: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ 6 ฉบับที่ 09 ประจำเดือน 09 2546
หัวข้อข่าว : พิธีไหว้ครูนาฏศิลป์ไทย
รายละเอียด :
         คณะศิลปกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  จัดพิธีไหว้ครูนาฏศิลป์ไทย  
เมื่อวันที่  21  สิงหาคม  2546  ณ  หอประชุมวิทยาเขตปัตตานี  โดยมีอาจารย์ไพฑูรย์  เข้มแข็ง  จากวิทยาลัย
นาฏศิลป์  กรุงเทพฯ  ทำหน้าที่เป็นครูผู้ใหญ่  กล่าวอัญเชิญเทพเจ้าแห่งศิลปะและอัญเชิญครูอาจารย์ที่ล่วงลับ
ไปแล้วมารับเครื่องสังเวยบูชาที่จัดเตรียมไว้  ต่อจากนั้นทำพิธีครอบครู
         การไหว้ครู  ถือเป็นประเพณีที่มีมาแต่โบราณกาล  เป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ  
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเรียนทางด้านนาฏศิลป์และดนตรี  จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการประกอบพิธีไหว้ครูอันเป็น
พิธีกรรมที่ยิ่งใหญ่และมีพิธีรีตองกว่าการไหว้ครูทางหนังสือ  ทั้งนี้เพราะบรรดาศิลปินทางโขนละครนั้นมีความเชื่อ
และนับถือกันว่าศิลปะวิทยาการทางนาฏศิลป์และดนตรี  มีกำเนิดมาจากเทพเจ้าและได้ถ่ายทอดมาสู่ยังโลกมนุษย์
โดยผ่านครูอาจารย์ตามลำดับจนถึงปัจจุบัน
         พิธีการไหว้ครูทางนาฏศิลป์และดนตรีไทย  หรือที่เรียกกันในหมู่ศิลปินว่า  “พิธีไหว้ครูโขนละคร”  นั้น
จะกระทำพิธีได้เฉพาะวันพฤหัสบดีเท่านั้น  เพราะนับถือกันว่าวันพฤหัสบดีเป็นวันครู  เดือนที่นิยมประกอบพิธีตาม
โบราณกำหนดให้ประกอบพิธีในเดือนคู่  เช่น  6, 8, 10, 12, 2  และเดือน  4  ส่วนเดือนคี่นั้นอนุโลมให้ทำพิธีใน
เดือน  9  เพราะไทยเราถือว่าเลข  9  เป็นเลขมงคลของไทย  ในบางครั้งโบราณยังนิยมว่าต้องระบุทางจันทรคติ
อีกด้วย  คือจะต้องพิจารณาว่าข้างขึ้นหรือข้างแรม  หากเป็นวันพฤหัสบดีข้างขึ้นก็นับว่าเป็นมงคลยิ่ง  โดยถือว่าเป็น
วันฟู  ข้างแรมเป็นวันจม  ฉะนั้นการประกอบพิธีจึงนิยมวันข้างขึ้น  ซึ่งถือว่าเป็นวันฟู  อันเป็นสัญลักษณ์แห่งความ
เจริญรุ่งเรืองนั่นเอง
         การไหว้ครูทางนาฏศิลป์และดนตรีไทยนั้น  มักกระทำเป็น  2  ระบบคือ
         1.  พิธีไหว้ครูเมื่อเริ่มต้นเรียน
         พิธีนี้เป็นพิธีเล็ก  ๆ  ผู้เรียนจะต้องนำดอกไม้  ธูปเทียน  ไปมอบต่อครูผู้สอนในวันพฤหัสบดี  เพื่อเป็นเครื่องแสดงว่า
ยอมเคารพเชื่อฟังและปฏิบัติตามต่อครูผู้สอน  และครูผู้สอนจะกล่าวคำบูชาครูโดยให้ผู้เรียนว่าตาม  แล้วครูจะจับมือ
หัดรำให้พอเป็นพิธี  จากนั้นจึงจะเริ่มต้นหัดเรียนกันเรื่อย  ๆ  ไป
         2.  พิธีไหว้ครูประจำปี  
         พิธีไหว้ครูประจำปีถือเป็นพิธีใหญ่  โดยกำหนดให้ประกอบพิธีในวันพฤหัสบดี  การไหว้ครูประจำปีจะต้องมีการ
ตระเตรียมหลายสิ่งหลายอย่าง  เช่น  สถานที่  ศีรษะพระครู  ศีรษะเทพเจ้าทั้งหลาย  วงดนตรีไทยที่ใช้บรรเลงประกอบพิธี  
เครื่องเซ่นสังเวยทั้งดิบและสุก  ตลอดจนอุปกรณ์ต่าง  ๆ  เพื่อให้พิธีไหว้ครูประจำปีสมบูรณ์ที่สุด  ในการนี้ก่อนวันไหว้ครู
บรรดาศิษย์เก่าและใหม่จะมาร่วมกันจัดและตกแต่งบริเวณปริมณฑลพิธี  โดยมีครูผู้ใหญ่  (พิธีกร)  ดูแลความเรียบร้อย  
อาทิ  การจัดวางศีรษะเทพเจ้า  หัวโขนชนิดต่าง  ๆ  ที่เราใช้แสดงกัน  ตลอดจนอุปกรณ์ในการแสดงโขนละครมาตั้ง
บนโต๊ะบูชาครู  ครั้นจัดอุปกรณ์และสถานที่เสร็จเรียบร้อยแล้วรุ่งขึ้นจะเริ่มทำพิธีไหว้ครู  ซึ่งพิธีนี้หากผู้ที่เป็นศิษย์ยัง
ไม่ได้เข้าพิธีไหว้ครูจะถือว่าศิษย์ผู้นั้นจะยังไม่สมบูรณ์  และบรรดาครูอาจารย์จะไม่กล้าสอนเพลงหน้าพาทย์สูง  ๆ  
ตลอดจนท่ารำชั้นสูงให้แก่ศิษย์  โดยถือว่าหากสอนให้แล้วอาจเป็นผลร้ายแก่ตัวครูเองและแก่ศิษย์ด้วย  ดังนั้น
ในวงการนาฏศิลป์และดนตรีไทยจึงมีความเคารพและเชื่อมั่นในพิธีไหว้ครูประจำปีเป็นอย่างมาก  ในขณะที่พิธี
เริ่มขึ้นจะมีครูผู้ใหญ่  (พิธีกร)  นุ่งขาวห่มขาว  จะเป็นผู้ทำพิธีกล่าวอัญเชิญเทพเจ้าแห่งศิลปะและอัญเชิญครูอาจารย์
ที่ล่วงลับไปแล้วมารับเครื่องสังเวยบูชาที่จัดเตรียมไว้  พร้อมกันนี้จะมีวงดนตรีไทยบรรเลงประกอบเป็นระยะ  ๆ  
ด้วย  และพิธีอัญเชิญนี้จะต้องกระทำให้เสร็จภายในเที่ยงวัน  ต่อจากนั้นจึงเป็นพิธีครอบ  ซึ่งถือว่าเป็นพิธีสำคัญ
อีกพิธีหนึ่งซึ่งจะได้กล่าวต่อไป
         พิธีครอบ  พิธีครอบหรือการครอบนี้จะกระทำกันในพีไหว้ครูประจำปีเท่านั้น  โดยครูจะกระทำให้แก่ศิษย์
ซึ่งสมควรจะเป็นครูสอนศิษย์ต่อไป  โดยจะกระทำให้เป็นราย  ๆ  ไป  โดยมีเหตุผล  3  ประการคือ
         1.  ครอบให้แก่ศิษย์ผู้ต้องการเรียนหน้าพาทย์ชั้นสูง
         2.  ครอบให้แก่ศิษย์ผู้ที่จะต้องเป็นครูสอนผู้อื่นต่อไป
         3.  ครอบให้แก่ศิษย์อาวุโส  เพื่อมอบฉันทะให้เป็นผู้อ่านโองการและทำพิธีไหว้ครูต่อไป
         การครอบทั้ง  3  ประการนี้  ผู้เป็นศิษย์จะต้องเตรียมดอกไม้  ธูป  เทียน  ขันขนาดเล็ก  เงินค่าคำนลบูชาครู  
และผ้าขาว  นำมามอบให้ครูผู้ใหญ่ที่จะเป็นผู้ทำพิธีครอบ  เมื่อครูผู้ใหญ่รับสิ่งของเหล่านั้นแล้ว  ครูผู้ประกอบพิธีจะนำ
เอาศีรษะพระภรตฤษี  ศีรษะพระพิราพ  ชฎา  เทริด  ฯลฯ  ที่รวมเรียกกันว่า  “ศีรษะครู”  สวมครอบลงไปบนศีรษะ
ศิษย์ทีละคน  พร้อมทั้งว่าคาถาและประพรมน้ำมนต์  เจิมหน้าผาก  และสวมด้ายมงคล
         เมื่อศิษย์ทั้งหลายที่ได้ผ่านการครอบประการที่  1  แล้วก็จะบังเกิดความเชื่อมั่นในการที่จะเรียนเพลง
หน้าพาทย์ชั้นสูง  เพราะเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูง  ๆ  เหล่านั้นจะบรรเลงตก  ๆ  หล่น  ๆ  หรือหลงลืมไม่ได้เป็นอันขาด  ยิ่ง
เป็นเพลงองค์พระพิราพด้วยแล้ว  ยิ่งต้องระมัดระวังมาก  หากบรรเลงไม่ครบถ้วนกระบวนเพลงแล้ว  ถือว่าจะเกิดอัปมงคล
กับตนเอง  ทางด้านนาฏศิลป์ก็เช่นเดียวกัน  โดยเฉพาะท่ารำองค์พระพิราพจะต้องกระทำกันด้วยความระมัดระวัง
เป็นอย่างยิ่ง  หากกระทำไม่ถูกต้องอาจเกิดผลร้ายเช่นกันที่เรียกว่า  “ผิดครู”  หรือ  “แรงครู”  ก็ได้
         สำหรับการครอบในประการที่  2  คือ  ศิษย์ต้องครอบเพื่อเป็นครูผู้อื่นต่อไปนั้น  ศิษย์จะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้
ในหลักการทางดนตรีและนาฏศิลป์พอสมควร  ต้องประกอบด้วยคุณวุฒิและวัยวุฒิ  ตลอดจนความประพฤติที่ครูไว้วางใจ
ได้  และเมื่อครอบแล้วครูผู้ครอบจะอบรมสั่งสอนให้ประพฤติตนให้เป็นที่เคารพแก่ศิษย์ทั้งหลาย  และให้ถือว่า
บรรดาศิษย์ทั้งหญิงและชายที่มาเรียนนาฏศิลป์และดนตรีนั้นเป็นเสมือนหนึ่งบุตรหลานหรือญาติพี่น้องทั้งสิ้น
         ส่วนการครอบในประการสุดท้าย  เป็นการครอบที่สำคัญที่สุดกล่าวคือ  เป็นการมอบกรรมสิทธิ์ให้กับศิษย์
ที่มีความพร้อมในด้านคุณวุฒิ  วัยวุฒิ  เพื่อเป็นหัวหน้าประกอบพิธีไหว้ครูต่อไป  ซึ่งการทำพิธีครอบประการสุดท้ายนี้  
มักจะกระทำให้แต่เฉพาะศิษย์ก้นกุฏิเท่านั้น  หากเป็นบุคคลอื่นขอทำพิธีครอบ  ครูจะต้องพิจารณาให้ถ่องแท้เสียก่อน
         พิธีครอบนี้จะกระทำได้ก็เฉพาะในพิธีไหว้ครูประจำปี  หรือจัดขึ้นเฉพาะกิจเพื่อสืบทอดทายาททางนาฏศิลป์
ดนตรีเท่านั้น  และการครอบจะกระทำต่อจากพิธีไหว้ครูคือ  หลังจากครูผู้เป็นเจ้าพิธีได้กล่าวอัญเชิญเทพยดา  ครู
อาจารย์ทางนาฏศิลป์ดนตรีที่ล่วงลับไปแล้วมาสู่ในบริเวณปริมณฑลพิธี  ครูผู้ประกอบพิธีครอบก็จะเริ่มดำเนินการครอบ
ตามความต้องการของศิษย์ต่อไป
         ในระหว่างที่มีพิธีครอบครูกำลังดำเนินการอยู่  บรรดาศิษย์ที่ผ่านการครอบครูแล้วจะแสดงความกตัญญูและ
ความเคารพต่อครูบาอาจารย์โดยมีการรำถวายมือ  โดยจะมีครูนาฏศิลป์ทั้งหลายจะรำนำหน้าทั้งศิษย์เก่าและใหม่พร้อม  ๆ  
กับวงดนตรีไทยบรรเลงประกอบไปด้วย  เมื่อเสร็จพิธีครอบ  ครูผู้ใหญ่ซึ่งเป็นเจ้าพิธีจะทำพิธีอัญเชิญครูกลับเรียกว่า  
“ส่งครู”  เป็นเสร็จพิธี
         ในพิธีการไหว้ครู  นอกจากจะเป็นการเคารพคุณครูอาจารย์ทั้งที่มีชีวิตอยู่และที่ล่วงลับไปแล้ว  ยังได้ประโยชน์
ในทางอื่น  ๆ  ดังนี้
         ประการแรก  ศิษย์และครูได้มีโอกาสร่วมกันทำบุญเลี้ยงพระและแผ่ส่วนกุศลไปให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว
         ประการที่สอง  ทำให้ผู้ร่วมงานได้รู้จักผู้มีอาชีพเดียวกันเพิ่มขึ้น  สร้างความเชื่อมั่นในวิชาความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมา  
เช่น  มีความกล้าในการรำถวายมือ  หรือมีโอกาสต่อเพลงสำคัญ  ๆ  เพิ่มเติม  และที่มีความหมายต่อผู้เข้าร่วมในพิธี
ไหว้ครูก็คือ  มีความมั่นใจว่า  “เป็นศิษย์มีครู”
         ประการที่สาม  เป็นการเปิดโอกาสให้ศิษย์ทั้งหลายได้มาพบปะสังสรรค์กัน  ก่อให้เกิดความสามัคคีในระหว่าง
หมู่คณะ
         ประการที่สี่  เป็นการอบรมให้ศิษย์มีความเคารพยึดมั่นในครูผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชา  ศิษย์ผู้เข้าพิธีไหว้ครูแล้ว
จะไม่ทรยศต่อครูไม่ว่าทั้งต่อหน้าและลับหลัง
         ประการที่ห้า  นับว่าสำคัญมากคือเป็นการอภัยโทษให้กันในระหว่างครูกับศิษย์  ไม่ว่าศิษย์จะทำให้ครูผิดพ้อง
หมองใจ  อย่างไรก็ตามเมื่อมาเข้าพิธีไหว้ครูแล้วก็เป็นอันยกโทษให้กันหมดสิ้นและตั้งใจทำความดีต่อไป

                                                      *********************************
โดย : * [ วันที่ ]