต่านองค์ที่ 16 แห่งรัฐตรังกานู
พระองค์เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นสมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 13 ของสหพันธรัฐมาเลเซีย  เมื่อวันที่ 13 มีนาคม
2549 และมีพระราชพิธีราชาภิเษกเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2550


            สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งสหพันธรัฐมาเลเซีย      ทรงสำเร็จการศึกษาด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ทรงเคยศึกษาในสถาบันการทหารแซนด์เฮิร์ส  ประเทศอังกฤษในเหล่าทหารม้า  พระองค์ทรงชื่นชมชอบด้านการกีฬา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทรงม้า และทรงสนพระทัยด้านการศึกษาของชาติ ทรงเคยเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยมาเลเซียแห่ง
รัฐตรังกานูเป็นพระองค์แรก และปัจจุบันทรงเป็นอธิการบดีลำดับที่ 3 แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมารา
           ในฐานะองค์พระประมุขของประเทศ พระองค์ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเป็นอเนกประการ ทรงเป็น
องค์ประธานในพิธีสำคัญต่างๆ ทรงให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรี ทรงทำหน้าที่เป็นผู้นำรัฐต่างๆตามที่รัฐธรรมนูญระบุไว้
ทั้งยังเป็นจอมทัพแห่งสหพันธรัฐมาเลเซีย และที่สำคัญยิ่งในฐานะองค์ศาสนูปถัมภกแห่งศาสนาอิสลามของสหพันธรัฐ
มาเลเซีย  สมเด็จพระราชาธิบดีทรงแบกรับภาระความรับผิดชอบอันใหญ่หลวงในการทำนุบำรุงและพัฒนาด้านศาสนา
ทรงมีพระจริยวัตรอันเป็นแบบอย่างแก่ประชาราษฏร์ของพระองค์ ให้ปฏิบัติประพฤติตามครรลองอันเคร่งครัดแห่งศาสนา
ทรงเป็นศูนย์รวมความสามัคคีของคนในชาติ ซึ่งมีลักษณะเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ที่มีความหลากหลายให้สามารถ
อยู่รวมกันได้อย่างสันติ
            รศ.บุญสม ศิริบำรุงสุข  อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งมาเลเซีย
ทรงเป็นกษัตริย์ที่ใช้เวลาตลอดชีวิตบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุข เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ทั้งทางเศรษฐกิจ
และสังคมของประชาชน  ทรงช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติ และทรงเป็นองค์ประธาน
ในการประชุมผู้บริหารมูลนิธิด้วยพระองค์เอง  เพื่อผลักดันให้กิจกรรมต่างๆ มีผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว  นอกจานั้น
ยังทรงเป็นพระประมุขที่เข้าถึงประชาชนโดยไม่ถือพระองค์ โดยจะประกอบศาสนกิจร่วมกับประชาชนในวันศุกร์
ในมัสยิดหลายแห่งในรัฐตรังกานู ทำให้ทรงได้รับการถวายพระสมัญญานามว่า  “The People  s King”  

             ในด้านวิชาการ ทรงสนับสนุนการวิจัยในสาขาต่างๆ เช่น เศรษฐกิจ สังคม ศาสนา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ซึ่งในการที่สภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีมติให้ถวายปริญญารัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่พระองค์ท่าน
ในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีที่มหาวิทยาลัยจะได้ประสานความร่วมมือด้านวิชาการกับสถาบันอุดมศึกษาในประเทศมาเลเซีย
ในหลักสูตรต่างๆที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เปิดสอน เช่น อิสลามศึกษา ภาษามลายู เศรษฐศาสตร์และการจัดการในอิสลาม
ครุศาสตร์อิสลาม และกฎหมายอิสลาม  และมีส่วนร่วมช่วยในโครงการต่างๆของมหาวิทยาลัยที่จัดทำเพื่อช่วยเหลือและ
พัฒนาการศึกษาของชาวมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ประสบผลสำเร็จเพื่อนำสันติสุขกลับมาสู่ภาคใต้ และ
ยังทรงมีพระจริยาวัตรอันเป็นแบบอย่างแก่ประชาราษฎร์ให้ปฏิบัติประพฤติตามครรลองอันเคร่งครัดแห่งศาสนา
และทรงเป็นศูนย์รวมความสามัคคีของคนในชาติ ซึ่งมีลักษณะเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ที่มีความหลากหลายให้สามารถ
อยู่รวมกันได้อย่างสันติ
โดย : * [ วันที่ ]