: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ฉบับที่ 36 ประจำเดือน 06 2552
หัวข้อข่าว : ม.อ. สนับสนุนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ที่ ๔๐ จังหวัดปัตตานี ฝึกอาชีพให้เยาวชน
รายละเอียด :
         มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี สนับสนุนให้นักเรียนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ที่ ๔๐
จังหวัดปัตตานี  มีทักษะอาชีพ มอบแพะ ไก่ เป็ดพร้อมโรงเรือนและอาหารสัตว์ ให้นักเรียนฝึกอาชีพเลี้ยงสัตว์
แบบมีหุ้นส่วน  หวังให้เป็นแนวทางการประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์แบบยั่งยืน
         ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมปอง ทองผ่อง รองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี ชี้แจงว่าสืบเนื่องจากนายกล่อม   ยังอภัย  
ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี  ได้มาปรึกษาว่าจะมีแนวทางใดบ้างที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จะให้การสนับสนุน
โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ที่ ๔๐ จังหวัดปัตตานี ในการส่งเสริมให้เยาวชนซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเด็กกำพร้าที่ได้รับผลกระทบ
จากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้  เด็กยากจน และด้อยโอกาส ได้มีทักษะวิชาชีพตามหลักเศรษฐกิจ
พอเพียง จากข้อหารือดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัยฯ ที่น้อมนำเอาพระราชปณิธานของสมเด็จ
พระบรมราชชนกที่ว่า ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง  ดังนั้นจึงมอบให้
นายจรัส  ชูชื่น ผู้ช่วยรองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี จัดทำโครงการสนับสนุนกิจกรรมโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ที่ ๔๐
จังหวัดปัตตานี  ขึ้น
         ผู้ช่วยรองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี  ให้รายละเอียดเพิ่มเติมต่อโครงการสนับสนุนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ที่ ๔๐
จังหวัดปัตตานี ว่ามหาวิทยาลัยฯ ได้มอบแพะ จำนวน ๕ ตัว  ไก่ จำนวน  ๒๐๐ ตัว และเป็ด จำนวน ๑๐๐ ตัว พร้อมโรงเรือน
และอาหารสัตว์ตลอดโครงการ โดยเริ่มโครงการมาตั้งแต่ปลายปี ๒๕๕๑ ใช้งบประมาณกว่า ๑๒๐,๐๐๐ บาท เพื่อให้
นักเรียนได้มีทักษะการเลี้ยงสัตว์และให้นักเรียนร่วมถือหุ้นเพื่อให้เกิดความผูกพันและมีความรับผิดชอบ  จะได้เป็น
แนวทางการประกอบอาชีพต่อไป
         อาจารย์นิพนธ์  นิกาจิ  ผู้อำนวยการโรงเรียนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ที่ ๔๐ จังหวัดปัตตานี กล่าวว่าโรงเรียน
รู้สึกขอบคุณมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นอย่างยิ่งที่เห็นความสำคัญของนักเรียนกำพร้าและยากจนที่ด้อยโอกาส  
จากการที่มหาวิทยาลัยเข้ามาส่งเสริมสนับสนุนให้โรงเรียนได้มีกิจกรรมการเลี้ยงสัตว์ในครั้งนี้ ทำให้นักเรียนสนใจ
เข้าร่วมกิจกรรรมการเลี้ยงสัตว์เป็นอย่างมาก โดยแต่ละกลุ่มจะมีนักเรียนสมัครเข้าร่วมโครงการถึงกลุ่มละ
ประมาณ ๑๕๐ คน ทั้งกลุ่มสนใจการเลี้ยงแพะ กลุ่มเลี้ยงเป็ด และกลุ่มเลี้ยงไก่ โดยโรงเรียนจัดให้มีคณะกรรมการ
นักเรียนดูแลสัตว์แต่ละกลุ่ม จำนวน ๑๕ คน และนักเรียนแต่ละคนสามารถซื้อหุ้นได้หุ้นละ  ๑๐ บาท ไม่เกินคนละ  ๑๐  หุ้น  
ส่วนนักเรียนคนใดไม่มีเงินก็สามารถใช้แรงงานโดยการเข้ามาดูแลสัตว์มาเป็นค่าหุ้นได้ ซึ่งหลังจากเริ่มดำเนินการ
มาได้ระยะหนึ่ง ก็มีผลผลิตสามารถจำหน่ายไก่พันธุ์เนื้อไปแล้ว ๑ รุ่น จำนวน ๒๐๐ ตัว และได้ซื้อลูกไก่มาเลี้ยง
ทดแทนอีก จำนวน ๒๐๐ ตัว ส่วนเป็ดขณะนี้กำลังจะมีไข่ โรงเรียนจะได้จำหน่ายไข่เป็ดต่อไป และสำหรับแพะจำนวน
๕ ตัวนั้น เป็นแพะตัวเมีย  ๔ ตัว ตัวผู้  ๑ ตัว  ได้เกิดลูก  จำนวน ๔ ตัว และชาวบ้านที่เห็นความสำคัญของกิจกรรมได้มอบ
ลูกแพะให้อีก ๑ ตัว โรงเรียนซื้อมาเพิ่มอีก ๒ ตัว สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดปัตตานีให้มาอีก ๕ ตัว รวมมีแพะถึง  ๑๗  ตัว  
และปัจจุบันโครงการนี้สามารถเลี้ยงตัวเองได้แล้ว    จากความสำเร็จของโครงการทำให้ขณะนี้โรงเรียนได้ขยายกลุ่ม
อาชีพเพิ่มขึ้นโดยเพิ่มกลุ่มเลี้ยงปลา กลุ่มผ้าบาติก กลุ่มทำขนม และขณะนี้กำลังมองหาวิทยากรมาให้ความรู้ในการทำ
หมวกกะปิเยาะและการทำผ้าคลุมผมสตรีอีกด้วย


                                                          *********************************
โดย : * [ วันที่ ]