: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ 7 ฉบับที่ 08 ประจำเดือน 08 2547
หัวข้อข่าว : ศูนย์ศึกษาและพัฒนาอ่าวปัตตานี ม.อ.ปัตตานี ศึกษาภูมิลักษณ์อ่าวปัตตานี พร้อมแนะการพัฒนาที่ยั่งยืนควรดำเนินการ ควบคู่กับระบบนิเวศวิทยา เศรษฐกิจ สังคมและประวัติศาสตร์โบราณคดี
รายละเอียด :
          ศูนย์ศึกษาและพัฒนาอ่าวปัตตานี  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  ศึกษาอ่าวปัตตานี  พบปัญหา
วิกฤต  ทรัพยากรสัตว์น้ำถูกทำลาย  พร้อมแนะการพัฒนาอ่าวปัตตานีที่ยั่งยืน  ควรดำเนินการควบคู่กับระบบนิเวศวิทยา  เศรษฐกิจ  
สังคม  และประวัติศาสตร์โบราณคดี  เพื่อให้เกิดองค์รวมของความรู้และเกิดดุลยภาพระหว่างการพัฒนาและการอนุรักษ์
         รศ.ดร.ครองชัย  หัตถา  ผู้ศึกษาภูมิลักษณ์อ่าวปัตตานี  ศึกษาและพัฒนาอ่าวปัตตานี  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  
วิทยาเขตปัตตานี  กล่าวว่าจังหวัดปัตตานีมีทรัพยากรชายฝั่งที่สำคัญคือ  อ่าวปัตตานี  เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญแห่งหนึ่งของ
ประเทศไทยและของเอเชีย  อ่าวปัตตานีมีพื้นที่ผิวน้ำ 74 ตารางกิโลเมตร  อ่าวปัตตานีเป็นอ่าวกึ่งเปิดเนื่องจากมีแหลมโพธิ์ยื่น
ออกไปในทะเลยาว  ประมาณ 18.5 กิโลเมตร  พื้นที่ตอนในจึงกลายเป็นอ่าว  แหลมโพธิ์ที่ยื่นออกไปช่วยกำบังคลื่นลม  ทำให้
การหมุนเวียนของน้ำจึงมีเฉพาะภายในอ่าว  โดยเฉพาะฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ  ทำให้ภายในอ่าวเหมาะสำหรับเป็นที่แวะพัก
จอดเรือ  อ่าวปัตตานีรับน้ำจืด  แร่ธาตุ  และตะกอนจากแม่น้ำสำคัญสองสาย  คือ  แม่น้ำปัตตานี  และแม่น้ำยะหริ่ง  ทำให้
ภายในอ่าวมีสภาพกร่อย  และกลายเป็นอ่าวที่เก็บกับดักตะกอนและแร่ธาตุต่างๆ  โดยความเค็มแปรผันตามฤดูกาล  อ่าวปัตตานี
มีสัตว์น้ำที่สำคัญทางเศรษฐกิจ  เช่น  ปลากะพง  ปลากระรัง  ปาดุกทะเล  กุ้งกุลาดำ  กุ้งแช่บ๊วย  หอยแครง  ปูม้า  หอยแมลงภู่  
หอยนางรม  รวมทั้งพืชน้ำ  เช่น  สาหร่ายหลายชนิดโดยเฉพาะ  สาหร่ายผมนาง (Glacilaria) เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญจาก
ท้องทะเลในอ่าวปัตตานี
         อ่าวปัตตานีได้อำนวยประโยชน์ให้กับชุมชนชายฝั่งในหลากหลายรูปแบบ  เช่น  การประมงพื้นบ้าน  การเพาะเลี้ยง
สัตว์น้ำ  การสัมปทานป่าชายเลน  ท่าเทียบเรือเพื่อการคมนาคมขนส่ง  การพักผ่อนเพื่อนันทนาการ  การเป็นที่ตั้งเขตอุตสาหกรรม  
และชุมชนรบอ่าวปัตตานี  จนได้รับการพิจารณาจากสหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ
(IUCN : International Union for the Conversation of Nature and Natural Resources) ให้อ่าวปัตตานีเป็นที่ลุ่มน้ำขัง
ชายฝั่งทะเล (coastal wetland)  ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์แห่งหนึ่งของเอเชีย  และได้รับการพิจารณาคัดเลือกให้เป็นพื้นที่
สาธิตด้านหญ้าทะเลและพื้นที่ชุ่มน้ำในโครงการ UNEP GFF ซึ่งเป็นโครงการเพื่อดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรม
ทางทะเลและชายฝั่งทะเลจีนตาและอ่าวไทยแห่งสหประชาชาติ
         ในปัจจุบันระบบนิเวศน์และทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่งในพื้นที่รอบอ่าวปัตตานีได้ถูกทำลายจนเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว
และอยู่ในภาวะวิกฤติ  สาเหตุเกิดจากการขยายตัวของชุมชนเมือง  การขยายตัวของอุตสาหกรรมต่างๆ  บนฝั่งแม่น้ำและบริเวณ
ปากอ่าวปัตตานี  การขยายตัวของพื้นที่นากุ้ง  การสูญเสียพื้นที่ป่าชายเลน  และสาเหตุสำคัญที่สุดเกิดจากการทำลายแหล่งอาศัย
ของสัตว์หน้าดินและพื้นที่สาหร่ายโดยเรืออวนรุน  อวนลาก  ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านต้องสูญเสียแหล่งผลิตอาหารยังชีพ  
ต้องอพยพทิ้งถิ่นอาศัยไปหางานทำที่มาเลเซีย  และประสบปัญหาความยากจนและปัญหาด้านต่างๆ  เป็นลูกโซ่ตามมาอย่างมากมาย  
จากการศึกษาข้อมูลชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่รอบอ่าวปัตตานี  เมื่อปี 2538  รวม 16 หมู่บ้าน  ซึ่งมีประขากรประมาณ 23,000 คน  
พบว่าปัญหาที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการประกอบอาชีพและชีวิตความเป็นอยู่ของชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่รอบอ่าวปัตตานี
คือ  ปัญหาอวนรุน  อวนลาก  ทั้งทะเลในและทะเลนอก
         รศ.ดร.ครองชัย  หัตถา  กล่าวอีกว่าอ่าวปัตตานี  เป็นแหล่งองค์ความรู้ในหลากหลายมิติการศึกษาวิจัยเพื่อให้เข้าใจถึง
องค์รวมของอ่าวปัตตานีมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาหรือการดำเนินการใด  ๆ  ที่เกี่ยวข้องกับอ่าวปัตตานี  ขณะเดียวกัน
การศึกษาวิจัยเฉพาะด้าน  เพื่อให้ทราบข้อมูลในเชิงลึกเฉพาะอย่างก็มีความสำคัญเช่นเดียวกันในเมื่อพิจารณาถึงสถานภาพของ
การวิจัยที่เกี่ยวกับอ่าวปัตตานีที่ผ่ามายังมีค่อนข้างน้อยทั้งงานวิจัยในเชิงองค์รวมและงานวิจัยเฉพาะด้าน  งานศึกษาวิจัยที่ดำเนิน
ที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยขั้นพื้นฐาน  และดำเนินการโดยหน่วยราชการ  เช่นกรมประมง  สถาบันเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
ชายฝั่งจังหวัดสงขลา  สถาบันเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดปัตตานี  คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  
วิทยาเขตปัตตานี  ส่วนงานวิจัยเชิงประยุกต์นั้นมีอยู่น้อยและครอบคลุมเพียงบางเรื่อง  เช่น  การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง  เป็นต้น
          โครงการจัดตั้งศูนย์ศึกษาและพัฒนาอ่าวปัตตานี  จึงได้มีการศึกษาวิจัยภูมิลักษณ์อ่าวปัตตานี  เป็นผลงานที่เกิดจาก
การบูรณาการความรู้ด้านต่าง  ๆ ที่เกี่ยวกับอ่าวปัตตานี  ทั้งจากการศึกษาเอกสารและการสำรวจภาคสนาม  นอกจากนั้นยังใช้วิธี
การสังเกตติดตามการเปลี่ยนแปลงของอ่าวปัตตานีในบางกรณี  เช่นการแพร่กระจายของสาหร่ายทะเลและหญ้าทะเล  การเจริญ
เติบโตของป่าชายเลน  นอกจากนี้ยังได้มีการนำมิติทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่อ่าวปัตตานีเพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดในยุค
ปฏิรูปการศึกษาที่เน้นความเป็นองค์รวมการนำเสนอความรู้เกี่ยวกับอ่าวปัตตานี  มีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับรูปลักษณ์ของ
อ่าวปัตตานีและความสำคัญด้านต่าง  ๆ  เขตนิเวศอ่าวปัตตานี  ธรณีสัณฐานชายฝั่ง  ระบบการระบายน้ำ  แหล่งสาหร่ายทะเลและ
หญ้าทะเล  แหล่งสัตว์หน้าดินชายฝั่ง  แหล่งนกชายฝั่ง  ป่าชายเลน  ชุมชนโบราณรอบอ่าวปัตตานี  การทำนาเกลือที่ปัตตานี  และ
สงครามมหาเอเชียบูรพาที่อ่าวปัตตานี
         จากการศึกษาในครั้งนี้พบว่าอ่าวปัตตานีเป็นระบบธรรมชาติที่มีพลวัตสูงมาก  มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา  ข้อค้นพบ
จากการวิจัยบางครั้งอาจจะยังไม่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ทันที  เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปในแต่ละช่วงเวลา  การศึกษา
วิจัยจึงควรพิจารณาถึงมิติเวลาด้วยเสมอ  โดยติดตามการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องในลักษณะของการวิจัยระยะยาว  เช่นการ
เปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำ  การเปลี่ยนแปลงของชายฝั่ง  ความชุกชุมแบะแพร่กระจายของสัตว์น้ำและพืชน้ำ  นอกจากนั้นการศึกษา
ด้านสังคมวัฒนธรรมก็มีความสำคัญเช่นกัน  เช่น  การมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์อ่าวปัตตานี  การสำรวจขุดค้นทางโบราณคดี  
การอนุรักษ์แหล่งโบราณสถานและแหล่งประวัติศาสตร์  การพัฒนาภูมิทัศน์และการจัดการท่งเที่ยวเชิงอนุรักษ์  ฯลฯ  อ่าวปัตตานี
มีพัฒนาการมายาวนานและมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มาหลายยุคหลายสมัย  แม้ว่าจะได้รับการกล่าวถึงมานานว่าอ่าวปัตตานี
เป็นอ่าวประวัติศาสตร์แต่ในความเป็นจริงแล้วยังขาดข้อมูลทางวิชาการจากการศึกษาค้นคว้าอยู่มาก  บางเรื่องยังเป็นเพียงตำนาน
และคำบอกเล่า  บางเรื่องแม้ว่าปรากฏในเอกสารบันทึกของชาวต่างประเทศ  แต่การสำรวจขุดค้นทางโบราณคดีก็ยังดำเนินการ
ไปได้ไม่มากนัก  การศึกษาวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับอ่าวปัตตานีในอนาคตจึงควรดำเนินการควบคู่กันไปในทางนิเวศวิทยา  
เศรษฐกิจ  สังคมและประวัติศาสตร์โบราณคดี  ทั้งนี้เพื่อก่อให้เกิดองค์รวมของความรู้และเกิดดุลยภาพระหว่างการพัฒนาและการ
อนุรักษ์  โดยคำนึงถึงความยั่งยืนของอ่าวปัตตานี  ในฐานะได้รับการยกย่องเป็นอ่าวที่ “ควรค่าแก่การอนุรักษ์”  และเป็นอ่าวที่
“มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์” อย่างแท้จริง  
         
                                               *************************************


โดย : * [ วันที่ ]