: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ฉบับที่ /0 ประจำเดือน 3/ 2552
หัวข้อข่าว : กองอาคารสถานที่ เชิญศิลปินดิเกร์ฮูลูพัฒนาองค์ความรู้สำหรับรณรงค์ต่อต้านยาเสพติดและโรคเอดส์ ให้แก่ชุมชนจังหวัดชายแดนภาคใต้
รายละเอียด :
       
              โครงการจัดตั้งกองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  จัดประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาองค์ความรู้สำหรับใช้รณรงค์ต่อต้านยาเสพติดและโรคเอดส์ให้แก่ชุมชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้  โดยมีศิลปินพื้นบ้านประเภทดิเกร์ฮูลูในจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วมการประชุม เมื่อวันที่ 20-21 มีนาคม 2552  ณ หอศิลปวัฒนธรรมภาคใต้ สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา  โดยมี ผศ.นพพร เหรียญทอง  รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนาระบบ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นประธานในพิธีเปิดเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2552


          นายจรัส  ชูชื่น  ผู้ช่วยรองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  กล่าวว่า ศิลปินพื้นบ้านของภาคใต้ทุกแขนงจัดอยู่ในกลุ่มของการละเล่นพื้นบ้าน พื้นเมือง เพราะการละเล่นหมายถึงการเล่นดนตรี การเล่นเพลง การเล่นรำ การเล่นที่ต้องร่วมกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเรียกว่ามหรสพหรือศิลปะการแสดง  ส่วนคำว่าพื้นเมืองของภาคใต้หมายถึงสิ่งที่อยู่ในท้องถิ่นของภาคใต้ ซึ่งสามารถรวมความได้ว่าการละเล่นพื้นเมืองภาคใต้ หมายถึงการแสดงใดๆ อันเป็นประเพณีนิยมในท้องถิ่นและเล่นกันในระหว่างประชาชนเพื่อความสนุกสนานรื่นเริงตามฤดูกาล  ศิลปินพื้นบ้านภาคใต้ ล้วนแต่เป็นที่นิยมชมชอบโดยทั่วไปของชุมชนและสังคมชนบทภาคใต้ จึงเล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้สำหรับต่อต้านรณรงค์ยาเสพติดและโรคเอดส์ให้แก่ชุมชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยใช้ศิลปินพื้นบ้านเป็นสื่อ เพราเชื่อว่าศิลปินพื้นบ้านภาคใต้ยังคงมีอิทธิพลต่อชุมชนและสังคมในชนบท สามารถแทรกซึมเข้าสู่ชุมชนต่างๆ ได้ดีกว่าสื่อบางชนิด ซึ่งการประชุมปฏิบัติในครั้งนี้ทำให้ผู้เข้าร่วมการประชุมที่เป็นศิลปินพื้นบ้านภาคใต้รับทราบข้อมูลข่าวสาร นำไปประยุกต์ในการสร้างสื่อรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ในกิจกรรมและโอกาสต่าง ก็จะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชุมชนและสังคม

           ผศ.นพพร เหรียญทอง  รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนาระบบ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  กล่าวว่า  ในรอบปีที่ผ่านมามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้สนับสนุนการจัดกิจกรรมดังกล่าวโดยเน้นรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด  แต่ในปีนี้ได้ผนวกให้มีการรณรงค์ต่อต้านโรคเอดส์เข้าไปด้วย ซึ่งนับว่าศิลปินพื้นบ้านภาคใต้หรือผู้ที่เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติในครั้งนี้เป็นผู้มีบทบาทในการมีส่วนร่วมที่จะช่วยสังคมตามรูปแบบและแนวทางของแต่ละสาขาศิลปินพื้นบ้าน ที่จะได้นำองค์ความรู้ที่ได้รับไปสร้างสื่อแล้วนำถ่ายทอดสู่ชุมชนและสังคม  จะเห็นว่าปัจจุบันภัยจากยาเสพติดและโรคเอดส์ ยังคงคุกคามอยู่ตลอดเวลา และขยายวงกว้างจนลุกลามกลายเป็นปัญหาระดับชาติ ทุกรัฐบาลต่างก็ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ก็ไม่หมดไปโดยเฉพาะปัญหายาเสพติด  การที่จะป้องปรามไม่ให้คนชุมชนติดยาเสพติดและเป็นโรดเอดส์ คือการให้ความรู้เรื่องยาเสพติดและโรดเอดส์  ตลอดทั้งโทษของการเสพยาเสพติด และการมีเพศสัมพันธ์ที่ส่งผลต่อการเป็นโรคเอดส์โดยใช้ศิลปินพื้นบ้านเป็นสื่อ เพราะศิลปินพื้นบ้านในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงมีบทบาทที่สามารถชี้นำสังคมได้ เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่า ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของสังคม ทำให้สื่อประยุกต์ที่เกิดจากบุคคลเหล่านั้นเป็นแนวทางในการรณรงค์และประชาสัมพันธ์ต่อต้านยาเสพติดและการป้องกันโรดเอดส์ต่อไป.




โดย : * [ วันที่ ]