: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ฉบับที่ 22 ประจำเดือน 03 2550
หัวข้อข่าว : ม.อ. ปัตตานี เปิดฐานข้อมูลงานวิจัยจังหวัดชายแดนภาคใต้ สะท้อนอัตลักษณ์ของพื้นที่ เน้นสร้างความเข้าใจผ่านผลงานวิจัย
รายละเอียด :
         นักวิชาการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี รวบรวมข้อมูลงานวิจัยจังหวัด
ชายแดนภาคใต้ที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้  และเป็นการเปิด
พื้นที่เวทีให้ประชาชนฝึกการใช้อำนาจอย่างสร้างสรรค์  ป้องกันการก่อภัยจากความไม่สงบ  ส่งผล
ให้รัฐบาลใช้เป็นแนวทางหนึ่งในการลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่  3  จังหวัดชายแดนภาคใต้
         ผู้ช่วยศาสตราจารย์อิ่มจิต  เลิศพงษ์สมบัติ   หัวหน้าโครงการฐานข้อมูลวิจัยจังหวัด
ชายแดนภาคใต้    มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  กล่าวว่าจากการศึกษาวิจัย
กรณีสถานการณ์ใน  3  จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ  (วช.)  
พบว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ปี 2547  จนถึงปัจจุบันได้ทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งผล
การวิจัยยังส่อให้เห็นอีกว่าสมมุติฐานของปัญหาดังกล่าวอาจเนื่องมาจากโครงสร้างของ  3  จังหวัด
ชายแดนภาคใต้  ทั้งในด้านการศึกษา  อาชีพ  ยาเสพติด  สังคม  และวัฒนธรรม นโยบายแก้ปัญหา
ของภาครัฐ กระบวนการยุติธรรมในการแก้ปัญหายังไม่ได้ใช้กลไกของกระบวนการยุติธรรม  
ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ  การสื่อสารมวลชนถูกควบคุมและการคำนึงในด้านสิทธิ
มนุษยชน  สำหรับแนวทางแก้ปัญหาได้แก่  การมองปัญหาอย่างเชื่อมโยง
กับประวัติศาสตร์ชาติและ
วัฒนธรรมท้องถิ่น  การจัดการศึกษาโรงเรียนปอเนาะให้สอดคล้องกับสังคมมุสลิม  การทบทวน
นโยบายที่ผ่านมา การยกเครื่องข้าราชการ ไม่ปล่อยให้  3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นที่พักของ
ข้าราชการที่มีพฤติกรรมไม่ดีและถูกย้ายอย่างในอดีต  รัฐต้องพยายามหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง
แก้ปัญหา  เพราะจะเข้าทางของผู้ก่อเหตุความไม่สงบและปัญหารังแต่จะเลวร้ายลง  การหลีกเลี่ยง
การใช้อารมณ์อย่างสุดขั้วในการมองปัญหา  การใช้ความใจกว้าง  ความอดทน  และเข้าใจใน
ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่หลากหลาย  การแก้ปัญหาความไม่ยุติธรรมทางราชการ  เศรษฐกิจ  
และการกระจายให้ประชาชนอย่างแท้จริง
         ผู้ช่วยศาสตราจารย์อิ่มจิต  เลิศพงษ์สมบัติ   กล่าวเพิ่มเติมว่าจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
อย่างต่อเนื่อง  สำนักวิทยบริการ  ร่วมกับคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  
วิทยาเขตปัตตานี  ได้จัดทำฐานข้อมูลวิจัยจังหวัดชายแดนภาคใต้  Southernmost  Provinces  
Research  Database  โดยพัฒนาขึ้นตามข้อเสนอแนะของโครงการวิจัยเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศ
และนิเทศศาสตร์เพื่อสันติสุขของชาติ  เมื่อเดือนกันยายน   2549   ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณ
จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ   ฐานข้อมูลวิจัยนี้จะเป็นช่องทางการนำเสนอข้อมูลจากการ
วิจัยเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้  ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดปัตตานี   ยะลา  และนราธิวาส  ทั้งใน
ด้านการเมืองการปกครอง  ศิลปะและวัฒนธรรมวิถีชีวิตและประเพณี  ประวัติศาสตร์  ภูมิทัศน์  และการ
ท่องเที่ยวทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม  การศึกษาสุขภาพอนามัย  ศาสนา  และกฎหมายข้อมูลเหล่านี้  
จะเป็นเสมือนภาพสะท้อนอัตลักษณ์ของ  3  จังหวัดชายแดนภาคใต้  อันจะสร้างความเข้าใจผ่านผลงาน
วิจัยซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่มีบทบาทในการพัฒนาพื้นที่  นักวิชาการ  นักศึกษา  และผู้สนใจทั่วไป  
ได้ใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นหรือเพื่อการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับ  3  จังหวัดชายแดนภาคใต้  ต่อยอด
จากงานวิจัยเดิม
         ฐานข้อมูลวิจัยจังหวัดชายแดนภาคใต้  เป็นการศึกษาถึงความสัมพันธ์ของปัจจัยที่
เกี่ยวข้อง  4  ส่วน  ได้แก่  บทบาทของสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อด้านนิเทศศาสตร์ของ
ประชาชน  มุมมองทางประวัติศาสตร์  ตลอดจนสื่อชุมชนในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ
สถานการณ์ในพื้นที่  3  จังหวัดชายแดนภาคใต้  แบบแผนการสื่อสารและความต้องการด้าน
ข่าวสารของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้  การรับข่าวสารและทัศนคติของผู้รับข่าวสาร
เกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบ  ผลกระทบของสื่อต่อผู้รับข่าวสาร  และรูปแบบที่เหมาะสม
ของระบบสื่อสารและเครือข่าวสารสนเทศสำหรับประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ทั่วถึง
และเท่าเทียม   เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ   ซึ่งผลการศึกษาจะนำไปสู่การแสวงหาแนวทาง
การแพร่กระจายข่าวสารผ่านสื่อมวลชน สื่อชุมชนและสื่อประเภทต่าง ๆ รวมทั้งหาแนวทางการ
บริหารจัดการองค์กรที่เกี่ยวข้องกับข่าวสารและการสื่อสารในสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่
เอื้อต่อการสร้างสังคมสันติสุข
         การสืบค้นข้อมูลของระบบฐานข้อมูลวิจัยจังหวัดชายแดนใต้  ผู้ใช้สามารถสืบต้นได้จาก
เว็บไซต์  http://soreda.oas.psu.ac.th โดยการระบุคำที่ต้องการสืบค้นในช่องการสืบค้น ซึ่งผู้ใช้
สามารถสืบค้นข้อมูลงานวิจัยจังหวัดชายแดนใต้ผ่านช่องทางการค้นได้ โดยสืบค้นจากกลุ่มงานวิจัย
ที่ต้องการและผู้ใช้สามารถเลือกข้อมูลผ่านทางดัชนีกลุ่มงานวิจัยได้ (Directory  Search) การสืบค้น
ข้อมูลงานวิจัยแบบง่าย (Basic  Search)  เป็นการสืบค้นข้อมูลงานวิจัยแบบละเอียด  (Advanced  Search)  
ในส่วนของการแสดงผลการสืบค้น  มีการแสดงผลการสืบค้นเป็นรายการ  
โดยให้รายการของข้อมูล
งานวิจัยที่แสดงในแต่ละหน้า  ซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปยังรายละเอียดของข้อมูลงานวิจัยและแสดง
จำนวนรายการผลการสืบค้น
         ผู้ช่วยศาสตราจารย์อิ่มจิต  เลิศพงษ์สมบัติ   กล่าวว่าฐานข้อมูลวิจัยจังหวัดชายแดนภาคใต้  
นับเป็นการสร้างพื้นที่เวทีให้ประชาชนฝึกหัดการใช้อำนาจอย่างสร้างสรรค์   เพื่อการป้องกันตนเอง
จากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่  การวิเคราะห์และสังเคราะห์งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับปัญหาชายแดน
ภาคใต้  และการจัดให้มีการประชุมกลุ่มนักวิชาการและผู้ใหญ่ในสังคม  ซึ่งอาจใช้แนวทางหนึ่งในการ
ลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่  3  จังหวัดชายแดนภาคใต้  โดยรัฐบาลนำไปประกอบการตัดสินใจ
ในเชิงนโยบายเกี่ยวกับความสงบสุขในภาคใต้ต่อไป

                                            ******************************
โดย : * [ วันที่ ]