: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ 7 ฉบับที่ 01 ประจำเดือน 01 2547
หัวข้อข่าว : ม.อ. ปัตตานี รับเป็นพี่เลี้ยงให้ 25 โรงเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามโครงการหนึ่งอำเภอ หนึ่งโรงเรียนในฝัน
รายละเอียด :
         มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  เป็นที่พึ่งให้ชุมชนโดยเข้าร่วมโครงการ
หนึ่งอำเภอหนึ่งโรงเรียนในฝัน  ร่วมพัฒนาการศึกษาระดับรากหญ้า  รับเป็นพี่เลี้ยงให้  25  โรงเรียน
ในจังหวัดปัตตานีและนราธิวาส  โดยยึดหลักการศึกษาที่มีคุณภาพ  มีพื้นฐานการเรียนรู้ที่ดี  พัฒนา
ตนเองด้านแรงงานและคุณภาพชีวิตสูงขึ้น  สามารถหลุดพ้นวงจรความยากจน
         ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินโครงการหนึ่งอำเภอ
หนึ่งโรงเรียนในฝัน  โดยมีแนวคิดที่ว่าการศึกษาสามารถพัฒนาบุคคลให้เป็นบุคคลที่มีคุณภาพ  
สามารถลดช่องวางของบุคคลในสังคมได้  โดยมีสถาบันอุดมศึกษาและสถาบันราชภัฏในพื้นที่
เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอนและยังเป็นการเพิ่มพูนทักษะการปฏิบัติจริงแก่นักศึกษา
เสมือนเป็นโรงเรียนสาธิตของสถาบันนั้น  ๆ
         รศ. ผดุงยศ  ดวงมาลา  รองอธิการบดี  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  
กล่าวว่าโครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งโรงเรียนในฝัน  เป็นโครงการพัฒนาแนวคิดและหลักการและเป็น
กระบวนการพัฒนาโรงเรียนให้เป็นโรงเรียนในฝันของประชาชนที่ต้องการให้เยาวชนได้รับการศึกษา
จากโรงเรียนที่มีคุณภาพ  โดยในส่วนของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  ได้พิจารณา
เลือกดูแลโรงเรียนในโครงการจำนวน  25  โรงเรียน  ในเขตพื้นที่จังหวัดปัตตานี  12  โรงเรียน  
และจังหวัดนราธิวาส  13  โรงเรียน  โดยทำหน้าที่ดูแลเป็นพี่เลี้ยงพัฒนาโรงเรียนในโครงการ
อย่างต่อเนื่อง  ทั้งนี้เพื่อกระจายโรงเรียนที่มีคุณภาพมาตรฐานให้ทั่วถึงทุกอำเภอ  เพื่อให้เด็ก
และเยาวชนในชนบทมีโอกาสเข้ารับการศึกษาที่มีคุณภาพ  อันเป็นพื้นฐานให้สามารถเรียนรู้ด้วย
ตนเองตลอดชีวิต  คิดให้เท่าทันโลกอนาคตที่จะเกิดขึ้น  ทำให้เด็กเติบโตด้วยความเชื่อมั่นและ
มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
         โรงเรียนในฝันที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  ดูแลรับผิดชอบ
ประกอบด้วย
         โรงเรียนในจังหวัดปัตตานี  จำนวน  12  โรงเรียน  ดังนี้
         1.  อำเภอเมือง          โรงเรียนเมืองปัตตานี
         2.  อำเภอหนองจิก          โรงเรียนวัดมุจลินทวาปีวิหาร
         3.  อำเภอโคกโพธิ์          โรงเรียนบ้านโคกโพธิ์
         4.  อำเภอยะหริ่ง          โรงเรียนสุวรรณไพบูลย์
         5.  อำเภอมายอ          โรงเรียนศิริราษฎร์สามัคคี
         6.  อำเภอสายบุรี          โรงเรียนสายบุรี  “แจ้งประชาคาร”
         7.  อำเภอปะนาเระ          โรงเรียนท่าข้ามวิทยาคาร
         8.  อำเภอกะพ้อ          โรงเรียนบ้านวังกะพ้อพิทยาคม
         9.  อำเภอทุ่งยางแดง          โรงเรียนพระราชประสงค์บ้านทรายขาว
         10.  อำเภอไม้แก่น          โรงเรียนไม้แก่นกิตติวิทย์
         11.  อำเภอแม่ลาน          โรงเรียนแม่ลานวิทยา
         12.  อำเภอยะรัง          โรงเรียนประตูโพธิ์วิทยา
         โรงเรียนในจังหวัดนราธิวาส  จำนวน  13  โรงเรียน  ดังนี้
         1.  อำเภอเมืองนราธิวาส            โรงเรียนนราสิกขาลัย
         2.  อำเภอตากใบ          โรงเรียนตากใบ
         3.  อำเภอบาเจาะ          โรงเรียนบาเจาะ
         4.  อำเภอยี่งอ          โรงเรียนร่มเกล้า
         5.  อำเภอระแงะ          โรงเรียนตันหยงมัส
         6.  อำเภอแว้ง          โรงเรียนเวียงสุวรรณวิทยาคม
         7.  อำเภอสุไหงโก – ลก   โรงเรียนสุไหงโก – ลก
         8.  อำเภอศรีสาคร          โรงเรียนศรีวารินทร์
         9.  อำเภอสุคิริน          โรงเรียนสุคิรินวิทยา
         10.  อำเภอจะแนะ          โรงเรียนสวนพระยาวิทยา
         11.  อำเภอเจาะไอร้อง          โรงเรียนบ้านเจาะไอร้อง
         12.  อำเภอสุไหงปาดี          โรงเรียนมัธยมสุไหงปาดี
         13.  อำเภอรือเสาะ          โรงเรียนรือเสาะชนูปถัมภ์
         การพัฒนาโรงเรียนเพื่อให้เป็นโรงเรียนในฝันนั้นมีกลยุทธ์หลักสำคัญอยู่  5  ประการคือ  
ประการแรก  การสร้างพลังขับเคลื่อนให้โรงเรียนมีระบบบริหารจัดการโรงเรียนที่ดี  คล่องตัว  
มีประสิทธิภาพให้โรงเรียนมีบรรยากาศและวัฒนธรรมการปฏิบัติงานตามแบบกัลยาณมิตร  โดยมี
การผนึกพลังสร้างสรรค์และร่วมกันรับผิดชอบ  สร้างเอกลักษณ์ให้มีความโดดเด่นโดยใช้โรงเรียน
เป็นฐานในการพัฒนา  ประการที่สอง  การพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการจัดการเรียนรู้เชิงบูรณาการ  
โดยมีการจัดการเรียนการสอนที่มีความยืดหยุ่น  เน้นการบูรณาการการเรียนรู้ควบคู่กับการดำรงชีวิต  
เพื่อเพิ่มระดับคุณภาพมาตรฐานการศึกษาของโรงเรียนให้สูงขึ้น  ซึ่งจะส่งผลให้ผู้เรียนได้พัฒนา
ความรู้ความสามารถ  เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้  คิดวิเคราะห์สามารถแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง  
มีความคิดสร้างสรรค์  มีทักษะการดำรงชีวิต  มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ประเพณี  ศิลปวัฒนธรรม
ไทยและภูมิปัญญาท้องถิ่น  ประการที่สาม  สร้างเสริมศักยภาพบุคลากรทุกระดับให้เป็นมืออาชีพ  
เช่น  บุคลากรทางการศึกษา  มีจิตวิญญาณในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา  ซึ่งจะส่งผลต่อ
การจัดกระบวนการเรียนรู้  และพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ประการที่สี่  
เพิ่มสมรรถนะของโรงเรียนในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารโดยการเพิ่มศักยภาพ
บุคลากร  ให้มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการจัดกระบวนการ
เรียนรู้และบริหารจัดการ  และเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียน  ประการที่ห้าคือระดมสรรพกำลัง
สร้างระบบเครือข่ายอุปถัมภ์งบประมาณและทรัพยากรทางการศึกษา  ซึ่งจะเป็นพลังสำคัญที่ได้
จากการมีส่วนร่วมของชุมชน  องค์กร  และประชาคม  ซึ่งกลยุทธ์หลักทั้งห้าประการที่กล่าวมาคือ
พันธกิจสำคัญที่จะส่งผลให้โรงเรียนในฝันเป็นโรงเรียนชั้นดี  ที่จะทำให้เด็กไทยได้เรียนรู้ด้วย
ตนเองตลอดชีวิต  สามารถวิเคราะห์  มีความสามารถด้านเทคโนโลยี  มีคุณธรรมและมั่นใจ
ตนเอง
         รองอธิการบดี  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  กล่าวถึงลักษณะ
โรงเรียนในฝันว่าเป็นการจัดการศึกษาได้คุณภาพมาตรฐาน  ปฏิรูปการเรียนรู้โดยเน้นผู้เรียนเป็น
สำคัญสอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่นแข่งขันได้ในระดับสากล  โรงเรียนในฝันต้องเป็น
ตัวอย่างการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในระดับอำเภอที่มีคุณภาพมาตรฐาน  มีการบริหารจัดการที่มี
ประสิทธิภาพ  คล่องตัว  มีความเข้มแข็งทางวิชาการ  สามารถเป็นต้นแบบเป็นแหล่งเรียนรู้  
ตลอดจนช่วยเหลือพัฒนาชุมชน  เป็นต้นแบบให้โรงเรียนอื่น  ๆ  นำนวัตกรรมทางการศึกษา
ที่ทันสมัยไปพัฒนาโรงเรียน  นอกจากนี้ต้องมีสื่อและเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพียงพอเป็นระบบ
เครือข่ายและเอื้อต่อการเรียนรู้ร่วมกัน

                                             ****************************************
โดย : * [ วันที่ ]