: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ฉบับที่ 04 ประจำเดือน 01 2550
หัวข้อข่าว : นักวิชาการ ม.อ. ปัตตานี วิเคราะห์ปัญหาการจัดการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดจากสภาพปัญหาด้านการเมือง ความเข้าใจของรัฐต่อสังคมวัฒนธรรมในท้องถิ่น
รายละเอียด :
         นักวิชาการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์   วิทยาเขตปัตตานี  พบว่าปัญหาการจัดการศึกษา
ของรัฐที่มีต่อการบูรณาการทางสังคมและวัฒนธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้  ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหา
ด้านการเมือง  ความเข้าใจของรัฐต่อสังคมและวัฒนธรรมท้องถิ่น  จำเป็นต้องมีการปฏิรูปการศึกษา
โดยยึดหลักบูรณาการทางวัฒนธรรม  เพื่อนำสู่การยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมท้องถิ่น
ชายแดนภาคใต้
         ผศ. ไข่มุก  อุทยาวลี  นักวิจัยเรื่องการวิเคราะห์ปัญหาการจัดการศึกษาของรัฐที่มีต่อ
การบูรณาการทางสังคมและวัฒนธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้  พ.ศ. 2460 – 2547  มหาวิทยาลัย
สงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  กล่าวว่าพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีลักษณะพิเศษอันเนื่อง
มาจากบริบททางสังคมและวัฒนธรรม  สิ่งที่สะท้อนความเป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมท้องถิ่นของ
ชาวไทยภาคใต้ตอนล่างปรากฏให้เห็นชัดเจนทั้งด้านศาสนา  ขนบธรรมเนียม  ประเพณี  ค่านิยม  
ตลอดจนการศึกษาของชุมชนซึ่งดำรงอยู่ท่ามกลางบริบทของประวัติศาสตร์  การศึกษาของ
ประชาชนส่วนใหญ่ตั้งแต่อดีตเป็นต้นมา  ชุมชนท้องถิ่นเป็นผู้มีบทบาทดูแล  ดังนั้นระบบการศึกษา
ท้องถิ่นจึงมีบทบาทในการหล่อหลอมเยาวชนไทยมุสลิมให้ตระหนักถึงความสำคัญของการดำรงอยู่
ทางวัฒนธรรมที่สืบทอดมาแต่บรรพบุรุษจนปัจจุบัน
         กล่าวได้ว่าการศึกษาของเยาวชนไทยมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงเกิดขึ้นและ
ดำรงอยู่เพื่อตอบสนองกับสภาพสังคม  วัฒนธรรมของท้องถิ่นเป็นอย่างแนบแน่น  นอกจากนี้ปัญหา
การปกครองท้องถิ่นภาคใต้เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสอดคล้องกับนโยบายการจัดการศึกษาของรัฐ
ที่กระทำควบคู่กันไป  ซึ่งตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  รัฐกำหนดนโยบายการจัดการศึกษาที่ล้มเหลว
ต่อการนำไปใช้ในวิถีชีวิตของคนในปัจจุบัน  ปัญหาบุคลากรทางการศึกษาและการควบคุมกำกับ
ดูแลหลักสูตร  ทำให้เกิดปัญหาการศึกษาที่ถูกนำไปเป็นช่องทางในการสร้างโอกาสต่อต้านอำนาจรัฐ  
ประกอบกับการพัฒนาการศึกษาของเยาวชนยังเป็นไปในลักษณะต่างฝ่ายต่างดำเนินการ จึงขาด
การบูรณาการทางสังคมและวัฒนธรรม การดำเนินนโยบายการพัฒนาท้องถิ่นภาคใต้เป็นไปใน
แนวทางที่ไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมและวัฒนธรรม  
         ดังนั้นปัญหาการต่อต้านอำนาจและกลไกของรัฐจึงมาจากปัญหาการดำเนินการที่
ไม่สอดคล้องกัน  บริบททางวัฒนธรรมเป็นสำคัญและอาจเป็นเงื่อนไขหนึ่งของความไม่สงบและ
ความหวาดระแวงระหว่างประชาชนในพื้นที่  ปัญหาสะสมของการจัดการศึกษาอย่างไม่สอดคล้อง
กับสภาพสังคมวัฒนธรรมท้องถิ่น  สามารถพัฒนาไปสู่สภาพที่เรียกว่าวิกฤติทางวัฒนธรรม   ซึ่งอาจส่งผลต่อสังคมท้องถิ่นและระดับประเทศ
         การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการวิเคราะห์ปัญหาการจัดการศึกษาของรัฐที่มีต่อการบูรณาการ
ทางสังคมและวัฒนธรรม  เป็นแนวทางเบื้องต้นในการประเมินปัญหาจากการวิเคราะห์ข้อมูลของท้องถิ่น  
ซึ่งจำเป็นสำหรับการกำหนดนโยบายการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนและ
การแก้ไขปัญหาการศึกษาของกลุ่มเยาวชนในพื้นที่  ซึ่งยังขาดการทบทวนปัญหาอย่างจริงจัง  การศึกษา
วิจัยเป็นการค้นคว้าข้อมูลพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งในแง่นโยบาย  ด้านประวัติศาสตร์
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  เพื่อเป็นแนวทางของการนำไปสู่การดำเนินการโดยเน้นลักษณะของการบูรณาการ
ทางสังคมวัฒนธรรมท้องถิ่น  นอกจากนี้ยังเป็นการคาดหวังว่าการเข้าใจปัญหาในบริบททางประวัติ
ศาสตร์และวัฒนธรรม  เป็นแนวทางหนึ่งที่ทำให้เกิดความเข้าใจพื้นฐานของปัญหาด้านการจัดการศึกษา
ของท้องถิ่นภาคใต้ตอนล่าง  เพื่อเป็นแนวทางของการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดน
ภาคใต้ได้อย่างแท้จริง
         ผศ. ไข่มุก  อุทยาวลี  เปิดเผยถึงผลการวิจัยการจัดการศึกษาของรัฐที่มีต่อการบูรณาการ
ทางสังคมและวัฒนธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้  พ.ศ. 2460–2547  พบว่าในช่วงแรกระหว่างปี  
พ.ศ. 2460–2500  การศึกษาในสังคมท้องถิ่นผูกพันกับวัฒนธรรม  ศาสนา  ชาติพันธุ์  การศึกษาเป็นไป
โดยวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นที่สืบทอดกันมา  สะท้อนอัตลักษณ์ของผู้คนท้องถิ่นภาคใต้ตอนล่าง  
สภาพการศึกษาของคนในสังคมเริ่มเปลี่ยนแปลงจากนโยบายของรัฐที่เน้นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรม
และการศึกษาแห่งชาติ  ระหว่างปี  พ.ศ. 2500 – 2520  สภาพการจัดการศึกษาของรัฐเกิดจาก
ปัญหาด้านการเมืองและความเข้าใจของรัฐที่มีต่อสังคม  ต่อวัฒนธรรมท้องถิ่น  เป็นอุปสรรคโดยตรง
ต่อการพัฒนาการศึกษาในภาคใต้  ผลที่ตามเกิดการต่อต้านระบบการศึกษาแห่งชาติรุนแรง  การศึกษา
ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมต่อต้านการจัดการศึกษาหลังปี  พ.ศ. 2520 – 2547  พบว่า
ระบบการศึกษาแห่งชาติดำเนินไปในสองแนวทางคือ  แนวทางแรกยังเป็นการจัดการศึกษาในกรอบ
วัฒนธรรมระดับชาติ  และแนวทางที่สองคือการคงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของคนในท้องถิ่น  เพื่อเป็น
การยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมในระบบการศึกษา
         ผศ. ไข่มุก  อุทยาวลี  เสนอแนะว่าการศึกษาแนวทางในการพัฒนาการศึกษาเพื่อแก้ไข
ปัญหาการศึกษาในอดีตที่เป็นปัญหาเชิงสังคม  วัฒนธรรม  ควรพิจารณาปัจจัยรอบด้านเพื่อสะท้อน
ความเป็นจริงของสังคมวัฒนธรรมท้องถิ่น  การจัดการศึกษาที่คนในท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการรับรู้
การดำเนินการการจัดหลักสูตร  เพื่อที่บุตรหลานของคนในท้องถิ่นเองจะได้รับบริการทางการศึกษา
ที่เหมาะสมกับสภาพทางสังคม  วัฒนธรรม  อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่สังคมไทย  รัฐไทย  ได้เรียนรู้ปัญหา
อุปสรรคสำหรับการพัฒนาประเทศ  โดยเฉพาะปัญหาสำหรับพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ที่ยังคงมีกระแสการเรียกร้องถึงการยอมรับความหลากหลายในเอกลักษณ์ของไทยผ่านระบบการ
ศึกษา  ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศ  ดังนั้นการศึกษาวิจัยดังกล่าวจึงเป็นการประมวล
การศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการจัดการศึกษาของรัฐ  ซึ่ง
การสรุปปัญหาจากประวัติศาสตร์อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาสังคม
ท้องถิ่น  โดยอาศัยระบบการศึกษาของรัฐเป็นกลไกหนึ่งที่สามารถยกระดับภูมิปัญญาที่มีอยู่ของคน
หลากหลายวัฒนธรรมในท้องถิ่นชายแดนใต้  บนพื้นฐานของความเสมอภาค  ความยุติธรรม  และ
การให้โอกาสทางการศึกษาของคนในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน  ท่ามกลางพลวัตขององค์ความรู้ท้องถิ่น
และองค์ความรู้ระดับชาติที่จำเป็นต้องก้าวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม  การเมือง  และ
สภาพเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน  ดังนั้นแนวทางการจัดการศึกษาที่เหมาะสมกับท้องถิ่นนั้น ควรให้
ความสำคัญต่อการปฏิรูปการศึกษาสำหรับภาคใต้อย่างจริงจัง โดยยึดหลักการบูรณาการทางสังคม
และวัฒนธรรมในการจัดการศึกษา เพื่อนำไปสู่แนวทางการยอมรับความหลากหลายในเอกลักษณ์
ของชาติ  อีกทั้งเป็นการส่งเสริมสังคมสันติสุขให้มีความยั่งยืนในจังหวัดชายแดนภาคใต้  อันเนื่องจาก
ความเหมาะสมของระบบการศึกษาในท้องถิ่น

                                                    ***********************************


โดย : * [ วันที่ ]