: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ฉบับที่ 08 ประจำเดือน 12 2548
หัวข้อข่าว : นักวิจัยแนะวิธีการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ควรสร้างการมีส่วนร่วมในภาคประชาชนและมีการคัดเลือกบุคลากรที่ปฏิบัติงานในพื้นที่
รายละเอียด :
         นักวิจัยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ศึกษาสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัด
ชายแดนภาคใต้พบรุนแรงมากขึ้น   โดยผู้เสียหายคือประชาชนมากที่สุด   แนะควรสร้างการมีส่วนร่วม
ในภาคประชาชนในการแก้ปัญหาและคัดเลือกเจ้าหน้าที่ที่มีความประพฤติดี  มาทำงานแก้ปัญหาปากท้อง
ของชาวบ้าน
         ผศ. ปิยะ  กิจถาวร  ผู้ศึกษาสถานการณ์ความรุนแรงและผลการสำรวจความเห็นของประชาชน  
เจ้าหน้าที่รัฐต่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่ทุกอำเภอของจังหวัดปัตตานี  
ยะลา  นราธิวาส  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  เปิดเผยถึงผลการศึกษาวิจัยว่า
ในช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม  2548  เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี  2547  ทั้ง  3  จังหวัด  
มีเหตุร้ายเพิ่มขึ้นทั้งในด้านความถี่และความรุนแรง  จังหวัดนราธิวาสมีจำนวนมากที่สุด  รองลงมา
คือจังหวัดปัตตานีและจังหวัดยะลาตามลำดับ  ส่วนใหญ่เป็นการยิงด้วยอาวุธปืน  รองลงมาคือการลอบ
วางเพลิง  และการลอบวางระเบิด  ที่น่าสนใจคือการลอบวางระเบิดเพิ่มขึ้นจากร้อยละ  8.84  ในปี  
2547  เป็นร้อยละ  18.46  ในปี  2548  และระหว่างเดือนมกราคม  2547 – กรกฎาคม  2548  พบว่า
ชาวบ้านทั่วไปเป็นผู้สูญเสียมากที่สุดคือเสียชีวิตถึง  454  คน  จากผู้เสียชีวิตทั้งหมด  730  คน  
คิดเป็นร้อยละ  62.19  ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด  ชาวบ้านบาดเจ็บ  796  คน  จากผู้บาดเจ็บ
ทั้งหมด  1,313  คน   คิดเป็นร้อยละ  60.62  ของจำนวนผู้บาดเจ็บทั้งหมด
         ผลการสำรวจความเห็นประชาชนและข้าราชการผู้ปฏิบัติในพื้นที่รวม  437  ตัวอย่าง  ใน  9  อำเภอ  
พบว่าชาวบ้านเห็นว่าสถานการณ์ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินในพื้นที่เลวร้ายลงมากถึง
ร้อยละ 55.7 เพราะคนคิดร้ายมีมากขึ้น  เจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนไม่มีความเข้าใจกัน  ไม่มีความ
ไว้วางใจซึ่งกันและกัน  ในขณะที่ประชาชนส่วนหนึ่งเห็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีการปฏิบัติตามกฎหมายดีขึ้น  
คิดเป็นร้อยละ  38.4  เพราะมีการจัดเวรยามดูแลหมู่บ้านและเห็นว่าผู้นำศาสนาทั้งพุทธและมุสลิม
มีบทบาทสร้างความไว้วางใจต่อกันของคนในชุมชนดีขึ้นร้อยละ  42.4
           การศึกษาวิจัยยังพบว่าชาวไทยมุสลิมซึ่งต้องการให้เกิดความสงบสุขในพื้นที่ร้อยละ 55.5 มีความเห็นว่า
ควรให้ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน  โดยเสนอว่าควรหาวิธีการที่ดีกว่านี้  เพราะไม่ทำให้สถานการณ์
ดีขึ้น  มีแต่ทำให้ประชาชนกลัว  ไม่ไว้ใจเจ้าหน้าที่  ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใช้ได้กับชาวบ้านผู้บริสุทธิ์
เท่านั้น     ส่วนชาวไทยพุทธเห็นว่าควรให้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไปร้อยละ  76.7   เพราะยังมี
การก่อเหตุร้ายมากขึ้น  การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นการเสริมอำนาจเจ้าหน้าที่รัฐให้เขาทำงาน
เต็มที่มากขึ้น   ดีกว่าไม่มีอะไรมารองรับเพราะเหตุการณ์ไม่ปกติ   ในขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐระดับผู้ปฏิบัติ
งานในพื้นที่เห็นว่าควรประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่  3  จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไปอีก คิดเป็น
ร้อยละ  72.9 ประชาชนมีข้อเสนอในการยุติเหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดปัตตานี  ยะลา  และนราธิวาส  
โดยอยากให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหามากกว่านี้  เพราะที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้แก้ปัญหา
ของท้องถิ่น    แต่แก้ปัญหาเจ้าหน้าที่และความมั่นคงเป็นหลัก   สร้างความยุติธรรมให้เร็วที่สุด  ทำให้
ชาวบ้านได้ประกอบอาชีพอย่างมั่นคง  การกระตุ้นให้ชาวบ้านร่วมมือกับทางราชการ  คัดเจ้าหน้าที่
ที่มีพฤติกรรมดี ๆ มาทำงานและแก้ไขนโยบายให้เหมาะสมกับการสนับสนุนกิจกรรมของชาวบ้านเช่น  
ประกันสินค้าทางการเกษตร  ให้รัฐปรับปรุงเรื่องการข่าวที่มีส่วนต่อความเดือดร้อนของชาวบ้าน  
การข่าวสำคัญมากในการแก้ปัญหาความไม่สงบ  บางทีคนเป็นศัตรูกันอาจรายงานข่าวให้เจ้าหน้าที่  
รัฐควรหาทางแก้ไขเพื่อให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ได้รับการศึกษาที่ดีขึ้น  เปิดโอกาสให้แต่ละหมู่บ้าน
ในพื้นที่จัดกิจกรรมส่งเสริมความสัมพันธ์และคุณธรรม  โดยเน้นที่ตัวเด็กและเยาวชน  ให้ประชาชน
ในพื้นที่เลือกแนวทางการดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมและความเชื่อของตัวเอง
         ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐระดับปฏิบัติในพื้นที่ได้มีข้อเสนอในการยุติเหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัด
ปัตตานี  ยะลา  และนราธิวาส  สรุปกล่าวคือให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม  โดยการรับฟังความต้องการของ
ประชาชนในพื้นที่ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาความไม่สงบ  ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ต้องการความสงบ  
มีส่วนน้อยที่มีแนวคิดแบ่งแยกดินแดน  ซึ่งเกิดจากความเชื่ออุดมการณ์ส่วนบุคคล  โดยอ้างศาสนามา
สร้างความชอบธรรม  อีกทั้งหน่วยงานของรัฐจะต้องสร้างความเชื่อมั่นว่า  รัฐสามารถให้ความปลอดภัย
ในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้   ให้รัฐเข้าใจชีวิตความเป็นอยู่และวิถีชีวิตของชาวบ้านใน  3  จังหวัด
ชายแดนภาคใต้ให้มากที่สุด  อย่าได้ระแวงซึ่งกันและกัน
         ผศ. ปิยะ กิจถาวร กล่าวเสนอแนะว่าต้องทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับประกาศ
สถานการณ์ฉุกเฉินให้มากขึ้น  โดยเน้นว่าเป็นกฎหมายที่จะต้องถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์ของคน
ส่วนใหญ่อย่างเป็นธรรมและตรวจสอบได้   สร้างการมีส่วนร่วมในภาคประชาชนในการแก้ไข
ปัญหาด้านต่าง  ๆ  ให้มากยิ่งขึ้น  คัดเลือกเจ้าหน้าที่ที่มีพฤติกรรมดี  ๆ  มาทำงานแก้ปัญหาปากท้อง
ของชาวบ้านและให้ชาวบ้านได้ประกอบอาชีพอย่างมั่นคง

                                                         **********************************
โดย : * [ วันที่ ]