: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ 7 ฉบับที่ 12 ประจำเดือน 12 2547
หัวข้อข่าว : กาหลอ : เครื่องดนตรีพื้นเมือง
รายละเอียด :
         กาหลอ  เป็นดนตรีพื้นเมืองประเภทเครื่องประโคมที่เก่าแก่ของชาวใต้  ซึ่งได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมมลายูมาตั้งแต่
ก่อนพุทธศตวรรษที่  13  ชาวมลายูสมัยนั้นใช้กาหลอประโคมในงานศพ  เพื่อน้อมวิญญาณของผู้ตายสักการบูชาแก่
พระอิศวรหรือพระกาฬ  และเป็นเครื่องสื่อสารส่งข่าวการตายแก่ญาติมิตรด้วย  ต่อมาศาสนาอิสลามเผยแพร่เข้ามาสู่
ดินแดนแถบนี้  ตามหลักศาสนาห้ามเก็บศพไว้ค้างคืน  กาหลอจึงสูญไปจากวัฒนธรรมมลายู  คงเหลืออยู่แต่ในวัฒนธรรม
ไทยภาคใต้  ซึ่งเมื่อไทยรับเอากาหลอมา  เดิมใช้เล่นในงานศพ  งานบวชนาค  งานสงกรานต์  และงานบุญต่าง  ๆ  
แต่ปัจจุบันนิยมเล่นงานศพเป็นส่วนใหญ่
         กาหลอ  เป็นคำตามสำเนียงมลายู  มาจากคำว่า  “กาลา”  คือ  พระอิศวร  ซึ่งเป็นเทพแห่งความบันเทิงและเทพแห่ง
ความอวสานที่ไทยเรียกว่า  “พระกาฬ”  และคำว่า  “กาลา”  ยังตรงกับภาษาชวาว่า  “ภัทรกาล”  หรือที่ในวรรณคดีเรื่องอิเหนาเรียกว่า  
“ปะตาระกาหลา”  แต่ก็มีการสันนิษฐานต่างออกไป  เช่น  ในหนังสือ  “นครศรีธรรมราช”  หรือบางท่านกล่าวว่า  “กาหลอ”  
เป็นคำประสมระหว่าง  “กา”  กับ  “หลอ”  กาคืออีกา  ส่วนคำว่าหลอ  ในภาษาถิ่นใต้หมายถึง  ลื่นหลุดจากที่จับ  เมื่อ
ประสมกันแล้วมีความหมายว่าเมื่ออีกาได้ฟังดนตรีประเภทนี้จะรู้สึกเพลิดเพลินเคลิบเคลิ้มในความไพเราะจนลื่นหลุด
จากที่จับเกาะ  เป็นต้น
         ตำนานกาหลอ
         พระพุทธเจ้าดำริให้มีกาหลอขึ้นเพื่อใช้ประโคมแห่นำพระเศียรของพระพรหมเป็นครั้งแรก  ต่อมาจึงโปรดให้
พุทธศาสนิกชนนำไปใช้บ้างและกำหนดให้ยึดถือเป็นประเพณีสืบต่อกันมา  บางกระแสว่ากาหลอเป็นเสียงกลองสวรรค์
ที่คณะภิกษุซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแต่งตั้งเป็นท่านกาแก้ว  ท่านการาม  ท่านกาชาติ  และท่านกาเดิม  ช่วยกันสร้างขึ้นเมื่อ
พระพุทธองค์ปรินิพพาน  โดยท่านกาเดิมทำปี่  ท่านการามทำทน  (คือกลองสองหน้าขนาดเล็ก  เรียกว่า  “กลองทน”)  
ท่านกาแก้วคิดทนเพิ่มขึ้นอีกใบหนึ่ง  และท่านกาชาติทำฆ้องแล้วใช้เครื่องดนตรีเหล่านี้แห่นำพระศพของพระพุทธเจ้า
ถือว่าเป็นการบรรเลงดนตรีกาหลอครั้งแรก
         อีกกระแสหนึ่งกล่าวว่า  พระพุทธเจ้าเป็นผู้ให้กำเนิดกาหลอเพื่อใช้ประโคมแห่นาคและแห่ศพในพิธีทางพุทธศาสนา  
ซึ่งมีความปรากฏในบทร้อยกรองประกอบตำนาน
         “จะกล่าวตำรากาหลอ  กล่าวไว้พึงพอ  สืบต่อกันมาเมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จเข้าเทศนาว่า  พวกเหล่านี้อยู่เป็นอัตรา
ชั้นดาวดึงสา  ประโคมดนตรีอยู่เหลี่ยมพระสุเมรุ  พระเจ้ากะเกณฑ์จุติลงมา  เกิดในชมพูพระพุทธเจ้าตรัสรู้  จึงตั้งเอาไว้ใน
พระศาสนา  ประโคมนาคซากศพเป็นธรรมเนียมมา  มีค่าราดมาตรามีมาแต่ก่อน”
         แม้ว่าข้อมูลดังกล่าวจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับกำเนิดของกาหลอไปในเชิงตำนาน  แต่ก็แสดงให้เห็นว่ากาหลอเป็นดนตรีที่เกี่ยว
เนื่องกับพิธีกรรมทางศาสนามาช้านาน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือพิธีกรรมที่เกี่ยวกับงานศพ
         องค์ประกอบของกาหลอ
         องค์ประกอบที่  1  วงกาหลอ  กาหลอวงหนึ่งใช้ผู้ประโคมดนตรี  4  คน  คือหัวหน้าวงเป็นผู้เป่าปี่  เรียกว่า  นายโรง
หรือนายปี่  ลูกวงอีก  3  คน  ทำหน้าที่ตีกลองทน  2  คน  เรียกว่า  นายทน  ตีฆ้อง  1  คน  เรียกว่า  นายฆ้อง  บางวงอาจมี
คนเป่าปี่เพิ่มขึ้นอีก  2  คน  ก็ได้
         องค์ประกอบที่  2  เครื่องดนตรี  วงกาหลอประกอบด้วยเครื่องดนตรี  3  อย่าง  คือ  ปี่  กลองทน  และฆ้อง  ซึ่งรายละเอียด
คือ
         ปี่กาหลอ  เรียกว่าปี่ห้อหรือปี่ฮ้อ  ถือเป็นดนตรีครูใช้สำหรับเป่าเลียบเสียงพูดให้เข้ากับจังหวะทำนอง  ปี่ชนิดนี้ทำด้วยไม้
มี  7  รู  รูข้างใต้เรียกว่าทองสี  ส่วนปากหรือลิ้นทำด้วยโลหะ  บางวงอาจใช้ปี่ถึง  3  เลา
         กลองทน  คล้ายกลองแขกแต่ขนาดเล็กกว่า  เป็นกลอง  2  หน้า  มี  1  คู่  เรียกว่า  หน่วยลูกกับหน่วยแม่  ใบหนึ่งใหญ่
เสียงทุ้งคือหน่วยแม่  เป็นทนยืนใช้ตีเป็นตัวยืนในการบรรเลงเพลง  อีกใบหนึ่งเล็กเสียงแหลมสูงคือหน่วยลูก  เป็นทนประกอบ
ที่คอยตีขัด  ตีหยอก  เพื่อเพิ่มความสนุกยิ่งขึ้น  การตีกลองทนแต่ละเพลงจะตีด้วยจังหวะที่แตกต่างกัน  โดยใช้มือตีบ้างใช้ไม้
ตีบ้าง  ไม้ที่ตีทำเป็นรูปโค้งคล้ายเขาควายแต่มีขนาดเล็กประมาณเท่านิ้วมือ
         ฆ้อง  ใช้ตีเน้นจังหวะ  แต่เดิมใช้  2  ใบ  และมีขนาดใหญ่มาก  เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ  1  ศอก  ระยะหลังใช้ใบเดียว
เป็นฆ้องขนาดกลางเสียงทุ้งกังวาน
         องค์ประกอบที่  3  เพลงกาหลอในตำนานกาหลอกล่าวว่า  เมื่อพระพุทธเจ้าทรงคิดกาหลอขึ้นครั้งแรกนั้น  ยังไม่มีเพลง
ที่ใช้บรรเลง  พระพุทธเจ้าทั้ง  5  พระองค์  รวมทั้งเทพเจ้าและพระสาวกอีก  12  องค์  เช่น  พระธรรม  พระกาฬ  นางขี้หนอน  
พระชัยเสน  พระภูมิ  และโมคคัลลานะ  พระพาย  พระพุทธโคดม  พระพุทธกัสสปะ  พระกกุสันโธ  พระโกนาคม  และ
พระศรีอาริยเมตไตรย  ได้ช่วยกันแต่งเพลงกาหลอองค์ละ  1  เพลง  ซึ่งเพลงกาหลอที่ใช้บรรเลงในแต่ละวงนั้นไม่เท่ากัน  
มีจำนวนอยู่ระหว่าง  7 – 22  เพลง  ส่วนใหญ่จะมี  12  เพลง  อย่างเช่น  วงกาหลอของนายลอย  เพ็งจันทร์  บ้านปลักปรือ  
อำเภอแม่ลาน  จังหวัดปัตตานี  มีเพลงที่ใช้บรรเลง  12  เพลง  เรียกชื่อดังนี้  1.  ไหว้พระชั้น  1,  2.  เพลงไหว้พระชั้น  2,  
3.  เพลงไหว้พระชั้น  3,  4.  เพลงไหว้ครู,  5.  แกะชนกัน,  6.  ปลุกแม่ครัว,  7.  เข้เล่นหาง,  8.  กวางเดินดง,  9.  เดินน้อย,  
10.  เพลงจุดไฟ  (เพื่อบูชาเพลิง),  11.  เพลงฉัน,  12.  เพลงทักษิณา  ซึ่งเกี่ยวกับชื่อเพลงกาหลอนี้  มีข้อน่าสังเกต
อีกประการหนึ่งคือ  แม้ว่าชื่อเพลงบางเพลงจะเหมือนกัน  แต่ถ้าเป็นกาหลอต่างวงหรืออยู่ต่างถิ่นกัน  เนื้อเพลงของ
บทเพลงนั้น  ๆ  ก็อาจผิดเพี้ยนไปบ้าง  ส่วนความหมายหรือเนื้อความส่วนใหญ่ยังเหมือนเดิม
         วงกาหลอใช้การบรรเลงดนตรีล้วนไม่มีการขับร้อง  แม้ว่าบทเพลงที่บรรเลงจะมีเนื้อเพลงก็ตาม  ปี่กาหลอหรือปี่ฮ้อ
จะทำหน้าที่แทนคนขับร้อง  อธิบายให้เข้าใจภาษาและความหมายของเนื้อเพลงด้วยลีลาของเสียงและจังหวะ  เพลงใด
ที่เป็นคำร้องหรือคาถาก็สามารถแสดงออกได้ด้วยเสียงปี่  สร้างบรรยากาศให้เกิดอารมณ์ลึกซึ้ง  สังเวช  วังเวง  สลดหดหู่  
และเนื้อเพลงของกาหลอส่วนใหญ่จะมีข้อความเป็นทำนองให้เศร้าสลดใจ
         องค์ประกอบที่  4  การรับกาหลอและโอกาสในการบรรเลง  งานที่นำกาหลอไปบรรเลงมี  3  ประเภทคือ  งานศพ  
งานบวชนาคของผู้สูงอายุตั้งใจบวชแล้วไม่สึก  และงานขึ้นเบญจารดน้ำคนเฒ่าคนแก่  แต่ในปัจจุบันนิยมนำไปเล่นใน
งานศพมากกว่างานอื่น  ๆ
         สำหรับงานศพ  หากวงกาหลอรับงานในวันเผาศพ  เรียกว่า  “นำ”  คือไปบรรเลงแห่นำศพจากบ้านไปเผาที่วัด  
พิธีการและธรรมเนียมต่าง  ๆ  มีน้อย  ไม่ต้องปลูกโรงเตรียมเครื่องสังเวยครูหมอ  ส่วนราคารับงานของกาหลอเรียกว่า  
“ค่าเปิดปากกีป”  หรือ  “ค่ารากขวัญข้าว”  หรือ  “ค่าราดโรง”  นั้น  แต่เดิมจะคิดตามราคาของโลงศพ  ถ้าเจ้าภาพฐานะดี
ทำโลงศพราคาแพง  ค่าราดโรงกาหลอก็แพง  ทั้งนี้จะมีกรรมการช่วยประเมินราคา  แต่ในปัจจุบันแล้วแต่ตกลงกัน  
ขึ้นอยู่กับจำนวนวันที่ไปบรรเลง  รวมทั้งระยะทางไกลหรือใกล้และยังต้องใช้ค่ายกครูอีก  9  บาทด้วย
         ลักษณะการตั้งโรงกาหลอและเครื่องประกอบพิธี
         โรงกาหลอหรือโรงฆ้อง  จะต้องสร้างใกล้กับที่ตั้งศพ  ขนาดโรงกว้าง  5  ศอก  ยาว  6  ศอก  ส่วนยาวของโรงตาม
ทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตก  จะสร้างขวางตะวันไม่ได้  เสาของโรงมีจำนวน  6  เสา  พื้นปูด้วยไม้กระดาน  โดยวางบน
ไม้หมอนฝาโรงกั้นด้วยจากหรือทางมะพร้าว  มีประตูเข้า – ออกทางเดียว  หน้าโรงหันไปทางทิศตะวันตก
         กาหลอกับความเชื่อ
         กาหลอนับถือครูเช่นเดียวกับมหรสพประเภทอื่น  โดยเฉพาะ  “ครูหมอใหญ่”  ซึ่งถือว่าเป็นผู้ให้กำเนิด  กาหลอ
นั้นเป็นครูที่กาหลอจะต้องนับถือบูชาอย่างเคร่งครัด  ผู้สืบทอดกาหลอจะต้องผ่านพิธี  “ครอบมือ”  ในพิธีไหว้ครูหรือการเชิญครู
         แนวปฏิบัติของกาหลอ
         กาหลอปฏิบัติตนตามหลักไสยศาสตร์อย่างเคร่งครัด  เช่น  เมื่อได้เวลานัดหมายไปแสดงก็จะหยิบเครื่องดนตรีลงจาก
เรือนไปทันทีพร้อมว่าคาถา  “กันเรือน”  ในขณะที่แสดงจะเดินทางกลับบ้านไม่ได้  ไม่ว่าที่บ้างจะเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้น
ก็ตาม  พร้อมกันนี้ภรรยาที่อยู่ที่บ้านจะต้องประพฤติดีตามกฎแห่งศีลธรรม  เป็นต้น
         กาหลอเป็นการละเล่นที่น่าสนใจและมีความผูกพันกับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวภาคใต้มาเป็นเวลาช้านาน  การที่กาหลอ
มีความเชื่อมากมายและมีหลักปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเช่นนี้  ถือกันว่าเป็นดนตรีประโคมที่มีความขลังและศักดิ์สิทธิ์  ปัจจุบัน
วงกาหลอเหลืออยู่น้อยมากและเสื่อมไปตามภาวะสังคมที่ต้องการมหรสพชนิดใหม่อื่น  ๆ  เข้ามาแทนที่

                                                         ****************************************

โดย : * [ วันที่ ]