: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ฉบับที่ 27 ประจำเดือน 06 2551
หัวข้อข่าว : ม.อ. ปัตตานี จัดทำพจนานุกรมภาษามลายูถิ่นปัตตานี – ไทย และภาษาไทยเล่มแรกของประเทศ
รายละเอียด :
         นักวิชาการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  จัดทำพจนานุกรมภาษามลายูถิ่นปัตตานี–ไทย  และ
ภาษาไทย–มลายูถิ่นเล่มแรกของประเทศไทย เพื่อรวบรวมคำภาษามลายูถิ่นเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันและสามารถอ้างอิง
ทางวิชาการ
         ผศ. ดร. วรวิทย์  บารู  หัวหน้าโครงการวิจัยเพื่อจัดทำพจนานุกรมภาษามลายูถิ่นปัตตานี–ไทย  และภาษาไทย–
มลายูถิ่น  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  กล่าวว่าประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่
ที่พูดภาษามลายูถิ่นที่มีความแตกต่างจากภาษามลายูมาตรฐานที่ใช้ในประเทศมาเลเซีย  ซึ่งเป็นกลุ่มภาษาที่มีศัพท์  
สำเนียง  และคำยืมจากหลายภาษา  นอกจากนี้ภาษามลายูถิ่นยังสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมความเป็นอยู่และวิถีชีวิต
ของชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีเอกลักษณ์  ประกอบกับปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงทางความหมาย
ของคำในภาษา  มีการเพิ่มและยกเลิกการใช้คำบางคำ  และความสำคัญของสังคมประเทศไทยที่ต้องเรียนรู้ภาษาและ
วัฒนธรรมความหลากหลายของคนในชาติ  อันเป็นส่วนสำคัญต่อการสร้างความมั่นคงและความสันติสุขของประเทศ  
จึงได้ศึกษา  ค้นคว้า  รวบรวม  และตรวจสอบคำศัพท์  เพื่อจัดทำพจนานุกรมภาษามลายูถิ่นปัตตานี – ภาษาไทย  และ
ภาษาไทย – มลายูถิ่นปัตตานีที่ทันสมัยและเป็นประโยชน์แก่นักศึกษาและผู้สนใจทั่วไป  โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับ
ข้าราชการที่ต้องการสื่อสารกับประชาชนในท้องถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้  อันเป็นดินแดนของสังคมพหุวัฒนธรรม
         ผศ. ดร. วรวิทย์  บารู  กล่าวเพิ่มเติมว่าพจนานุกรมภาษามลายูถิ่นปัตตานี – ไทย  และภาษาไทย – มลายูถิ่น  เล่มแรก
ของประเทศไทย  ใช้ระยะเวลาในการจัดทำ  ๑  ปี  โดยมีนักวิชาการด้านภาษามลายูและภาษาไทยร่วม ๑๐ คน รวบรวม
คำศัพท์ภาษามลายูถิ่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สามารถใช้ในชีวิตประจำวัน  จัดลำดับคำและจัดทำประโยคตัวอย่าง
การใช้คำให้เป็นมาตรฐานตามแบบพจนานุกรมและสามารถอ้างอิงทางวิชาการได้  นับเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์
การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยแนวทางสันติวิธีในประเด็นความเข้าใจในความหลากหลายของภาษาและ
วัฒนธรรมภายในชาติตั้งอยู่บนพื้นฐานทางวิชาการ  ทั้งนี้ได้จัดพิมพ์และจัดทำในรูปของซีดี  จำนวน  ๓,๐๐๐  ชุด  เพื่อ
จำหน่ายและแจกจ่ายแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
         ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  โครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา  
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  อำเภอเมือง  จังหวัดปัตตานี  โทร.  ๐ ๗๓๓๑ ๒๒๙๐


                                                          *********************************
โดย : * [ วันที่ ]