: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ฉบับที่ 27 ประจำเดือน 03 2548
หัวข้อข่าว : นักวิชาการ ม.อ. ปัตตานี ชี้แนะวิธีแก้ปัญหาภาคใต้ ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม ต้องยอมรับในความแตกต่าง และต้องนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติที่เป็นจริง
รายละเอียด :
         นักวิชาการ  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  ศึกษาความต้องการของประชาชน
จังหวัดชายแดนภาคใต้พบว่าประชาชนต้องการการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา    ต้องการการยอมรับ
ในความแตกต่าง  และความหลากหลายทางวัฒนธรรมของพื้นที่    ตลอดจนความเป็นธรรมและเท่าเทียมกัน
ในสังคม
         จังหวัดชายแดนภาคใต้ประกอบด้วยจังหวัดยะลา  ปัตตานี  และนราธิวาส  มีพื้นที่  10,936  ตาราง
กิโลเมตร   ประชากร  1.78  ล้านคน  ประชาชนส่วนใหญ่มีลักษณะพิเศษเป็นของตนเองเป็นการเฉพาะ  
เพราะส่วนใหญ่เป็นชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม  มีวิถีดำเนินชีวิตที่แตกต่างไปจากประชาชนส่วนใหญ่
ของประเทศทั้งในด้านศาสนา    ภาษา    และวัฒนธรรม   รวมทั้งการใช้ชีวิตประจำวัน  จากความ
แตกต่างดังกล่าวนี้ได้กลายเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ผู้ก่อความไม่สงบนำมาอ้าง  เพื่อปลุกกระแสให้เกิดการ
ต่อต้านอำนาจรัฐและการก่อความไม่สงบในรูปแบบต่าง  ๆ  ไม่ว่าจะมาจากกลุ่มขบวนการต่าง  ๆ  
กลุ่มผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น  กลุ่มอิทธิพลการเมือง  และการไม่สามารถแก้ปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้น
ซ้ำซาก
         ผศ. ดร. อิบราเฮ็ม  ณรงค์รักษาเขต  คณะวิจัยความต้องการของประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้  
และหัวหน้าภาควิชาอิสลามศึกษา  วิทยาลัยอิสลามศึกษา  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  
กล่าวว่ารัฐบาลทุกสมัยได้มุ่งเน้นให้ความสนใจอย่างใกล้ชิดและได้กำหนดเป็นนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ
ทั้งในด้านการเมือง  การทหาร  การเศรษฐกิจ  และสังคมวิทยาสำหรับพื้นที่ดังกล่าวไว้เป็นการเฉพาะ  เริ่ม
ตั้งแต่นโยบายความมั่นคงแห่งชาติเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้  ฉบับที่  1  เพื่อสร้างความสงบเรียบร้อย
ในพื้นที่  พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและส่งเสริมการพูดและการใช้ภาษาไทย  ต่อมาได้จัดระบบบริหาร
เพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยพัฒนาระบบราชการ  และยังมีใช้นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ
อีกหลายฉบับ  ซึ่งเน้นความสามัคคี  ความสงบ  และความอยู่ดีมีสุข สร้างความเข้าใจลดความหวาดระแวง
ด้วยการยอมรับในความแตกต่าง  เน้นการดำเนินงานมวลชนให้ผู้นำมุสลิมมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาและ
พัฒนาสังคมใช้แนวทางสันติวิธี ในขณะที่การเมืองนำการทหารในการรักษาความสงบ จนกระทั่งปี 2545
ได้มีการปรับปรุงการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยใช้ระบบบริหารราชการจังหวัดแบบ
บูรณาการ   โดยให้มีคณะกรรมการนโยบายเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้
ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและแก้ปัญหาและพัฒนาในภาพรวม  เพื่อให้การแก้ปัญหาและพัฒนา  3  จังหวัด
ชายแดนภาคใต้  ตรงตามความต้องการของประชาชนและเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
         แม้ว่ารัฐบาลพยายามที่จะใช้นโยบายในการดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้  
แต่ปัญหาก็ยังคงอยู่  เพราะพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากภูมิภาคอื่น  จึงทำให้
เกิดความหวาดระแวงและความไม่ไว้วางใจ  กอปรกับความรู้สึกต่ออำนาจรัฐที่ถูกสะสมมานาน  ทำให้ปัญหา
ถูกโยงกับปัญหาจิตวิทยา  ทำให้สถานการณ์มีความรุนแรงมากขึ้นนำไปสู่ปัญหาด้านความมั่นคง
         จากการศึกษาปัญหาพื้นฐานของจังหวัดปัตตานี  ยะลา  และนราธิวาส  พบว่าปัญหาเศรษฐกิจ  
สังคม  การศึกษา  และกลไกของรัฐ  เกิดจากการกำหนดนโยบายที่ไม่ได้มาจากการสำรวจปัญหาและความ
ต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง  ทำให้การแก้ปัญหาไม่ประสบผลสำเร็จ  ดังนั้นการนำนโยบายไป
ปฏิบัติในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้บรรลุผลนั้น  จะต้องให้ความสำคัญต่อปัจจัยด้านความยึดมั่นในวัฒนธรรม  
ปัจจัยด้านลักษณะนโยบายที่สอดคล้องกับปัญหาท้องถิ่นและปัจจัยด้านข้าราชการ  ซึ่งทั้งภาครัฐและภาค
ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายหรือวางแผนพัฒนา  โดยตระหนักถึงความต้องการของ
ประชาชนเป็นหลัก  จะทำให้การกำหนดนโยบายและแก้ปัญหาตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของ
ประชาชน    ดังนั้น  วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จึงได้มีการ
ศึกษาวิจัยความต้องการที่แท้จริงของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้  เพื่อให้เป็นข้อมูลพื้นฐานใน
การกำหนดนโยบายและการวางแผนพัฒนาและแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
         คณะผู้วิจัยได้เสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาและพัฒนาใน  3  จังหวัดชายแดนภาคใต้  โดย
สนองความต้องการของประชาชนในภาพรวมของแต่ละด้านตามข้อค้นพบจากงานวิจัย  ในการกำหนด
นโยบาย  แผนงาน  และโครงการต่าง  ๆ  ของภาครัฐ  ควรคำนึงถึงมิติของการมีส่วนร่วม  การยอมรับ
เอกลักษณ์และความหลากหลายทางวัฒนธรรม  ความเป็นธรรมและความเท่าเทียมกันในสังคม  นอกจากนี้
ควรเร่งสร้างความเข้าใจของทุกภาคเกี่ยวกับวัฒนธรรมท้องถิ่น  เพื่อลดความอ่อนไหวทางวัฒนธรรมที่อาจนำ
ไปสู่เงื่อนไขความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  ผลักดันสถาบันทางสังคมของชุมชนให้มี
บทบาทในการแก้ไขปัญหาและเป็นตัวขับเคลื่อนในการพัฒนา  ภาครัฐควรทบทวนโครงการที่ขัดแย้ง
ความรู้สึกและหลักความเชื่อของประชาชนในพื้นที่  มีการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ผู้บริหารทุกองค์กร
ทั้งภาครัฐและเอกชนให้ยอมรับความหลากหลายในเรื่องของความเชื่อ    ความแตกต่าง   และความ
หลากหลายทางวัฒนธรรม  ตลอดจนให้มีการผลักดันนโยบาย  แผนงาน  โครงการจากโครงการวิจัยนำ
ไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว  และปรับปรุงรูปแบบและวิธีการเผยแพร่ข่าวสาร
ข้อมูลของภาครัฐให้ถึงประชาชนอย่างทั่วถึง

                                                         *********************************
โดย : * [ วันที่ ]