: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ 7 ฉบับที่ 11 ประจำเดือน 11 2547
หัวข้อข่าว : ประเพณีแห่นก
รายละเอียด :
         แห่นก  เป็นประเพณีพื้นเมืองของจังหวัดชายแดนภาคใต้  เช่น  ปัตตานี  ยะลา  นราธิวาส  ซึ่งได้กระทำสืบเนื่องกันมา
เป็นเวลานาน  เป็นประเพณีนิยมที่ไม่เกี่ยวข้องกับทางศาสนา  ไม่เป็นประเพณีตามนักขัตฤกษ์  แต่จัดขึ้นเป็นครั้งคราว
เพื่อความสนุกรื่นเริง  เป็นการแสดงออกเกี่ยวกับความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในศิลปะ  และอาจจัดขึ้นในโอกาสเพื่อเป็นการแสดง
การคารวะ  แสดงความจงรักภักดีแก่ผู้ใหญ่ที่ควรเคารพนับถือหรือในโอกาสต้อนรับแขกเมือง  บางทีอาจจะขึ้นเพื่อความ
รื่นเริงในพิธีการเข้าสุหนัต  หรือจัดขึ้นเพื่อการประกวดเป็นครั้งคราว
         ความเป็นมาของประเพณีแห่นก
         จากตำนานบอกเล่ากล่าวถึงความเป็นมาของประเพณีแห่นกว่า  เริ่มขึ้นที่ยาวอ (ชวา) กล่าวคือมีเจ้าผู้ครองเมืองแห่งยาวอ
พระองค์หนึ่ง  มีพระโอรสและพระธิดาหลายพระองค์  พระธิดาองค์สุดท้องทรงเป็นที่รักใคร่ของพระบิดาเป็นอย่างยิ่งจึงได้รับ
การเอาอกเอาใจ  ทั้งจากพระบิดาและข้าราชการบริพารต่างพยายามแสวงหาสิ่งของและการละเล่นมาบำเรอ  ในจำนวนสิ่งของ
เหล่านั้นมีการจัดทำนกและจัดตกแต่งอย่างสวยงามแล้วมีขบวนแห่แหนไปรอบๆ ลานพระที่นั่ง  เป็นที่พอพระทัยของพระธิดา
เป็นอย่างยิ่ง  จึงโปรดให้มีการแห่นกถวายทุก  ๆ  7 วัน
         อีกตำนานหนึ่งมีว่า  ณ  กาลครั้งหนึ่งมีพระยาเป็นผู้ใหญ่ในเมืองหนึ่ง (ไม่บ่งว่าชื่ออะไร) มีลูกผู้ชายหลายคน  คนสุดท้อง
เป็นชายอายุประมาณ 10 ขวบ  เป็นที่รักใคร่ของบิดามาก  หากประสงค์สิ่งใดก็ต้องเสาะหามาให้จนได้  วันหนึ่งชาวประมงได้
นำเหตุมหัศจรรย์ที่ได้พบเห็นมาจากท้องทะเลขณะที่ตระเวนจับปลามาเล่าว่า  พวกเขาได้เห็นพญานกตัวหนึ่งสวยงามอย่าง
มหัศจรรย์ผุดขึ้นมาจากท้องทะเล  บินทะยานขึ้นสู่อากาศแล้วหายลับไปในท้องฟ้า  พระยาเมืองจึงซักถามถึงรูปลักษณะ
ของนกประหลาดตัวนั้น  ชาวประมงต่างคนต่างก็รายงานแตกต่างกันตามสายตาของแต่ละคน  และต่างเชื่อมั่นว่านกตัวนั้น
เป็นนกสวรรค์  เพราะบันดาลให้คนเห็นในลักษณะที่แตกต่างกัน  พระยาเมืองตื่นเต้นและยินดีมาก  ลูกชายคนสุดท้อง
ก็รบเร้าจะใคร่ได้ชม  พระยาเมืองจึงป่าวประกาศรับสมัครช่างผู้มีฝีมือหลายคนให้ประดิษฐ์รูปนกตามคำบอกเล่าของ
ชาวประมงซึ่งได้เห็นรูปลักษณ์ที่แตกต่างกันนั้น  ช่างทั้งหลายประดิษฐ์รูปนกขึ้นรวม 4 ลักษณะ  แล้วบรรดาช่างทั้งหลาย
ก็ร่วมกันสร้างนกขึ้น 4 ตัว  ตามจินตนาการได้  นกแต่ละตัวสวยงามมาก  ข่าวลือกระฉ่อนไปยังเมืองใกล้ไกลเมื่อสร้าง
เสร็จแล้วจึงให้มีพิธีแห่อย่างมโหฬาร  มีหญิงสาวเข้าริ้วขบวนถือพานดอกไม้นานาชนิดมีหลากสีเรียกว่า “บุหงาซีเระ” คล้าย
ขันหมากเครื่องบายศรี  ขบวนแห่ไปรอบ  ๆ  เมือง  และเชื่อว่า  ตำนานนี้คือจุดเริ่มต้นของประเพณีแห่นก  เพื่อแสดงความ
จงรักภักดีแก่พระยาเมือง
         ประเพณีแห่นกมีความนิยมกันแพร่หลายในประเทศอินโดนีเซีย  มาเลเซีย จนถึงปัจจุบัน จากตำนานประวัติศาสตร์
คำบอกเล่า  และความนิยมที่ยังถือปฏิบัติต่อๆ กันมา  
พอจะสันนิษฐานได้ว่า  ชาวไทยทางจังหวัดชายแดนภาคใต้คงรับเอาประเพณีมาจากอินโดนีเซีย  และคงรับมาก่อนที่
ศาสนาอิสลามจะแพร่หลายเข้ามาในภูมิภาคส่วนนี้
         การประดิษฐ์นก
         นกที่นิยมทำขึ้นเพื่อแห่มีเพียง 4 ตัว (สอดคล้องกับจำนวนในตำนานดังกล่าวมาแล้ว) คือ
         1. นกกาเฆาะซูรอ  หรือนกกากะสุระ  นกชนิดนี้ตามกการสันนิษฐานน่าจะเป็น “นกการเวก” ซึ่งเป็นนกสวรรค์ที่
สวยงามและบินสูงเทียมเมฆ  การประดิษฐ์สักจะตบแต่งให้มีหงอนสูงแตกออกเป็น 4 แฉก  นกชนิดนี้ชาวพื้นเมืองเรียกว่า
“นกทูนพลู” เพราะบนหัวมีลักษณะคล้ายบายศรีพลูที่ประดับในถาด  เวลาเข้าขบวนแห่ทำเป็นกระหนกลวดลายสวยงามมาก
มักนำไม้ทั้งท่องมาแกะสลัก  ตัวนกก็ประดับด้วยลูกแก้วสีทำให้กลอกกลิ้งได้  มีงายื่นออกจากปากคล้ายงาช้างเล็กๆ พอสม
กับขนาดของนก  ซึ่งอาจทำเพื่อให้แปลกจากนกธรรมดาสมกับที่เล่ามาเป็นนกสวรรค์
         2. นกกรุดา  หรือนกครุฑ  มีลักษณะคล้ายกับครุฑที่เห็นในธนบัตรไทย  แต่เชื่อกันว่ามีอาถรรพ์  ผู้ทำมักเกิดอาเพศ
หรือมักจับไข้ได้ป่วย  และถือกันว่าผีแรง  จึงต้องทำโดยผู้รู้จริงจึงจะสามารถปัดเป่ารังควานได้  นอกจากนี้เมื่อตกแต่งแล้วมักดู
น่ากลัว  ในปัจจุบันจึงไม่นิยมนำนกชนิดนี้เข้าขบวนแห่
         3. นกบีเฆาะมาศ  หรือนกยูงทอง  มีลักษณะคล้ายกับนกกาเฆาะซูรอ  มีหงอนสวยงามเป็นพิเศษ  ชาวไทยมุสลิม
ยกย่องนกยูงทองมาก  และไม่ยอมบริโภคเนื้อ  เพราะเป็นนกที่รักขน  เมื่อติดบ่วงยอมตายไม่ยอมเสียขน  การตกแต่ง
นกพญายูงทองนั้น  ต้องทำกันอย่างประณีตถี่ถ้วนเพราะต้องใช้เวลามาก
         4. นกบุหรงซีรอ  หรือนกสิงห์  มีรูปร่างคล้าย
ราชสีห์  ตามคตินกนี้มีหัวเป็นนกแต่ตัวเป็นราชสีห์  ตามนิทานเล่ากันว่ามีฤทธิ์มาก  ทั้งเหาะเหินเดินอากาศและดำน้ำได้มาก  
มีเขี้ยวงาน่าเกรงขาม
         ในการประดิษฐ์นก  สังเกตหัวนกรุ่นเก่าในท้องที่อำเภอยะรัง  อำเภอเมืองปัตตานี  และอำเภอหนองจิก  จังหวัดปัตตานี  
นิยมใช้ไม้เนื้อเหนียว  เช่น  ไม้ตะเคียน ไม้กายี  นำมาแกะเป็นหัวนก  เนื้อไม้เหล่านี้ไม่แข็งเปราะจนเกินไป  สะดวกในการแกะ
ของช่าง  ทั้งยังทนทาน  ใช้การได้นานปี  คุ้มค่าเวลาและแรงงานของช่างแกะสลัก  หัวนกแต่ละหัว (นก) ต้องใช้เวลาแกะสลัก
1-2 เดือน  เหตุนี้ระยะหลังหัวนกจึงนิยมสานด้วยไม้ไผ่  แล้วหุ้มด้วยกระดาษสีเป็นส่วนใหญ่  สำหรับตัวนกใช้ไม้ไผ่ผูกเป็นโครง  
ติดคานหามแล้วนำกระดาษมาติดรองพื้น  ต่อจากนั้นก็ตัดกระดาษสีเป็นขนประดับส่วนต่างๆ สีที่นิยม  ได้แก่  สีเขียว  สีทอง
(เกรียบ) ส่วนสีอื่นจะนำมาใช้ประดับตกแต่งเพื่อให้สีตัดกันดูเด่นขึ้น
         เมื่อสวมหัวนกจะจัดเป็นพิธีเซ่นบวงสรวง  อุปกรณ์ที่ใช้ในพิธีประกอบด้วยเพดานสำหรับขึงตรงหัวนก 1 ผืน  ขนาด
1 ตารางเมตร  ข้าวเหนียวสมางัด 1 พาน (เช่นเดียวกับข้าวเหนียวเหลืองของชาวไทยพุทธ  แต่ข้าวเหนียวสมางัดนิยมใช้ 3 สี  
คือ เหลือง  แดง  ขาว)  ขนมดอดอย 1 จาน (ขนมใช้ทำในพิธีเฉพาะไม่นิยมรับประทาน)  ข้าวสาร 1 จาน (ข้าวสารย้อมสีเหลือง)
แป้งน้ำหอม  กำยาน  เทียน  ทอง  เงิน  เงินค่าบูชาครู 12 บาท  และใบอ่อนของมะพร้าว 2-3 ใบ
         การจัดขบวนแห่นก
         ธรรมเนียมการจัดขบวนแห่นกต้องอาศัยกำลังคน  และอุปกรณ์มากมาย  ผู้มีฐานะบริวารเท่านั้น  จึงจะจัดขบวนแห่ได้
โดยสมบูรณ์  องค์ประกอบของบวนแห่อันดับแรก  ได้แก่  เครื่องประโคมสำหรับประโคม  ดนตรีนำหน้าขบวนนกประกอบด้วย
คนเป่าปี่ชวา (สุไน) 1 คน  กลองแขก (คันดัง) 1 คู่  ใช้คนตี 2 คน  ฆ้องใหญ่ 1 ใบ  ใช้คนหามและคนตีฆ้องรวม 3 คน
(หาม 2 คน  ตี 1 คน  รวมเป็น 3 คน)  ดนตรีนี้จะบรรเลงนำนำหน้าขบวนนกไปจนถึงจุดหมายและบรรเลงในเวลาแสดงสีละ
และรำกริช
         ถัดมาเป็นขบวนบุหงาสิรี (บายศรี)  จัดเป็นขบวนสวยงาม  ผู้ทูนพานบายสีต้องเป็นสตรีที่ได้รับการเลือกเฟ้นว่าเป็นผู้มี
เรือนร่างได้สัดส่วน  แต่งกายด้วยเสื้อผ้าหลากสีสันตามประเพณีท้องถิ่น  พานบายศรี  (อาเนาะกาซอ)  ใช้พานทองเหลือง  
จำนวน 3,5,7 หรือ9 พาน  โดยต้องเป็นจำนวนคี่
         ลำดับถัดมาเป็นผู้ดูแลนก  ทำนองเดียวกับจตุลังคบาททหารประจำเท้าช้างของแม่ทัพสมัยโบราณ  ใช้คน 2 คน  แต่งกาย
แบบนักรบ  มือถือกริชเดินนำหน้านก  คัดเลือกจากผู้ชำนาญการร่ายรำสิละ  รำกริช  รำหอก  อันเป็นศิลปะการต่อสู้อย่างหนึ่งของ
ชาวมุสลิม  เมื่อขบวนแห่ไปถึงจุดหมายหรือที่อาคันตุกะพักอยู่  ผู้ดูแลนกก็จะใช้ศิลปะการร่ายรำสิละ  รำกริช  รำหอก  ให้แขก
ชมอีกด้วย
         ต่อมาเป็นขบวนนก  นกประดิษฐ์แต่ละตัวมีรูปร่างแปลกประหลาดมหัศจรรย์  วิจิตรตระการตา  โน้มน้าวให้รำลึกถึง
พญาครุฑในวรรณคดี  นกหัสดีลิงค์  ในนิยายปรัมปรากำลังลอยเลือนลงมายืนอยู่บนคานหาม  จำนวนคนหามมากน้อยขึ้นอยู่กับ
ขนาดและน้ำหนักของนก  นกขนาดใหญ่อาจใช้คนหามถึง 16 คน  แต่ละคนแต่งเครื่องแบบพลทหารหรือหอกเป็นอาวุธ
         ต่อจากขบวนนกก็เป็นขบวนพลกริช  ขบวนพลหอก  ผู้คนในขบวนแต่งกายอย่างนักรบในสมัยโบราณ  ถือหอก  กริช  
เดินตามหลังขบวนนก  ดุจเหล่าทหารหาญเคลื่อนเข้าสู่สมรภูมิอันมีพระราชาเป็นผู้นำจำนวนทหารกริช  ทหารหอก  มีมากเท่าไร
ก็จะทำให้ขบวนแห่นกแลดูน่าเกรงขามมากยิ่งขึ้นเท่านั้น
         การแห่นกที่กล่าวมาเป็นการแห่ในงานทั่วๆไป  ถ้าเป็นการแห่ในพิธีเข้าสุหนัตจะมีลักษณะพิเศษออกไป  คืออาจใช้นกเพียง
ตัวเดียวก็ได้  การแห่จะเริ่มในตอนเช้าของวันเข้าสุหนัตหรือแห่ 2 ครั้ง  คือ  ตอนเย็นก่อนวันเข้าสุหนัต 1 วัน  และอีกครั้งหนึ่ง
ในวันรุ่งขึ้นก็ได้  ขบวนจะเริ่มด้วยผู้เบิกทาง  โดยให้ผู้หญิงถือเชี่ยนหมากและกาน้ำอย่างละคนเดินนำหน้าถัดมาเป็นผู้หญิงถือ
“ดอกพลู”  
(บายศรีทำด้วยใบพลูจับเป็นชั้นๆ อาจทำเป็น 3 ชั้น 5 ชั้น  หรือ 7 ชั้น)  จากนั้นเป็นขบวนผู้ชายถืออาวุธ  ได้แก่  กริชและหอก  
ทำหน้าที่เสมือนคอยอารักขารกอยู่รอบๆ และในส่วนของขบวนนี้จะมีผู้ประโคมดนตรีและเต้นสีละพร้อมๆ กันไป
         ส่วนท้ายสุดของขบวนจะเป็นตัวนกที่มีคานหาม  หรือลากด้วยล้อเลื่อนแล้วแต่กรณี  ก่อนจะเริ่มแห่นกผู้ทำหน้าที่
โต๊ะมูเด็ง (ผู้ขริบหนังหุ้มปลายหนังอวัยวะเพศ) จะจุดเทียนและร่ายคาถาอาคมแล้วเดินเวียนรอบนก  โดยเวียนรอบซ้าย 3 รอบ  
แล้วเดินย้อนกลับอีก 1 รอบ  จึงให้ผู้ที่จะเข้าสุหนัตขึ้นนั่งบนหลังนก  โดยให้ขึ้นทางขวา (ตอนจะลงจากหลังนกต้องลงทางซ้าย)
จากนั้นก็จะแห่ขบวนไปยังสถานที่ทำพิธีเข้าสุหนัต  เมื่อขบวนแห่นกถึงที่ทำพิธีโต๊ะมูเด็งจะร่ายคาถาอาคมและทำพิธีเชือดคอนก
เป็นอันเสร็จพิธี
         ปัจจุบันการจัดประเพณีแห่นก  นับวันจะหาดูได้ยาก  สมควรอย่างยิ่งที่หน่วยงานราชการ  และชุมชนจะได้หาวิธีการ
เพื่อให้ประเพณีนี้คงอยู่สืบไป

                                                   **************************************
โดย : * [ วันที่ ]