: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ฉบับที่ 31 ประจำเดือน 05 2550
หัวข้อข่าว : องค์กรรัฐและเอกชนเปิดศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ภาคใต้ที่ ม.อ. ปัตตานี เพื่อเป็นฐานข้อมูลสารสนเทศ ให้เกิดกระบวนการเรียนรู้เหตุการณ์ภาคใต้
รายละเอียด :
         องค์กรรัฐและเอกชน    ร่วมเปิดศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ภาคใต้ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  
วิทยาเขตปัตตานี  เพื่อจัดทำเป็นฐานข้อมูลสารสนเทศทางวิชาการในเชิงลึก  วิเคราะห์  และสรุปสถานการณ์  ให้เป็นที่ศึกษา
ค้นคว้า  เป็นแหล่งอ้างอิง  ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้เหตุการณ์ภาคใต้ร่วมกันของคนในสังคม  ช่วยกันเฝ้าระวัง  เข้าใจปัญหา  
และเป็นแนวทางให้รัฐบาลแก้ปัญหาให้ถูกทาง
         ผศ. ดร. ศรีสมภพ  จิตร์ภิรมย์ศรี   รองคณบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาชุมชน   คณะรัฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลา
นครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  ประธานโครงการศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ภาคใต้  กล่าวว่าเหตุการณ์ความรุนแรง
ในพื้นที่  3  จังหวัดชายแดนภาคใต้  ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในตลอดระยะเวลา 2  ปีที่ผ่านมา  เกิดความผันผวนของ
ข้อมูลข่าวสารที่ส่งผลต่อการรับรู้  การเปลี่ยนแปลงทางทัศนคติ  ความเชื่อของสังคมทั้งภายในพื้นที่และภายนอกตลอดเวลา  
มีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาข้อมูลเป็นอย่างมาก  เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีความซับซ้อนของโครงสร้าง   ความสัมพันธ์
เชิงอำนาจทั้งในระดับและมิติต่าง  ๆ  กันจนยากแก่การแก้ไขปัญหา  จึงต้องมีข้อมูลและการใช้เหตุผลอย่างถูกต้องเหมาะสม
ก่อนเป็นอันดับต้น  ดังนั้น  คณะรัฐศาสตร์และคณะวิทยาการสื่อสาร  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  สถาบัน
ข่าวอิศรา  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย ชมรมแพทย์
ชนบท  ตัวแทนองค์กรครู  3  จังหวัดชายแดนภาคใต้  และโครงการก่อตั้งมูลนิธิสื่อสารสาธารณะ  (PUDSA)  จึงได้จัดตั้ง  
“ศูนย์เฝ้าระวังเชิงความรู้สถานการณ์ภาคใต้”  ขึ้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคม  2549  เป็นต้นมา  โดยมีแนวคิดเพื่อพัฒนา
ระบบฐานข้อมูลและสารสนเทศเหตุการณ์ใน  3  จังหวัดชายแดนภาคใต้  ให้เป็นศูนย์ข้อมูลและความรู้สารสนเทศสำหรับ
สื่อมวลชนและวงการวิชาการ  ใช้เป็นที่ศึกษาค้นคว้าและการอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ  โดยศูนย์เฝ้าระวังฯ  ได้รวบรวมข้อมูลทาง
วิชาการด้านต่าง  ๆ  ทั้งลึกและกว้าง  เพื่อเสนอการวิเคราะห์สรุปสถานการณ์และพัฒนาตัวชี้วัดการเปลี่ยนแปลงเหตุการณ์
ทั้งด้านโครงสร้างเศรษฐกิจ  สังคม  การเมือง  สถานการณ์ในชุมชน  และกลุ่มคนในสังคมต่าง  ๆ  พร้อมทั้งพัฒนาระบบ
ข้อมูลเฝ้าระวังสถานการณ์  ด้านโครงสร้างของความรุนแรง  การเปลี่ยนแปลงทัศนคติและความรู้สึกของสังคม  ชุมชน  
ที่เข้ามาช่วยในแง่ของการนำความรู้ที่ได้จากการประมวลผลไปสื่อสารสาธารณะ  เพื่อขับเคลื่อนทางสังคมอย่างมีพลวัตร
         ผศ. ดร. ศรีสมภพ  จิตร์ภิรมย์ศรี  กล่าวเพิ่มเติมว่าศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ภาคใต้  จัดตั้ง
ขึ้นมาเพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้เหตุการณ์ภาคใต้ โดยใช้ข้อมูลและการคิดค้นหาเหตุผล ภายใต้เป้าหมายสำคัญคือ  
เพื่อทำให้เหตุการณ์ในภาคใต้กลายเป็นแหล่งศึกษาอ้างอิงในการเรียนรู้ทางสังคม  ทั้งนี้เพื่อให้สื่อมวลชน  นักวิชาการ  
และประชาชนทั่วไป  ได้ช่วยกันเฝ้ามองและเข้าใจปัญหาในกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของคนในสังคม ทั้งนี้ข่าย
ความร่วมมือของศูนย์เฝ้าระวังฯ จะร่วมกันพัฒนาระบบข้อมูลเฝ้าระวังสถานการณ์ทั้งด้านโครงสร้างของความรุนแรง  
การเปลี่ยนแปลงทัศนคติ  และความรู้สึกของสังคมและชุมชนต่อเหตุการณ์  รวมทั้งพัฒนาตัวชี้วัดการเปลี่ยนแปลง
เหตุการณ์ทั้งทางด้านโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมและการเมือง  สถานการณ์ในชุมชน  กลุ่มคนในสังคมในแง่ต่าง  ๆ  
ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาระบบฐานข้อมูลและสารสนเทศในเหตุการณ์ภาคใต้  อันจะกลายเป็นศูนย์ข้อมูลและความรู้
สารสนเทศ  (Resources  Center)  สำหรับวงการสื่อมวลชนและวงการวิชาการ  เพื่อการศึกษาค้นคว้าและการอ้างอิง
ที่น่าเชื่อถือต่อไปได้ด้วย
         ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและติดต่อได้ที่  ผศ. ดร. ศรีสมภพ  จิตร์ภิรมย์ศรี  รองคณบดี
ฝ่ายวิจัยและพัฒนาชุมชน  คณะรัฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  ประธานโครงการ
ศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ภาคใต้  หรือเว็บไซต์  http://www.deepsouthwatch.org.


                                                                *********************************
โดย : * [ วันที่ ]