: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ฉบับที่ 02 ประจำเดือน 01 2549
หัวข้อข่าว : ม.อ. ปัตตานี จัดอบรมการเพาะเลี้ยงหอยหวาน อาชีพใหม่ที่น่าทำ
รายละเอียด :
         คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  จัดอบรม
การเพาะเลี้ยงหอยหวาน  ระหว่างวันที่  9 – 10  มกราคม  2549  ณ  คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  และหน่วยวิจัยและเพาะฟักสัตว์น้ำ  ตำบลสะกอม  อำเภอ
เทพา  จังหวัดสงขลา  เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการเพาะพันธุ์  การเลี้ยง  และการตลาดหอยหวาน  และสร้าง
เครือข่ายความร่วมมือด้านการเพาะเลี้ยงหอยหวานและสัตว์น้ำเศรษฐกิจในภาคใต้ตอนล่าง
         ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมปอง  ทองผ่อง  คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  มหาวิทยาลัยสงขลา
นครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี    กล่าวว่าหอยหวานเป็นหอยทะเลที่มีราคาค่อนข้างสูงและได้รับความนิยมจาก
ผู้บริโภคอาหารทะเล  อีกทั้งสามารถส่งออกขายยังต่างประเทศได้แก่  ประเทศจีน  ญี่ปุ่น  ไต้หวัน  
ฮ่องกง  หอยหวานในธรรมชาติของไทยพบทั้งชายฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน  จังหวัดที่พบมากได้แก่  
ระยอง  จันทบุรี  เพชรบุรี  ชุมพร  สุราษฎร์ธานี  นครศรีธรรมราช  สงขลา  ปัตตานี  นราธิวาส  และระนอง  
ในปัจจุบันพบว่าปริมาณหอยหวานที่จับได้ลดปริมาณลงเป็นอย่างมาก  อีกทั้งมีขนาดเล็กลง  ขณะที่ความ
ต้องการของตลาดมีแนวโน้มสูงขึ้น  การเพาะเลี้ยงจึงเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถตอบสนองความต้องการ
ของตลาดและทดแทนปริมาณการจับในธรรมชาติที่น้อยลง  การเพาะพันธุ์หอยหวานในประเทศไทยเริ่มขึ้น
ในปี  2531  ณ  ศูนย์พัฒนาประมงทะเลชายฝั่งตะวันออก  โดยใช้แม่พันธุ์ที่รวบรวมมาจากธรรมชาติ  
หลังจากนั้นสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  และกรมประมง  ได้ดำเนินการวิจัย
ด้านต่าง  ๆ  เพิ่มเติมทั้งด้านการเพาะพันธุ์และวิธีการเลี้ยง  มีผลผลิตทดแทนธรรมชาติได้ในระดับหนึ่ง
         ในภาพรวมด้านการเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์ของประเทศไทยพบว่า  มีผู้ประกอบการในภาคตะวันออก  
ภาคกลางตอนล่าง  และภาคใต้ตอนบน  สามารถดำเนินกิจการประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งโดยมีเครือข่าย
ผู้เลี้ยงและผู้ส่งออกที่เป็นรูปธรรม  ส่วนในภาคใต้ตอนล่างเพิ่งเริ่มมีการเลี้ยงในบางพื้นที่  ขณะที่พื้นที่  
5  จังหวัดชายแดนภาคใต้  ยังมีฟาร์มเลี้ยงน้อยมาก  ทั้งที่สภาพภูมิศาสตร์มีความเหมาะสมอีกทั้งสามารถ
หาแหล่งพันธุ์ธรรมชาติมาใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์  ปัญหาส่วนหนึ่งเป็นเพราะเกษตรกรยังขาดข้อมูล
บางประการทางด้านการเพาะพันธุ์  การเลี้ยง  และการตลาด  ในส่วนเกี่ยวกับการเพาะพันธุ์และการเลี้ยง  
หน่วยวิจัยและเพาะฟักสัตว์น้ำสะกอม  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  ได้เริ่ม
ทดลองมาตั้งแต่ต้นปี  2547  โดยสามารถนำพ่อแม่พันธุ์จากธรรมชาติมาเพาะพันธุ์และสามารถเลี้ยง
ลูกหอยที่ได้จากการเพาะพันธุ์  กระทั่งใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ในปัจจุบัน     ส่วนด้านการตลาดมีผู้ประกอบการ
ภาคเอกชนในพื้นที่จังหวัดปัตตานีและสงขลา  ให้ความสนใจจึงได้จัดโครงการฝึกอบรมเพาะเลี้ยง
หอยหวาน  ในวันที่  9 – 10  มกราคม  2549  ณ  คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี   มหาวิทยาลัย
สงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  และหน่วยวิจัยและเพาะฟักสัตว์น้ำสะกอม   อำเภอเทพา  จังหวัด
สงขลา  เพื่อเป็นศูนย์กลางด้านวิชาการและบริการชุมชน  ตลอดจนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้าน
การเพาะเลี้ยงหอยหวานและสัตว์น้ำเศรษฐกิจตัวอื่นในภาคใต้ตอนล่าง
         ผู้ประสงค์จะเข้ารับการอบรมสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  แผนกวิชาเทคโนโลยีการประมง  
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  โทร.  (073)  312159

                                                        ************************************
โดย : * [ วันที่ ]