: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ฉบับที่ 54 ประจำเดือน 06 2548
หัวข้อข่าว : แกนนำนิสิตนักศึกษาสมานฉันท์แก้ปัญหาภาคใต้ ระบุรัฐควรยกเลิกกฎอัยการศึกและหากฎหมายที่เข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นมาใช้แทน
รายละเอียด :
         องค์การบริหารองค์การนักศึกษา  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  พบปะ
แกนนำนิสิตนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ  เปิดเวทีรับฟังและศึกษาปัญหา  3  จังหวัดภาคใต้  
เพื่อหาแนวทางสันติวิธีในการแก้ปัญหาและร่วมสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย  เมื่อวันที่  27
ถึงวันที่  30  พฤษภาคม  2548  โดยเตรียมนำเสนอข้อสรุป  7  ข้อ  ต่อรัฐบาล  ระบุรัฐควรยกเลิก
กฎอัยการศึกและหากฎหมายที่เข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นมาใช้แทน
         ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรวิทย์  บารู  รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและชุมชน  มหาวิทยาลัยสงขลา
นครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  กล่าวว่าองค์การบริหารองค์การนักศึกษา  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  
วิทยาเขตปัตตานี  ตระหนักถึงปัญหา  3  จังหวัดชายแดนภาคใต้และได้ติดตามแนวทางการแก้ปัญหา
ดังกล่าวมาโดยตลอด  จึงได้เชิญผู้นำองค์กรนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ  ระดมสมองเพื่อ
หาแนวทางสันติวิธีในการแก้ปัญหาและร่วมสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย      จึงได้จัด
โครงการสมานฉันท์ผู้นำและองค์กรนักศึกษากับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้  เมื่อวันที่  27–30  พฤษภาคม  
2548 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี   โดยเปิดเวทีรับฟังและลงพื้นที่เพื่อศึกษาปัญหา  
3  จังหวัดชายแดนภาคใต้   ในแนวคิดที่ว่านักศึกษาเป็นบุคคลกลุ่มหนึ่งที่ควรจะมีส่วนร่วมในการสร้าง
ความเข้าใขและขยายผลสู่เยาวชน ชุมชน และสังคม  ซึ่งขณะนี้ผู้นำนิสิตนักศึกษาจากสถาบันการศึกษา
ทั่วประเทศ   30  สถาบัน  ให้ความสนใจร่วมแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่   3   จังหวัดชายแดน
ภาคใต้     ทั้งนี้การเดินทางลงพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของผู้นำนิสิตนักศึกษาดังกล่าวนั้น  เป็นไปภายใต้
โครงการสมานฉันท์ผู้นำและองค์กรนักศึกษาปัญหาชายแดนใต้  ซึ่งเป็นความร่วมมือขององค์การ
บริหารองค์การนักศึกษา  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  สำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพ
แห่งชาติ  และสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย  โดยคาดหวังว่าแกนนำนิสิตนักศึกษาได้เรียนรู้และ
ทำความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางวัฒนธรรม   วิถีชีวิต   ภาษา   ศาสนา   และประวัติศาสตร์ของ  
3  จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อนำไปเผยแพร่และส่งเสริมการใช้สันติวิธีในการแก้ไขปัญหาเพื่อสร้างความ
สมานฉันท์และความสันติสุขในสังคม
         สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้    แกนนำนิสิตนักศึกษาได้เยี่ยมชมสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์
และพบปะประชาชนในพื้นที่  3  จังหวัดชายแดนภาคใต้  โดยเยี่ยมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และ
เยี่ยมครอบครัวของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่  ทั้งที่เป็นประชาชนและเจ้าหน้าที่
ของรัฐ  ทั้งนี้ได้แบ่งกลุ่มออกเป็น  2  กลุ่ม  กลุ่มแรกเดินทางไปพบกับผู้สูญเสียและผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์
สลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ  จังหวัดนราธิวาส  ได้แก่  หน้าสถานีตำรวจภูธร
อำเภอตากใบ  บ้านเกาะสะท้อน  ตำบลเกาะสะท้อน  บ้านบาเดาะมาตี  บ้านจาเราะ  และบ้านนะกูวิง  ตำบล
ศาลาใหม่  อำเภอตากใบ  โดยมี  รศ. ดร. เกษียร  เตชะพีระ  นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์  มหาวิทยาลัย
ธรรมศาสตร์  ร่วมเดินทางไปด้วย  ส่วนกลุ่มที่  2  เดินทางไปที่หน่วยเฉพาะกิจ  2  ปัตตานี  ซึ่งตั้งอยู่ที่
สวนเย็นศิระ  เขื่อนปัตตานี  อำเภอแม่ลาน  จังหวัดปัตตานี    เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปการแก้ปัญหาจังหวัด
ชายแดนภาคใต้  โดยมี  พ.อ. จำลอง  ขุนสงค์  ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจ  2  ปัตตานี  เป็นผู้บรรยายสรุป
         หลังจากนั้นเมื่อวันที่  28  พฤษภาคม  2548  แกนนำนิสิตนักศึกษาจาก  30  สถาบัน  ได้เข้าร่วม
เวทีวิเคราะห์สถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้  โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ  อาทิ  ผศ. ปิยะ  กิจถาวร  
นายอัฮหมัดสมบูรณ์  บัวหลวง  รศ. ดร. โคทม  อารียา  รศ. ดร. เกษียร  เตชะพีระ  ร่วมเป็นวิทยากร
         รศ. ดร. เกษียร  เตชะพีระ   นักวิชาการ   มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์    กล่าวถึงปัญหาจังหวัด
ชายแดนภาคใต้ว่า   การเอากำลังลงมาแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนมาก   เพื่อต้องการ
แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็ง    ทั้งที่ไม่รู้ว่าศัตรูอยู่ที่ไหนในภาวะสงครามกองโจรและผู้ก่อการร้าย
ไม่ปรากฏตัว   จึงเกิดหน่วยงานข่าวกรองในพื้นที่กันมากมาย  นับตั้งแต่วันที่  4  มกราคม  2547  เป็นต้นมา  
ดังนั้นหน่วยงานที่มีอิทธิพลมากสามารถกำหนดการตัดสินใจของรัฐมากขึ้นใน  1  ปีที่ผ่านมาคือ  หน่วยงาน
ข่าวกรอง  เพราะฉะนั้นข่าวกรองต่าง  ๆ  เป็นข้อมูลที่ตั้งอยู่บนความสงสัย  ไม่ได้ตั้งอยู่บนความเป็นจริง  
ซึ่งการจับกุมคนบนความน่าสงสัย  ไม่สามารถดำเนินการทางกฎหมายได้  หลักกฎหมายดำเนินงานบน
ความน่าสงสัยไม่ได้  แต่ต้องดำเนินการบนข้อพิสูจน์  การจะเอาผิดผู้ใดต้องมีข้อพิสูจน์มีความผิด
         นางสาวฐิตารัตน์  ศรีวัฒนพงศ์  คณะรัฐศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  หนึ่งในแกนนำนักศึกษา  
ผู้แถลงข่าวเปิดเผยว่า  แกนนำนิสิตนักศึกษาทั้ง  30  สถาบัน  ได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหา  3  จังหวัด
ชายแดนภาคใต้ต่อรัฐบาล  หลังจากลงพื้นที่พบปะกับประชาชน  ระบุว่ารัฐควรยกเลิกกฎอัยการศึกและ
หากฎหมายที่เข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นมาใช้แทน  โดยมีเนื้อหาระบุว่าสภาพปัญหาความขัดแย้งใน  
3  จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ดำรงอยู่  ได้สร้างผลกระทบต่อสังคมในหลายมิติ  สถานการณ์ซึ่งเรื้อรังและ
มีแนวโน้มที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงเพิ่มขึ้น  ทั้งนี้จากการจัดกิจกรรมดังกล่าวที่ประชุมได้มีข้อสรุป
เพื่อเสนอต่อผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบปัญหาดังนี้
         1.  สังคมควรยอมรับความแตกต่างของความหลากหลายด้านวัฒนธรรม  เพื่อทำให้เกิดความ
สมานฉันท์ขึ้นภายในประเทศ
         2.  รัฐบาลต้องลดสัญลักษณ์ของความรุนแรงลง  เพื่อลดความหวาดกลัวของประชาชนในพื้นที่
         3.  ให้ยกเลิกกฎอัยการศึกและหากมีกฎหมายใหม่มารองรับกฎอัยการศึก  รัฐต้องคำนึงถึงวิถีชีวิต  
จารีตประเพณีของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นหลัก
         4.  สื่อมวลชนต้องนำเสนอข่าวสารตามความเป็นจริงและควรคำนึงถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น
เนื่องจากการนำเสนอ
         5.  นโยบายของรัฐต้องสอดคล้องกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น
         6.  ให้รัฐส่งเสริมด้านงบประมาณของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาและอนุรักษ์สถาบันปอเนาะ
ไว้
         7.  ให้มีการติดตามคดีทุกคดีอย่างเปิดเผย  โปร่งใส  และให้การช่วยเหลือที่ยั่งยืนแก่ประชาชน
ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

                                                       ************************************

โดย : * [ วันที่ ]