: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ฉบับที่ 57 ประจำเดือน 08 2549
หัวข้อข่าว : คณะรัฐศาสตร์ ม.อ. ปัตตานี เปิดเวทีให้นักวิชาการในและต่างประเทศ นำเสนอความรู้ด้านรัฐศาสตร์และ รัฐประศาสนศาสตร์ส่วนภูมิภาคภาคใต้
รายละเอียด :
           ศูนย์ประสานงานสถาบันเครือข่ายรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ภาคใต้   คณะรัฐศาสตร์  มหาวิทยาลัย
สงขลานครินทร์   วิทยาเขตปัตตานี    จัดประชุมวิชาการทางรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ส่วนภูมิภาคภาคใต้  
ในประเด็นก้าวข้ามพรมแดนแห่งความรู้  :  การเมือง  ศาสนา   วัฒนธรรม  และพลังแห่งท้องถิ่น   ระหว่างวันที่  7  
ถึงวันที่   8  กันยายน  2549   ณ   โรงแรม  ซี. เอส. ปัตตานี   เพื่อเปิดโอกาสและเป็นเวทีให้นักวิชาการ
ทั้งในประเทศและต่างประเทศ  แลกเปลี่ยนและมีส่วนร่วมในการเสนอความรู้เพื่อประโยชน์ต่อการแก้ปัญหา
ของประเทศ
         ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปิยะ  กิจถาวร  รักษาการในตำแหน่งคณบดีคณะรัฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  
วิทยาเขตปัตตานี  กล่าวว่าการเมืองการปกครองและการบริหารของประเทศไทยในรอบหลายปีที่ผ่านมา  มีการ
เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วทั้งด้านการเมือง  เศรษฐกิจ  สังคม  และวัฒนธรรม  ในการนี้ได้มีปรากฏการณ์
ต่าง  ๆ  เกิดขึ้นมากมาย  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับเรื่องของรัฐและพลังประชาสังคม จึงทำให้เกิด
กระแสของการต่อสู้ทางการเมืองที่หลากหลายและซับซ้อน  แสดงให้เห็นมิติใหม่  ๆ  ของการเมืองไทย
ทั้งในแง่การเมืองแห่งอัตลักษณ์  การเมืองแห่งวัฒนธรรม  การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจของท้องถิ่นและ
ชุมชน  ปัญหาการกระจายอำนาจสู่ประชาชน  และการหารูปแบบที่เหมาะสมในการปกครองส่วนท้องถิ่น  
ปัญหาที่รุนแรงสะท้อนให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมในภาคใต้ที่มีปัญหาทั้งเรื่องอัตลักษณ์  การจัดการทรัพยากร  
และการมีส่วนร่วมของประชาชน  แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม
ในด้านต่าง  ๆ  แต่จากระยะเวลาที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า  ปัญหาต่าง  ๆ  ก็ยังมีมากขึ้นและคลี่คลายไปสู่มิติใหม่  
ซึ่งเป็นปัญหาที่รุนแรงและซับซ้อนยิ่งไปกว่าเดิมเช่น  ปัญหาความรุนแรงของการต่อสู้เพื่ออัตลักษณ์ทาง
ชาติพันธุ์  ศาสนา  และวัฒนธรรมของภาคใต้  การต่อสู้ของภาคประชาชนในกระบวนการการคัดค้านการใช้
อำนาจของรัฐบาลปัจจุบันที่ถูกมองว่าเป็นระบบแห่งผลประโยชน์ซับซ้อน  การรวบรวมองค์ความรู้  แนวคิด  
ตลอดจนการแสวงหาองค์ความรู้ทางวิชาการภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลง  โดยเฉพาะปัญหาในภาคใต้  
จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาการใหม่ในระดับท้องถิ่น  ระดับภูมิภาค  และระดับชาติ  กล่าวได้ว่า
ความรู้ทางรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ในประเทศไทย  กำลังก้าวข้ามพรมแดนใหม่ขององค์ความรู้
ที่มีหลากหลายมิติและมีความเข้มข้นซับซ้อน
         ผศ. ปิยะ  กิจถาวร  กล่าวเพิ่มเติมว่า  สถาบันการศึกษาทางรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ในพื้นที่
ภาคใต้ในฐานะองค์กรทางวิชาการ  เพื่อตอบสนองความต้องการของท้องถิ่นและประเทศ  จึงได้ร่วมกันหา
หนทางใหม่ในการศึกษารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ภาคใต้และระดับประเทศ เพื่อก้าวข้ามพรมแดน
แห่งความรู้ในการศึกษาการเมืองเชิงวัฒนธรรม  อัตลักษณ์  ศาสนา  และพลังของท้องถิ่น  นำองค์ความรู้
ด้านรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์มาทำความเข้าใจ  อธิบาย  และมองหาแนวทางแก้ปัญหาความ
ขัดแย้งในด้านเศรษฐกิจ  สังคม  การเมือง  และวัฒนธรรมของประเทศ  รวมถึงการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่
เกี่ยวกับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว  คณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ  
สาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์  สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ  ร่วมกับสถาบันเครือข่าย
รัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ภาคใต้  จึงได้จัดการประชุมวิชาการทางรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์
ส่วนภูมิภาคภาคใต้  ประจำปี  2549  ในประเด็นก้าวข้ามพรมแดนแห่งความรู้  :  การเมือง  ศาสนา  วัฒนธรรม  
และพลังแห่งท้องถิ่น  ระหว่างวันที่  7 – 8  กันยายน  2549  ณ  โรงแรม  ซี. เอส. ปัตตานี  อ. เมือง  จ. ปัตตานี  
การประชุมวิชาการดังกล่าวจะเป็นการเปิดโอกาสและเป็นเวทีที่เหมาะสมที่จะให้นักวิชาการทั้งในภาคใต้  
ในประเทศ  และระหว่างประเทศ  รวมถึงประชาชนและองค์กรชมุชนที่สนใจงานวิชาการด้านนี้ได้แลกเปลี่ยน  
เรียนรู้  และมีส่วนร่วมในการเสนอความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน  ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ต่อการแก้ปัญหา
ของประเทศชาติส่วนรวมต่อไป
       การประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ในส่วนภูมิภาคภาคใต้ในครั้งนี้ มีการแสดงปาฐกถา
พิเศษเรื่อง  ความสมานฉันท์และสันติวิธี  :  แนวทางแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้  โดย  ฯพณฯ  อานันท์  
ปันยารชุน  ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ  นักรัฐศาสตร์กับสถานการณ์การเมือง
ไทยในปัจจุบัน  โดย  รศ. ดร. ไชยยันต์  ไชยพร  คณะรัฐศาสตร์  จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย  นโยบาย
สาธารณะและการกระจายอำนาจในภาคใต้  โดย  ศ. ดร. จรัส  สุวรรณมาลา  คณะรัฐศาสตร์  จุฬาลงกรณ
มหาวิทยาลัย  นอกจากนี้มีการนำเสนอผลงานวิชาการในประเด็นที่เกี่ยวกับการเสริมพลังอำนาจการเมือง
ภาคประชาชนในภาคใต้  การกระจายอำนาจการปกครองท้องถิ่นในภาคใต้  การจัดการชายแดนภาคใต้และ
นโยบายสาธารณะที่มีผลกระทบต่อชายแดนใต้  การจัดการความขัดแย้งและการเมืองว่าด้วยความ
สมานฉันท์ของภาคใต้  Crossing  Borders  ซึ่งเป็นการนำเสนอผลงานวิจัยและวิชาการเรื่อง  การเมืองใน
ภาคใต้และในภูมิภาคใกล้เคียง  จากนักวิชาการต่างประเทศ  การนำเสนอผลงานทางวิชาการเรื่อง  ศาสนธรรม
กับการเมือง  :  ทางเลือกและทางรอดวัฒนธรรม  อัตลักษณ์และการเมืองภาคใต้  การนำเสนอผลงาน
วิชาการของบัณฑิตศึกษาและงานวิจัยอิสระเกี่ยวกับรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ในภาคใต้  การเปิด
เวทีให้เยาวชนแสดงความคิดเห็น  ผู้แทนนักศึกษาสถาบันภาคใต้อภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็น   การนำ
เสนองานวิจัยนักศึกษาและการตอบปัญหาเรื่องรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์  และกิจกรรมทัศนศึกษา
วิจัยชุมชน  ที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้มีการศึกษาดูงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่  มีการลงพื้นที่จริง
สัมผัสวิถีชีวิตชุมชน

                                                       **************************************
โดย : * [ วันที่ ]