: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ฉบับที่ 62 ประจำเดือน 09 2549
หัวข้อข่าว : ม.อ. ปัตตานี และมูลนิธิเอเชีย จัดทำพจนานุกรมภาษาไทย – มลายูถิ่นปัตตานี เสริมสร้างความเข้าใจ ด้วยแนวทางสันติวิธี
รายละเอียด :
         โครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขต
ปัตตานี  ระดมนักภาษาศาสตร์จัดทำพจนานุกรมภาษาไทย – มลายูถิ่นปัตตานี  เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจ  
เรียนรู้ความหลากหลายทางวัฒนธรรม  สนองยุทธศาสตร์แก้ปัญหาความไม่สงบชายแดนใต้ด้วยแนวทางสันติวิธี
         ผศ. ดร. วรวิทย์  บารู  ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา  
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  กล่าวว่าภาษาเป็นเครื่องมือที่มนุษย์ใช้ในการติดต่อสื่อสาร
ให้เข้าใจตรงกัน  ดังนั้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ใช้ภาษามลายูถิ่น  ซึ่งมีลักษณะ
แตกต่างจากภาษามลายูมาตรฐานที่ใช้กันอยู่ในประเทศมาเลเซีย ภาษามลายูถิ่นเป็นกลุ่มภาษาที่มีศัพท์  
สำเนียง  และคำยืมจากหลายภาษา  นอกจากนี้ภาษามลายูถิ่นยังสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรม  ความเป็นอยู่  
และวิถีชีวิตของชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย  ซึ่งมีความเป็นเอกลักษณ์  ที่ผ่านมา
ได้มีนักวิชาการทั้งชาวไทยมุสลิมในท้องถิ่นและชาวต่างประเทศพยายามจัดทำพจนานุกรม แต่จะเป็นใน
ลักษณะของการประมวลคำศัพท์ภาษามลายูถิ่นปัตตานีมากกว่าจะเป็นพจนานุกรมที่มีมาตรฐานทาง
วิชาการและสามารถนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ  ประกอบกับปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงความหมาย
ของคำในภาษาและมีการเลิกใช้คำบางคำ      อีกทั้งความสำคัญของสังคมไทยที่จะต้องเรียนรู้ภาษาและ
วัฒนธรรมความหลากหลายในชาติ  อันเป็นส่วนสำคัญต่อการสร้างความมั่นคงและความสันติสุขใน
ประเทศไทยขึ้นมา  จึงจำเป็นที่จะต้องมีการค้นคว้า  รวบรวม  และตรวจสอบคำศัพท์  เพื่อจัดทำพจนานุกรม
ภาษาไทย – มลายูถิ่นปัตตานี  ที่ทันสมัยและเป็นประโยชน์แก่นักศึกษาและผู้สนใจทั่วไป  โดยเฉพาะ
อย่างยิ่งสำหรับข้าราชการที่ต้องการสื่อสารกับประชาชนในท้องถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้  อันเป็น
ดินแดนของสังคมพหุวัฒนธรรม  จึงได้มีการศึกษาวิจัยเพื่อจัดทำพจนานุกรมภาษาไทย– มลายูถิ่น  
เพื่อรวบรวมคำศัพท์ภาษามลายูถิ่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในการกำหนดลักษณะคำ  ความหมาย  
และตัวอย่างการใช้คำที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน  ประกอบกับใช้สำหรับแจกจ่ายให้แก่หน่วยงาน
ภาครัฐและเยาวชนในพื้นที่  3  จังหวัดชายแดนภาคใต้
         ผศ. ดร. วรวิทย์  บารู  กล่าวเพิ่มเติมว่าโครงการดังกล่าวเป็นผลงานที่สามารถตอบสนองยุทธศาสตร์
การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยแนวทางสันติวิธี  ในประเด็นความเข้าใจในความหลากหลายของ
ภาษาและวัฒนธรรมภายในชาติ  มีพจนานุกรมภาษาไทย – มลายูถิ่นปัตตานี  ที่เป็นมาตรฐานถูกต้อง
ตามหลักพจนานุกรมที่สามารถนำไปใช้อ้างอิงได้   ซึ่งหน่วยงานที่นำผลการวิจัยไปใช้ประกอบด้วยข้าราชการ
ที่ปฏิบัติงานใน   3   จังหวัดชายแดนภาคใต้    ที่ต้องการสื่อสารกับประชาชนในท้องถิ่นจังหวัดชายแดน
ภาคใต้   หน่วยงานด้านความมั่นคงและวัฒนธรรมในทุกระดับ  นักวิชาการ  นักสื่อสารมวลชน นักเรียนนักศึกษา
ตลอดจนผู้สนใจทั่วไปที่จะมีพจนานุกรมที่รวบรวมคำภาษามลายูถิ่นเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน

                                                      ************************************
         
โดย : * [ วันที่ ]