: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ 6 ฉบับที่ 11 ประจำเดือน 11 2546
หัวข้อข่าว : ม.อ. ปัตตานี ร่วมกับนักวิชาการสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ร่วมศึกษาวิจัยข้อมูลพื้นฐานการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศและการใช้ภาษาต่างประเทศของภาคใต้
รายละเอียด :
         คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  ร่วมกับนักวิชาการ
สถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ  ร่วมศึกษาวิจัยข้อมูลพื้นฐานการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศและการใช้ภาษา
ต่างประเทศของภาคใต้  เพื่อสร้างฐานข้อมูลสำหรับการกำหนดแผนกลยุทธ์และแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม  โดยได้รับ
ทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย  (สกว.)
         ดร. ปรารถนา  กาลเนาวกุล  รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิเทศสัมพันธ์  คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  กล่าวว่าปัจจุบันประเทศไทยมีการแข่งขันและขยายตัวทางเศรษฐกิจ
อย่างมาก  ในรูปของการค้าเสรีแบบไร้พรมแดน  ความสามารถทางภาษาต่างประเทศของประชาชนจึงเป็นสิ่งจำเป็น  
เนื่องจากภาษามีส่วนสำคัญในการเสริมศักยภาพการแข่งขันทั้งทางด้านเศรษฐกิจ  อุตสาหกรรม  และด้านวิชาการ  
จากการศึกษาวิจัยในช่วงปี  2537 – 2545  มีผลการศึกษาที่สอดคล้องกันว่า  บัณฑิตไทยซึ่งเป็นกำลังสำคัญในตลาด
แรงงาน  แต่มีความรู้ความสามารถในการใช้ภาษาต่างประเทศในระดับต่ำ  ซึ่งอาจส่งผลในระยะยาวให้ประเทศไทย
ตกอยู่ในสภาวะเสียเปรียบ  ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นจะต้องทบทวนและปรับปรุงนโยบายการสอนภาษาต่างประเทศอย่าง
เร่งด่วน  ประกอบกับในฐานะที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขต
ปัตตานี  มีภาระหน้าที่ในการจัดการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศระดับอุดมศึกษาในภาคใต้  จึงได้จัดโครงการ
วิจัยข้อมูลพื้นฐานการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศและการใช้ภาษาต่างประเทศของภาคใต้  ร่วมกับนักวิชาการ
จากสถาบันอุดมศึกษาในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค  โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย  
(สกว.)  เพื่อสร้างฐานข้อมูลสำหรับการกำหนดแผนกลยุทธ์และแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม
         รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิเทศสัมพันธ์  คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  
วิทยาเขตปัตตานี  กล่าวว่าความน่าสนใจและความสำคัญของโครงการนี้อยู่ตรงที่เป็นการวิจัยที่ครอบคลุมทุกองค์
ประกอบที่เกี่ยวข้องกับสภาพและปัญหาการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศในภาคใต้อย่างแท้จริง  ตลอดจนศึกษา
สภาพความพึงพอใจความต้องการและปัญหาการใช้ภาษาต่างประเทศในสถานประกอบการในเขตจังหวัดภาคใต้  
นอกจากนี้จากการที่มีกลุ่มดำเนินการเก็บข้อมูลทุกระดับการศึกษา  จึงช่วยให้เกิดการสร้างเครือข่ายผู้สอนใน
สถานศึกษาในภาคใต้  ซึ่งจะมีส่วนในการผลักดันและก่อให้เกิดความร่วมมือด้านวิจัยและพัฒนาการเรียนการสอน
ภาษาต่างประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  ทั้งนี้โครงการได้เริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา
และคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณต้นปี  2547  ความคืบหน้าของโครงการจะเผยแพร่ให้ทราบในโอกาสต่อไป

                                                          ********************************
โดย : * [ วันที่ ]