: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ 7 ฉบับที่ 10 ประจำเดือน 10 2547
หัวข้อข่าว : ม.อ.ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญารัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และทูลเกล้าฯ ถวายปริญญารัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เพื่อเฉลิมพระเกียรติคุณให้เป็นที่ปรากฏในวงวิชาการและเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
รายละเอียด :
         สภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ทูลเกล้าฯ  ถวายปริญญารัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  และทูลเกล้าฯ   ถวายปริญญารัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่สมเด็จ
พระนางเจ้าสิริกิติ์  พระบรมราชินีนาถ  เพื่อเฉลิมพระเกียรติคุณให้เป็นที่ปรากฏในวงวิชาการและเพื่อเป็นสิริมงคล
แก่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  โดยเหตุที่ทั้งสองพระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อพัฒนาประเทศและเพื่อ
ประโยชน์สุขของพสกนิกรตลอดมา
         สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี  เสด็จแทนพระองค์พระราชทานปริญญาบัตร
แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ประจำปีการศึกษา 2546  เมื่อวันที่ 14  ตุลาคม  2547  โดยมี
ผู้มีสิทธิ์เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร  จำนวน 4,463 คน  จำแนกเป็นผู้สำเร็จการศึกษา  ระดับปริญญาตรี  3,317 คน  
ระดับปริญญาโท 1,134 คน  และระดับปริญญาเอก 12 คน  โดยเป็นผู้มีสิทธิ์เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรจากวิทยาเขต
หาดใหญ่  จำนวน 2,568 คน  วิทยาเขตปัตตานี 1,180 คน  โครงการจัดตั้งวิทยาเขตภูเก็ต 275 คน  โครงการจัดตั้ง
วิทยาเขตตรัง 176 คน  และโครงการจัดตั้งวิทยาเขตสุราษฎร์ธานี 264 คน  โดยแยกเป็นคณะดังนี้
         คณะวิศวกรรมศาสตร์จำนวน 335 คน  คณะวิทยาศาสตร์  จำนวน 418 คน  คณะแพทยศาสตร์  จำนวน
193 คน  คณะวิทยาการจัดการ  จำนวน 722 คน  คณะทรัพยากรธรรมชาติ  จำนวน 348 คน  คณะอุตสาหกรรมเกษตร  
จำนวน 111 คน  คณะเภสัชศาสตร์  จำนวน 143 คน  คณะพยาบาลศาสตร์  จำนวน 217 คน  คณะทันตแพทยศาสตร์  
จำนวน 55 คน  คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม จำนวน 24 คน  คณะศิลปะศาสตร์  จำนวน 2 คน  คณะศึกษาศาสตร์ 552 คน  
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  จำนวน 346 คน  คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  จำนวน 144 คน  วิทยาลัย
อิสลามศึกษา  จำนวน 124  คณะศิลปกรรมศาสตร์  จำนวน 14 คน  คณะอุตสาหกรรมบริการ  จำนวน 158 คน  วท.บ.
(วิทยาการคอมพิวเตอร์) ของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  จำนวน 29 คน  บธ.ม  ของคณะวิทยาการจัดการ  จำนวน
52 คน  และ  ศศ.ม  ของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  จำนวน 36 คน
         ในโอกาสดังกล่าวศาสตราจารย์  ดร.เกษม  สุวรรณกุล  นายกสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  กราบทูล
รายงานกิจการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในรอบปีที่ผ่านมาตามภารกิจต่าง  ๆ  สรุปได้ดังนี้
         ปีการศึกษา 2546  เป็นปีที่ 37  ในการปฏิบัติงานภายใต้บริบทของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่มุ่งสู่สัมฤทธิผล
ของการพัฒนาตามแนวทิศทางอันเป็นแม่บทของอุดมศึกษาชาติ  และจุดมุ่งหมายของมหาวิทยาลัยคือ  เป็นมหาวิทยาลัย
ชั้นนำในระดับภูมิภาคเอเชียทำหน้าที่ผลิตบัณฑิต  บริการวิชาการ  และทำนุบำรุงวัฒนธรรม  โดยมีการวิจัยเป็นฐานด้วย
การพัฒนาทั้งในด้านการจัดการศึกษา  และพัฒนาตามคุณภาพนักศึกษา  การวิจัย  และพัฒนาสู่ความเป็นมหาลัยเน้นวิจัย  
การบริการวิชาการและพัฒนาสู่งานที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน  รวมถึงการบริหารจัดการที่มีการลำดับ  ติดตาม  และตรวจสอบ
ให้มีความโปร่งใส  เป็นธรรม  โดยมีพื้นฐานประสิทธิภาพในการประกันคุณภาพ  พร้อมการติดตามประเมินผลอย่างเป็นระบบ
         ด้านการจัดการศึกษา  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีพื้นที่ให้บริการการศึกษา  ณ  วิทยาเขตต่าง  ๆ  ใน
5 จังหวัด  คือ  สงขลา  ปัตตานี  ภูเก็ต  สุราษฎร์ธานี  และตรัง  ทุกวิทยาเขตจะมีการพัฒนาการเรียนการสอน
ด้วยการเปิดสอนหลักสูตรและสาขาวิชาใหม่ตามความต้องการของสังคม  การพัฒนานักศึกษาให้มีคุณภาพทางวิชาการ  
พร้อมสำนึกสาธารณะและที่คำนึงถึงความพอใจของนักศึกษา  เป็นการเอื้อให้มหาวิทยาลัยสามารถสนองตอบต่อความ
ต้องการของสังคมในระดับมหภาค  ระดับภูมิภาค  และท้องถิ่นภาคใต้  ทั้งในแง่ของการกระจายโอกาสอุดมศึกษา  การ
ยกระดับมาตรฐานการศึกษาในภาคใต้  และเป็นศูนย์กลางวิชาการระดับอุดมศึกษาในภูมิภาคที่สามารถตอบสนอง
ความต้องการของชุมชนได้อย่างแท้จริง  ในปีการศึกษา 2547 นี้  มหาวิทยาลัยมีการจัดการเรียนการสอนหลักสูตร
ต่างๆ รวม 236 สาขาวิชา  เป็นหลักสูตรปริญญาตรี  119 สาขาวิชา  ประกาศนียบัตร 2 สาขาวิชา  ปริญญาโท 85 สาขาวิชา  
ประกาศนียบัตรชั้นสูง 1 สาขาวิชา  ปริญญาเอก 29 สาขาวิชา  มีนักศึกษารวม 27,295 คน  คณาจารย์ 1,568 คน  และ
บุคลากรอื่น ๆ รวมทั้งหมดประมาณ 5,700 คน
         ด้านการวิจัย  มหาวิทยาลัยมุ่งพัฒนาสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นวิจัย  โดยดำเนินการผลักดันสาขาและกลุ่มวิจัย
ที่เข้มแข็งให้มุ่งสู่ความเป็นงานวิจัยบัณฑิตศึกษาให้มีคุณภาพระดับสากล  สร้างกระบวนการให้บุคลากรทำวิจัยมากขึ้น  
และร่วมพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เป็นองค์ความรู้ที่มีคุณค่าและมีมูลค่าเพิ่ม  อันเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของ
ชุมชน  ในปีงบประมาณ 2547  มหาวิทยาลัยได้รับการสนับสนุนทุนเพื่อการวิจัยจากหน่วยงานของรัฐ  และหน่วยงานอื่น  ๆ  
ทั้งในและต่างประเทศรวม 379 โครงการ  เป็นเงิน 96.07 ล้านบาท  ผลงานวิจัยที่สำคัญ  ได้แก่  การนำน้ำมันปาล์มมา
ทดแทนน้ำมันดีเซลในเครื่องยนต์  ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อระบบสุขภาพในอุตสาหกรรมยางพาราและไม้ยางพารา
กระบวนการผลิตยางธรรมชาติน้ำหนักโมเลกุลต่ำและควบคุมความหนืด  การส่งเสริมอาหารฮาลาลเพื่อการส่งออก  การ
พัฒนาระบบคัดแยกวัสดุใช้แล้ว  คุณภาพชีวิตในประเทศกำลังพัฒนา  และงานประดิษฐ์คิดค้นต่างๆ  เช่น  เครื่องอัด
เชื้อเพลิงแข็งจากฝุ่นไม้  เครื่องวัดอัตราการใช้น้ำของต้นไม้  การเก็บรักษาสะตอในบรรจุภัณฑ์ชนิดยืดหยุ่น  เป็นต้น
         ด้านการบริการวิชาการ  มหาวิทยาลัยได้สร้างระบบบริหารวิชาการให้มีลักษณะของการบริการที่เปิดกว้าง  
หลากหลายรูปแบบ  และมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ  โดยนำองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยและการเรียนการสอนมาประยุกต์
ให้เกิดประโยชน์กับชุมชน  โดยในปีที่ผ่านมา  มหาวิทยาลัยโดยคณะและหน่วยงานต่างๆ ได้ให้บริการวิชาการทั้งใน
ลักษณะการเป็นวิทยากร  การเป็นที่ปรึกษา  การจัดอบรม  สัมมนาประชุมวิชาการ  การให้บริการเครื่องมือและอุปกรณ์
ต่างๆ การวิเคราะห์ตรวจสอบและทดสอบทั้งแบบให้เปล่าแก่ผู้ด้อยโอกาส  และแบบเก็บค่าบริการ  งานบริการวิชาการที่
สำคัญ  เช่น  การจัดงาน  ม.อ.วิชาการ  การศึกษาเพื่อจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาอ่าวปัตตานี  การศึกษาแนวทางพัฒนา
เกาะเต่า  เกาะแตน  จังหวัดสุราษฎร์ธานี  การบริหารจัดการกระบวนการผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องปั้นดินเผาภายใต้
โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์  นอกจากนี้ยังให้บริการรักษาพยาบาล 804 เตียง  ให้บริการผู้ป่วยนอก 630,000 ราย/ปี  
และผู้ป่วยใน 28,000 ราย/ปี  ขณะเดียวกันยังมีโรงพยาบาลทันตกรรม  ที่ให้บริการรักษาโรคในช่องปากแก่ประชาชนทั่วไป  
และเป็นโรงพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญโรคในช่องปากแห่งเดียวในภาคใต้  ศูนย์กลางการศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี
ทางคลินิก  และสถานที่ฝึกงานทางคลินิกของนักศึกษา  สามารถให้บริการผู้ป่วย 87,000 ราย/ปี  รวมทั้งมีทุนบริการด้าน
สุขภาพอีกหลายโครงการ  เช่น  สถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน  ศูนย์บริการสุขภาพช่องปากชุมชนเมือง  โครงการ
ทันตกรรมเคลื่อนที่  โครงการทันตสาธารณสุขชนบทภาคใต้  โครงการป้องกันและแก้ปัญหาเอดส์  เป็นต้น
         ด้านการทำนุบำรุงวัฒนธรรม  มหาวิทยาลัยได้ดำเนินภารกิจด้านทำนุบำรุงวัฒนธรรมโดยการศึกษา  ค้นคว้า  
วิจัย  ส่งเสริม  และสนับสนุนการอนุรักษ์เผยแพร่วัฒนธรรม  ประเพณี  ภูมิปัญญาท้องถิ่น  และวิถีชีวิตของชุมชน
ภาคใต้  รวมทั้งเก็บรวบรวมศิลปะโบราณวัตถุ  ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน  เพื่อสนับสนุนให้บุคลากรได้ศึกษาวิจัยด้านศิลป
วัฒนธรรมไทยออกสู่สังคมโลก  ตัวอย่างดังกล่าว  ได้แก่  การศึกษาประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมเมืองปัตตานี  
การศึกษาเพื่อการส่งเสริมและพัฒนาทอผ้าพื้นบ้านภาคใต้  การสร้างเครือข่ายร่วมกับชุมชนและประเทศเพื่อนบ้าน  
และการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง
         สำหรับปีพุทธศักราช 2547  สภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ทูลเกล้าฯ  ถวายปริญญา
รัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและทูลเกล้าฯ   ถวายปริญญาปรัชญาดุษฎี
บัณฑิตกิตติมศักดิ์  สาขาการจัดการสิ่งแวดล้อม  แด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์  พระบรมราชินีนาถ  และมอบปริญญา
กิตติมศักดิ์แก่ผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมและประเทศชาติ  จำนวน 4 ราย  และมหาวิทยาลัยได้
ทำการคัดเลือกผู้ได้รับรางวัลอนุสรณ์สงขลานครินทร์ 1 ราย  อาจารย์ตัวอย่างในด้านต่างๆ จำนวน 4 ราย  และ
อาจารย์ดีเด่นกองทุนเอกิ้น  เลาเกเซ่นอนุสรณ์ 1 ราย  ซึ่งมีพระนามและรายนามดังนี้
         พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
         ปริญญารัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
         พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  มหิตลาธิเบศรามาธิบดี  จักรีนฤบดินทร  สยามินทราธิราช  
บรมนาถบพิตร  เป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงดำรงอยู่ในทศพิศราชธรรม  ทรงเป็นมิ่งขวัญและศูนย์รวมความสามัคคีของ
ประชาชนนาวไทย  นับตั้งแต่เสด็จขึ้นเถลิงถวัลราชสมบัติ  พระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อให้เกิดประโยชน์สุข
แก่พสกนิกรนานัปการสมดังพระปฐมบรมราชโองการที่พระราชทานไว้  พระราชกรณียกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ
แนวพระราชดำริพึ่งตนเองแบบเศรษฐกิจพอเพียง  อันเป็นกระบวนการของการพัฒนาที่มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญเพื่อให้
ประชาชนสามารถพึ่งตนเองและช่วยเหลือตนเองได้มีคุณภาพชีวิตที่พออยู่พอกิน  หลังจากนั้นจึงพัฒนาคุณภาพชีวิต
ให้มีความเจริญก้าวหน้าและฐานะทางเศรษฐกิจให้สูงขึ้นตามลำดับ  โดยมุ่งเน้นไปที่ราษฎรในชนบท  รูปแบบที่สำคัญ
ที่เกิดขึ้นคือเกษตรผสมผสานและทฤษฎีใหม่  แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  จึงมุ่งเน้นการพัฒนา
คุณภาพชีวิตที่สอดคล้องกับการเป็นประเทศเกษตรกรรม  ซึ่งแนวพระราชดำริดังกล่าว  นอกจากจะเกิดประโยชน์ต่อ
การดำรงชีวิตของพสกนิกรชาวไทย  ยังมีคุณค่าต่อมวลมนุษยชาติอีกด้วย
         โดยเหตุที่พระองค์ท่านทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อพัฒนาประเทศและเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกร
ตลอดมา  สภามหาวิทยาลัยสงขาลนครินทร์  จึงมีมติให้ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญารัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
เพื่อเฉลิมพระเกียรติคุณให้เป็นที่ปรากฏในวงวิชาการและเพื่อเป็นสิริมงคลแก่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์สืบไป
         สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์  พระบรมราชินีนาถ
         ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์  (การจัดการสิ่งแวดล้อม)
         สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์  พระบรมราชินีนาถ  ทรงสนพระทัยในสิ่งแวดล้อม  จากการเสด็จพระราชดำเนิน
ในภูมิภาคต่างๆ ได้ทอดพระเนตรเห็นสภาพธรรมชาติที่เสื่อมโทรม  ตลอดจนป่าลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว  ทำให้ทรงห่วงใย
ในสภาพดังกล่าวดังเป็นอันมาก
         สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์  พระบรมราชินีนาถ  มีบทบาทสำคัญยิ่งในการรณรงค์ให้ราษฎรตระหนักถึงคุณค่าและ
ความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ทรงมุ่งมั่นให้ราษฎรรู้จักรักษาทรัพยากรป่าไม้  ซึ่งแนวพระราชดำริ
จึงทำให้เกิดโครงการต่าง  ๆ  ที่ล้วนแล้วแต่เป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  อาทิ  โครงการป่ารักน้ำ  ซึ่งมีวัตถุ
ประสงค์หลักคือการฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรมบริเวณต้นน้ำ  ลำธาร  โครงการสวนป่าและอนุรักษ์สัตว์ป่า  การจัดตั้งศูนย์
เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่าในท้องถิ่นทุกภาคของประเทศ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคใต้ได้มีสวนสัตว์ตามโครงการ
พระราชดำริหลายแห่ง  ซึ่งเป็นอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าที่หายาก
         โดยเหตุที่พระองค์ท่านทรงอุทิศพระองค์ทรงสละเวลาเพื่อบำเพ็ญพระราชกรณียกิจต่าง  ๆ ที่เกิดประโยชน์
ด้านสิ่งแวดล้อม  สภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  จึงมีมติให้ทูลเกล้าฯ  ถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์  
(การจัดการสิ่งแวดล้อม)  เพื่อเฉลิมพระเกียรติคุณให้เป็นที่ปรากฏในวงวิชาการและเพื่อเป็นสิริมงคลแก่มหาวิทยาลัย
สงขลานครินทร์สืบไป
         ศาสตราจารย์  ดร.ปราณี  กุลละวณิชย์
         ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ภาษาไทย)
               ศาสตราจารย์  ดร.ปราณี  กุลละวณิชย์  สำเร็จการศึกษาปริญญาเอกอักษรศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับสอง  
เมื่อปี 2506  และอักษรศาสตรมหาบัณฑิต  จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เมื่อปี 2509  ปริญญาโท  และปริญญาเอกด้าน
ภาษาศาสตร์จาก University of Hawaii ประเทศสหรัฐอเมริกา  เมื่อปี 2511  และ 2517  ตามลำดับ
               ศาสตราจารย์  ดร.ปราณี  กุลละวณิชย์  เป็นผู้ดำรงชีวิตชีวิตอย่างสมถะด้วยความสุขในงาน  จึงอุทิศเวลาสร้างงาน
วิชาการควบคู่กับการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง  พร้อม  ๆ  กับที่พัฒนาความรู้ความสามารถมาถึงขั้นที่เป็นบุคลากรสำคัญ
ในวงการศึกษาภาษาศาสตร์ภาษาตระกูลไทหรือการศึกษาภาษาไทในเชิงประวัติ  ศาสตราจารย์  ดร.ปราณี  กุลละวณิชย์  
ได้ใช้ศาสตร์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญอธิบายการดำรงอยู่ของ “ภาษาแหวกแนว”  ให้เห็นความหลากหลายของภาษาและ
ความเปลี่ยนแปลงของภาษาที่มีบทบาทเคลื่อนไหวใช้งานอยู่ในวิถีชีวิตสังคมปัจจุบัน
              พลเอกสุรยุทธ์  จุลานนท์
              ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์  (รัฐศาสตร์)
              พลเอกสุรยุทธ์  จุลานนท์  สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยนายเกล้าพระจุลจอมเกล้า (รุ่น 12) เมื่อปี 2508  และ
ได้ผ่านการศึกษาจากหลักสูตรต่าง  ๆ  อาทิ  หลักสูตรทางอากาศจู่โจม  หลักสูตรนายพัน  เหล่าทหารราบ  สหรัฐอเมริกา  
หลักสูตรเสนาธิการทหารบก  ชุดที่ 52  หลักสูตรเสนาธิการทหารบก  สหรัฐอเมริกา  หลักสูตรการบริหารทรัพยากร  กระทรวง
กลาโหม  สหรัฐอเมริกา  หลักสูตรวิทยาลัยป้องราชอาณาจักร  เป็นต้น  
              พลเอกสุรยุทธ์  จุลานนท์  เป็นนายทหารอาชีพที่ยึดมั่นในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อรักษาการปกครองประชาธิปไตย  
คุณูปการของ  พลเอกสุรยุทธ์  จุลานนท์  ที่มีต่อประเทศชาติแสดงออกได้ 3 ด้าน  คือในฐานะนายทหารที่มีความยึดมั่นใน
หลักการและเทคนิควิธีการทางการทหารที่ก้าวหน้าทันสมัย  มีบทบาทสำคัญในด้านการรบพิเศษและศูนย์สงครามพิเศษ  ฐานะ
ที่โดดเด่นดังกล่าวทำให้ได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งสำคัญในกองทัพ  บทบาทที่ 2  ในฐานะผู้นำทางการทหารใน
สังคมประชาธิปไตยพลเอกสุรยุทธ์  จุลานนท์  สามารถแสดงภาวะผู้นำของทหารโดยรักษาความเป็นอิสระความเป็นตัวของ
ตัวเอง  จนทำให้กองทัพไทยสามารถส่งเสริมและสนับสนุนรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งได้อย่างสมฐานะและศักดิ์ศรี  
บทบาทด้านที่ 3  คือบทบาทในฐานะข้าราชการทหารที่ซื่อสัตย์สุจริตและมีความจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์อย่าง
มั่นคง  นำเอาพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปสู่การปฏิบัติได้เป็นอย่างดี
              ศาสตราจารย์นายแพทย์ทองจันทร์  หงส์ลดารมภ์
              ปริญญาทันตแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
              ศาสตราจารย์นายแพทย์ทองจันทร์  หงส์ลดารมภ์  สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต  เมื่อปี 2495  ได้รับปริญญา
DOCTOR DER MEDIZIN จาก Hamburg University ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน  ได้รับประกาศนียบัตร  
Electroencephalography จาก Institute of Neurology, Queen Square, London เมื่อปี 2502  ได้รับปริญญา Master of
Education จาก University of Illinois ประเทศสหรัฐอเมริกา  เมื่อปี 2515
         ศาสตราจารย์นายแพทย์ทองจันทร์  หงส์ลดารมภ์  มีบทบาทสำคัญและได้มีส่วนช่วยเหลือในการจัดตั้งคณะทันตแพทย
ศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  เป็นอย่างมาก  คือ  ในช่วงของการจัดตั้งคณะศาสตราจารย์นายแพทย์ทองจันทร์  
หงส์ลดารมภ์  ได้ขอความช่วยเหลือจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เพื่อขอยืมตัวรองศาสตราจารย์ชีระ  ศุษิลวรณ์  มาช่วย
ราชการโดยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งคณะทันตแพทยศาสตร์  ซึ่งในระยะเริ่มแรกนั้นบุคลากร  อุปกรณ์
และสถานที่ทำงานยังไม่มี  แต่ด้วยการสนับสนุนอย่างจริงจังของศาสตราจารย์นายแพทย์ทองจันทร์  หงส์ลดารมภ์  
จนสามารถได้จัดตั้งคณะทันตแพทยศาสตร์ขึ้นสำเร็จ  นอกจากนี้ยังได้ให้ความช่วยเหลือคณะฯ  โดยเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ
ในการจัดทำระบบและกลไกการประกันคุณภาพการศึกษาของคณะมาตั้งแต่เริ่มต้นจนสามารถดำเนินงานมาจนถึงทุกวันนี้
         รองศาสตราจารย์  ดร.เลนนาท  แฮเซลเกรน
         ปริญญาวิทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ธรณีฟิสิกส์)
         รองศาสตราจารย์  ดร.เลนนาท  แฮเซลเกรน  สำเร็จการศึกษาปริญญาเอกจาก Uppsala University ประเทศสวีเดน  
เมื่อปี 2518  มีประสบการณ์ด้านการวิจัยและการบริหาร  ตั้งแต่ปี 2513  เป็นต้นมา  และตั้งแต่ปี2525 จนถึงปัจจุบัน  ดำรงตำแหน่ง
ของสถาบัน International Program in the Physical Sciences ของ Uppsala University ประเทศ สวีเดน
         รองศาสตราจารย์  ดร.เลนนาท  แฮเซลเกรน  เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้สถาบัน International Program
in the Physical Sciences หรือ สถาบัน IPPS ของ Uppsala University ประเทศสวีเดน  ส่งเสริมและสนับสนุนการสร้าง
ปัจจัยพื้นฐานสำหรับงานวิจัยด้านธรณีฟิสิกส์ของภาควิชาฟิสิกส์  คณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  มาตั้งแต่
ปี 2530  เป็นต้นมา  ซึ่งประกอบด้วย   ทุนเรียนต่อปริญญาเอกสำหรับคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  จำนวน
4 คน  เครื่องมือวิจัยด้านธรณีฟิสิกส์ที่ทันสมัย  วารสารและตำราวิชาการ  และค่าใช้จ่ายของผู้เชี่ยวชาญจากประเทศสวีเดน
ในการเดินทางมาให้คำแนะนำทางวิชาการแก่คณาจารย์และนักศึกษาของมหาวิทยาลัย  การสนับสนุนดังกล่าวมีมูลค่า
รวมกว่า 14 ล้านบาท  และส่งผลให้การศึกษาวิจัยด้านธรณีฟิสิกส์ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เข้มแข็ง  และมี
ผลงานเป็นที่ยอมรับของหน่วยงานภายนอกเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ
รางวัลอนุสรณ์สงขลานครินทร์  ประจำปีพุทธศักราช 2547  ได้แก่
         นายสุภาพ  ศรีทรัพย์
         นายสุภาพ  ศรีทรัพย์  อายุ 45 ปี  สำเร็จการศึกษาครุศาสตร์บัณฑิต  สาขาบริหารการศึกษา  จากวิทยาลัยครู
สุราษฎร์ธานี  ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอาจารย์ 2 ระดับ 7  โรงเรียนปะทิววิทยา  อำเภอปะทิว  จังหวัดชุมพร  เป็นผู้มี
ความรักในบ้านเกิดของตนเองซึ่งเป็นชนบท  มีแนวคิดฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติต่างๆให้กลับคืนมาหลังเกิดเหตุการณ์
วาตภัยพายุไต้ฝุ่นเกย์  ถึงแม้จะไม่เหมือนเดิม  ในระยะแรกได้จัดตั้งชุมชนอนุรักษ์ทรัพยากรปะการังและสิ่งแวดล้อมขึ้น
ในโรงเรียนปะทิววิทยา  หลังจากนั้นได้มีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  องค์กรเอกชนเพื่อจัดการฟื้นฟูให้กลับสภาพ
ที่ดีขึ้น  จนได้รับงบประมาณมาสนับสนุนในบางส่วน  นายสุภาพ  ศรีทรัพย์  ได้ทำงานด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาจนถึงปัจจุบัน
เป็นเวลา 8 ปีเต็ม  จนเป็นที่เชื่อถือของชุมชนท้องถิ่น
         ผลงานเด่นของนายสุภาพ  ศรีทรัพย์  ในด้านสิ่งแวดล้อมคือการเป็นผู้นำการก่อตั้ง “ชมรมและเครือข่ายอนุรักษ์
สิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นจังหวัดชุมพร”  จนสามารถขยายผลต่อเนื่องครบทุกอำเภอในจังหวัดชุมพร  สร้างกลุ่มเยาวชน
ให้เป็นแกนนำการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นจนสามารถรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายเยาวชนอนุรักษ์
ทรัพยากรปะการังและสิ่งแวดล้อมอำเภอปะทิว  สามารถสร้างผลงานเป็นที่ยอมรับระดับประเทศ  นอกจากนี้ยังเป็นที่ปรึกษา
ให้กับนักเรียนในการส่งโครงการเข้าประกวดกับมูลนิธิชีวิตสัตว์ป่าในโครงการสัตว์รักษ์ภูเขา  เรารักษ์สัตว์  จนชนะ
การประกวดนำเสนอกิจกรรมเข้าร่วมโครงการสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมดีเด่นเฉลิมพระเกียรติกับสมาคมสร้างสรรค์ไทย  
ผ่านเข้ารอบพร้อมกันได้รับทุนมาดำเนินกิจกรรมในโครงการโรงเรียนชุมชน  ฯลฯ
         อาจารย์ตัวอย่างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ปีพุทธศักราช 2547
         อาจารย์ตัวอย่างด้านการเรียนการสอน  ได้แก่
         ศาสตราจารย์แพทย์หญิงสมจิตร์  จารุรัตนศิริกุล
         ศาสตราจารย์แพทย์หญิงสมจิตร์  จารุรัตนศิริกุล  สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต  เกียรติริยมอันดับ 2  จาก
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  มหาวิทยาลัยมหิดล  เมื่อปี 2526  ศึกษาต่อเป็นแพทย์เฉพาะทางสาขากุมารเวชศาสตร์ที่
สถาบันเดียวกัน  ได้รับวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบอาชีพเวชกรรม  สาชากุมารเวชศาสตร์  เมื่อปี 2532  
และได้ศึกษาต่อด้าน Pediatric Endocrinology  ที่ Standford University ประเทศสหรัฐอเมริการะหว่างปี 2532 – 2534  
และได้เข้ารับราชการเป็นอาจารย์แพทย์หน่วยต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม  ภาควิชากุมารเวชศาสตร์  คณะแพทยศาสตร์  
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
               ศาสตราจารย์แพทย์หญิงสมจิตร์  จารุรัตนศิริกุล  เป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบสูง  ทำงานที่รับผิดชอบทุกด้านด้วยความ
อุตสาหะและทุ่มเททั้งในและนอกเวลาราชการ  และมักทำงานเสร็จก่อนกำหนดเวลาวันหยุดราชการ  และมักทำงานเสร็จ
ก่อนกำหนดเวลาเสมอโดยใช้เวลาวันหยุดราชการมาปฏิบัติหน้าที่ภาควิชา  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยเพราะในเวลาราชการ
ต้องทำหน้าที่ด้านการเรียนการสอนและการบริการผู้ป่วยอย่างเต็มความสามารถ
               อาจารย์ตัวอย่างด้านการวิจัยได้แก่
               รองศาสตราจารย์  ดร.รวี  เถียรไพศาล
               รองศาสตราจารย์  ดร.รวี  เถียรไพศาล  สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี  สาขาเทคนิคการแพทย์  และระดับปริญญาโท-เอก  
สาขาพยาธิวิทยาคลินิก  มหาวิทยาลัยมหิดล  เมื่อปี 2530  แบะระดับปริญญาโท-เอก  สาขาจุลชีววิทยาช่องปาก University
of Sheffield สหราชอาณาจักร  เมื่อปี 2538  เริ่มรับราชการที่ภาควิชาโอษฐวิทยา  คณะทันตแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลา
นครินทร์  ตั้งแต่ปี 2530 จากการที่มีความรู้ความสามรถในการวิจัยสูง  ทำให้มีผลงานวิจัยที่ผลิตออกมาอย่างมีคุณภาพ  จนสร้าง
ชื่อเสียงให้แก่คณะฯ และมหาวิทยาลัยนานาชาติอย่างต่อเนื่อง  ส่งผลให้เกิดความร่วมมือระหว่างสถาบันทั้งในประเทศและ
ต่างประเทศ  และเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาจุลชีววิทยาโดยเฉพาะจุลชีพในช่องปาก  ผลงานวิจัยที่สำคัญได้แก่  เรื่อง  "การศึกษา
ยีนที่กำหนด  การสร้างสารโปรตีน  แบคทิริโอซินของเชื่อแบคทีเรียพรีโวเทลลาไนเกรสเซนต์"  ได้พบรายละเอียดของท่อนยีน
ซึ่งยังไม่เคยมีรายงานมาก่อน  และพบกรรมวิธีในการสกัดสารโปรตีนให้บริสุทธิ์  และมีคุณสมบัติในการยับยั้งการเจริญ
เติบโตของแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคปริทันต์อักเสบ  และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพัฒนา  นอกจากนี้ยังเป็นหัวหน้าโครงการ  
และจากผลงานที่ดีเด่นทำให้ได้รบการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่กลั่นกรองงานวิจัยที่ขอรับทุนระดับชาติและนานาชาติของ The Welcom
Trust และศูนย์พันธุวิศวกรรมชีวภาพแห่งชาติ  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์แห่งชาติ
               อาจารย์ตัวอย่างด้านบริการวิชาการ  จำนวน 2 ราย  ได้แก่ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ขจรศักดิ์  ศิลปโภชากุล  
และอาจารย์อับดุลเลาะ  อับรู
               ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ขจรศักดิ์  ศิลปโภชากุล  สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต  จากคณะแพทยศาสตร์  
โรงพยาบาลรามาธิบดี  มหาวิทยาลัยมหิดล  เมื่อปี 2516  ได้ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงทางการแพทย์สาขาอายุรศาสตร์ทั่วไป  
และประกาศนียบัตรผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมอายุรศาสตร์ทั่วไป  จากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี  มหาวิทยาลัย
มหิดล  เมื่อปี 2518  และ 2520  ตามลำดับ  และได้รับ Felloship  in Infection Disease  จากประเทศสหรัฐอเมริกา  
เมื่อปี 2526
               ตลอดระยะเวลาที่รับราชการในคณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ผู้ช่วยศาสตราจารย์
นายแพทย์ขจรศักดิ์  ศิลปโภชากุล  เป็นแบบอย่างของอาจารย์แพทย์ที่นักศึกษาแพทย์และผู้ป่วยให้ความรักและศรัทธา
ตลอดมา  เป็นผู้นำของหน่วยงานคือประธานอนุกรรมการประสานงานการควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาลสงขลานครินทร์  
และหัวหน้าหน่วยโรคติดเชื่อและโรคเขตร้อน  ภาควิชาอายุรศาสตร์  เป็นผู้ที่ศึกษาค้นคว้าข้อมูลทางวิชาการเพื่อนำมาใช้ในด้าน
การรักษาผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง  และยังมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคระบาดแต่ละครั้งที่ผ่านมา  ผลงานด้าน
บริการวิชาการแก่สังคมที่สำคัญยิ่งในรอบปีที่ผ่านมา  คือ  กรณีเกิดการระบาดของโรค SARS นั้นได้อุทิศตนและทุ่มเท
เป็นอย่างมากจนเป็นที่ชื่นชมของสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพของโรงพยาบาล (พรพ)  และกรรมการประเมินคุณภาพ
แห่งชาติว่า  โรงพยาบาลสงขลานครินทร์สามารถควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาลเทียบเคียงกับมาตรฐานของประเทศ
สหรัฐอเมริกา
              อาจารย์อับดุลเลาะ  อับรู  สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีและปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์  จาก Lucknow University  
ประเทศอินเดีย  เมื่อปี 2519  และปี 2521  ตามลำดับ  ปัจจุบันเป็นหัวหน้าแผนกวิชาเศรษฐศาสตร์และการจัดการในอิสลาม  
วิทยาลัยอิสลามศึกษา  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี
              อาจารย์อับดุลเลาะ  อับรู  เป็นผู้มีความรู้  ความสามารถด้านเศรษฐศาสตร์ทั่วไป  แต่ให้ความสำคัญกับองค์ความรู้ทาง
ด้านเศรษฐศาสตร์  อิสลามในเชิงลึกจนมีส่วนร่วมในการจัดทำหลักสูตรและเปิดแผนกเศรษฐศาสตร์และการจัดการในอิสลามขึ้น  
ได้ศึกษาความแปลงของสังคมทั้งในและต่างประเทศ  ทำความเข้าใจกับมิติต่างๆ  เพื่อนำความรู้มาใช้ปรับปรุงการเรียนการสอน
และการบริการวิชาการที่มีประโยชน์ต่อสังคม  ในด้านบริการวิชาการ  ได้อุทิศเวลาและอุทิศตนในการเป็นวิทยากรให้แก่
ภาครัฐและเอกชนในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสังคม  เศรษฐกิจ  การธนาคารและวัฒนธรรมมุสลิมและโลกมุสลิมอย่างต่อเนื่อง  
และยังเป็นที่ปรึกษาแก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในหลายองค์กรด้วยกันซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นงานที่สร้างประโยชน์ให้กับ
ชุมชนและสังคมได้เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับวิกฤติในโลกมุสลิมหรือวิกฤติชายแดนภาคใต้ผ่านสื่อต่างๆ  ปัจจุบันสอนให้
นักศึกษาเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องในพหุสังคม  โดยเฉพาะวิชาชีววิถีชีวิตมุสลิมที่มีนักศึกษาเข้าเรียนมากและนับถือ
ศาสนาที่ต่างกัน
               รางวัลอาจารย์ดีเด่นของกองทุนเอกิ้น  เลาเกเซ่นอนุสรณ์  ประจำปี 2547  ได้แก่  รองศาสตราจารย์ประดิษฐ์  มีสุข
               รองศาสตราจารย์ประดิษฐ์  มีสุข  สำเร็จการศึกษาปริญญาการศึกษาบัณฑิต  สาขาเคมี  เกียรตินิยมอันดับ 1  จากวิทยาลัย
การศึกษา  สงขลา  เมื่อปี 2514  สำเร็จการศึกษามหาบัณฑิตสาขาอุดมศึกษาและการฝึกหัดครู–เคมี   จากวิทยาลัยวิชาการศึกษา    
ประสานมิตร  เมื่อปี 2517  ได้รับการอบรมหลักสูตรจิตวิทยามั่นคง  รุ่นที่ 32  เมื่อปี 2524  และอบรมหลักสูตรการบริหารงาน
สำหรับผู้บริหารมหาวิทยาลัย  เมื่อปี 2540  ปัจจุบันเป็นรองศาสตราจารย์  สังกัดภาควิชชาเคมี  คณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัย
ทักษิณ  เป็นผู้ที่มีความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ได้ดี  ได้พัฒนาการสอนโดยใช้สื่อการสอนที่เหมาะสม  และพัฒนา
การสอนอย่างต่อเนื่อง  จัดทำโครงการสอนและแผนการสอนสอดคล้องกับวัตถุประสงค์  มีสอดแทรกคุณธรรมและจริยธรรม  
เป็นผู้มีวามรักความสนใจในสาขาวิชาเคมีและการประกันคุณภาพการศึกษา  นอกจากนั้นยังมีผลงานวิจัยด้านการวิเคราะห์
สารหนูและโลหะหนักในแหล่งน้ำและผลิตภัณฑ์จากทะเลสาบสงขลา  ปัญหาของสิ่งแวดล้อม  และงานวิจัยอื่น  ๆ
อย่างสม่ำเสมอ  จนได้รับการยอมรับว่ามีความรู้ความสามารถหลายด้านจึงได้รับเลือกเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย  
ได้รับเลือกเป็นผู้ตรวจสอบคุณภาพการศึกษาภายในของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาอีกด้วย
           
                                                 **************************************


   

โดย : * [ วันที่ ]