: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ 6 ฉบับที่ 09 ประจำเดือน 09 2546
หัวข้อข่าว : สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์พระราชทานปริญญาบัตร ณ ม.อ. ปัตตานี
รายละเอียด :
         สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์  อัครราชกุมารี  เสด็จแทนพระองค์พระราชทาน
ปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ประจำปีการศึกษา  2545  จำนวน  
3,530  คน  ระหว่างวันที่  21 – 22  กันยายน  ที่ผ่านมา  ณ  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี
         ในโอกาสดังกล่าวศาสตราจารย์  ดร. เกษม  สุวรรณกุล  นายกสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  กราบทูล
รายงานกิจการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในรอบปีที่ผ่านมาตามภารกิจต่าง  ๆ  สรุปได้ดังนี้
         ด้านการจัดการศึกษา  มหาวิทยาลัยมีหน่วยงานตั้งอยู่ใน  5  จังหวัดคือ  สงขลา  ปัตตานี  ภูเก็ต  สุราษฎร์ธานี  
และตรัง  จัดการเรียนการสอนหลักสูตรต่าง  ๆ  รวม  220  สาขาวิชา  เป็นหลักสูตรปริญญาตรี  102  สาขาวิชา  
ปริญญาตรีต่อเนื่อง  9  สาขาวิชา  ประกาศนียบัตรบัณฑิต  2  สาขาวิชา  ปริญญาโท  80  สาขาวิชา  และปริญญาเอก  
27  สาขาวิชา  มีนักศึกษารวม  24,017  คน  คณาจารย์  1,556  คน  และบุคลากรอื่น  ๆ  อีกประมาณ  5,500  คน
         ด้านการวิจัย  ในปีงบประมาณ  2546  มหาวิทยาลัยได้รับการสนับสนุนเงินทุนเพื่อการวิจัยจากหน่วยงาน
ของรัฐและหน่วยงานอื่น  ๆ  ทั้งในและต่างประเทศรวม  254  โครงการ  เป็นเงินประมาณ  56.7  ล้านบาท  ผลงาน
วิจัยที่สำคัญเช่น  เทคโนโลยีการผลิตเซลล์ไลน์กับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ  การใช้น้ำมันปาล์มแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง  
การพัฒนาสมุนไพรและการใช้สมุนไพรทดแทนยาปฏิชีวนะในสุกร  สัตว์หน้าดินชนิดใหม่ในทะเลสาบสงขลา  
ผ้ากับวิถีชีวิตชาวไทยมุสลิมใน  5  จังหวัดชายแดนภาคใต้  และผลงานประดิษฐ์ต่าง  ๆ  เช่น  เครื่องทำแห้ง
ด้วยลมร้อนแบบถาดเคลื่อนที่  ต้นแบบการทำเรือยางจากยางธรรมชาติ  เป็นต้น
         ด้านการบริการวิชาการ  มีผลงานที่สำคัญเช่น  การพัฒนาศักยภาพของผู้ด้อยโอกาสเพื่อยกระดับ
รายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิต  การพัฒนาธุรกิจขนาดย่อมและขนาดกลาง  การผลิตอาหารฮาลาลเพื่อการส่งออก  
นอกจากนี้ยังให้การบริการรักษาพยาบาลโดยโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะโรค  ในปี
ที่ผ่านมาได้ให้บริการผู้ป่วยนอก  632,691  ราย  ผู้ป่วยใน  31,606  ราย  และให้บริการรักษาโรคในช่องปาก
แก่ประชาชนทั่วไปโดยโรงพยาบาลทันตกรรม  ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะโรคในช่องปาก
แห่งเดียวในภาคใต้  สามารถให้บริการผู้ป่วย  70,711  ราย
         ด้านการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม  มหาวิทยาลัยได้นำมิติทางวัฒนธรรมมาบูรณาการร่วมกับมิติ
ทางวิชาการ  รวมทั้งการอนุรักษ์  ฟื้นฟู  ถ่ายทอดทางศิลปวัฒนธรรมสู่สังคมอย่างเป็นระบบ  ส่งเสริมและ
ปลูกฝังให้นักศึกษาและบุคลากรได้ตระหนักถึงคุณค่าของวัฒนธรรมไทยและวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของ
ท้องถิ่นภาคใต้  โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบคือ  คณะศิลปกรรมศาสตร์  สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา  
และศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรม  ในทุกวิทยาเขต
         ในปีการศึกษา  2545  มหาวิทยาลัยมีจำนวนผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยเปิดสอน
และได้รับอนุมัติปริญญาจากสภามหาวิทยาลัย  3,785  คน  แบ่งเป็นปริญญาเอก  7  คน  ปริญญาโท  
899  คน  และปริญญาตรี  2,879  คน  นอกจากนี้ยังมีผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากวิทยาลัย
บรมราชชนนีในภาคใต้  ซึ่งเป็นสถาบันสมทบของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  5  แห่งคือ  ที่จังหวัดสงขลา  
ตรัง  นราธิวาส  นครศรีธรรมราช  และสุราษฎร์ธานี  รวม  585  คน  ในปีพุทธศักราช  2546  นี้  สภามหาวิทยาลัย
สงขลานครินทร์  ได้มีมติให้ทูลเกล้าฯ  ถวายปริญญาและอนุมัติปริญญากิตติมศักดิ์แก่ผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้ทำ
คุณประโยชน์ให้แก่สังคมและประเทศชาติ  1  พระองค์  และ  4  ราย  รางวัลอนุสรณ์สงขลานครินทร์  
ประจำปี  2546  1  ราย  อาจารย์ดีเด่นกองทุนเอกิ้น  เลาเกเซ่นอนุสรณ์  1  ราย  อาจารย์ตัวอย่างในด้านต่าง  ๆ  
จำนวน  4  ราย  ซึ่งมีพระนามและรายนามดังนี้
         -  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี  ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์  
สาขาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์
         สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี  ทรงเป็นพระบรมวงศ์ชั้นสูงผู้ใฝ่เรียนใฝ่รู้อย่าง
ไม่หยุดยั้ง  ด้วยพระจริยวัตรที่ทรงบำเพ็ญอย่างสม่ำเสมอ  แม้เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาในระบบการศึกษามาแล้ว  
ทรงเป็นแบบอย่างของผู้เสาะแสวงหาข้อมูลและใช้ประโยชน์  เพื่อสร้างความประจักษ์ในคุณค่าแห่งวิถีชีวิต
ของชนทั้งผอง  แม้มีข้อแตกต่างทางวัฒนธรรมเพียงใด
         ด้วยความที่ทรงบำเพ็ญพระองค์เองเป็นผู้เสาะแสวงหาความรู้หลากหลายสาขาทั้งเก่าและใหม่  ทั้งใน
ประเทศและไพรัชประเทศ  ทรงเห็นความสำคัญของการส่งเสริมให้เยาวชนรักการอ่านทั้งในระบบและนอกระบบ
การศึกษา  เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต  จึงได้ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์ห้องสมุด  “เฉลิมราชกุมารี”  ที่รัฐบาลจัดขึ้น
ในทุกจังหวัด  ในวโรกาสเฉลิมพระชนมายุครบ  3  รอบ  ครั้นในปีพุทธศักราชนี้อันเป็นปีที่ทรงมีพระชนมายุครบ  
4  รอบ  กระทรวงศึกษาธิการยังได้จัดโครงการ  “ปีแห่งการส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้”  เพื่อเป็นการเฉลิม
พระเกียรติอีกด้วย  นับว่าได้ทรงเป็นหลักชัยแห่งการสร้างสรรค์สมรรถนะทางปัญญาแก่เยาวชนตลอดมา
         นอกเหนือจากที่ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์สมาคมวิชาชีพห้องสมุดแห่งประเทศไทย  ยังทรงเห็นคุณค่าของ
สารนิเทศอันจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้าวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต  จึงทรงโปรดให้มีการจัดทำ
ฐานข้อมูลไว้  อันเป็นส่วนหนึ่งของพระกรณียกิจร่วมกับองค์การสหประชาชาติในการพัฒนาประเทศโลกที่สาม  
ซึ่งจะส่งผลต่อการยกระดับชีวิตของประชาชนอย่างกว้างขวาง
         ด้วยพระเกียรติคุณในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี  อันกอปรด้วยการบำเพ็ญ
พระราชกรณียกิจด้วยพระวิริยะ  ซึ่งเกื้อกูลต่อความเข้มแข็งทางสติปัญญาแก่เยาวชนและราษฎรทั่วไป  สภา
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  จึงมีมติให้ทูลเกล้าฯ  ถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต  สาขาบรรณารักษ
ศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์  เพื่อเฉลิมพระเกียรติและเพื่อเป็นเกียรติเป็นศรีแก่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์สืบไป  
(จะนำทูลเกล้าฯ  ถวายในโอกาสต่อไป)
         -  นายพลากร  สุวรรณรัฐ  ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์  (รัฐศาสตร์)
         นายพลากร  สุวรรณรัฐ  สำเร็จการศึกษารัฐศาสตรบัณฑิต  สาขารัฐศาสตร์การปกครอง  จากจุฬาลงกรณ์
มหาวิทยาลัย  ในปีพุทธศักราช  2513  ปริญญามหาบัณฑิตทางเอเชียอาคเนย์ศึกษาจากมหาวิทยาลัย
โอไฮโอ  สหรัฐอเมริกา  ในปีพุทธศักราช  2516  และเข้าศึกษาในวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร  ในปี  2537
         เป็นนักปกครองผู้ยึดความผาสุกของประชาชนเป็นที่ตั้งมากกว่าสองทศวรรษ  โดยเฉพาะเมื่อดำรงตำแหน่ง
ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี  ก็สามารถคลี่คลายสถานการณ์ความไม่สงบในท้องที่ให้คืนสู่ภาวะปกติด้วยแนวทาง
ซึ่งกองทัพภาคที่  4  ถือเป็นแบบอย่างของการรักษาความสงบเรียบร้อยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกจังหวัด  
เป็นผู้บริหารที่ผสมผสานจิตใจของนักรัฐศาสตร์เข้ากับการพัฒนาสังคมเพื่อความเจริญยั่งยืน  ดังเห็นได้จากที่
จัดให้มีแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเขตอุตสาหกรรมจังหวัดปัตตานี  การพัฒนาอาชีพแก่ประชาชน  จัดตั้งศูนย์ฝึก
อาชีพตามแนวพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าฯ  พระบรมราชินีนาถ  ครั้นเมื่อดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์
อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้และรองปลัดกระทรวงมหาดไทย  ก็ยังได้ใช้หลักการบริหาร  หลักการ
วางแผน  และหลักการนำแผนไปสู่การปฏิบัติ  อันส่งผลให้การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มีเอกภาพ
ด้วยความร่วมมือของข้าราชการ  ผู้นำท้องถิ่น  ผู้นำศาสนา  และประชาชน  จัดทำแผนเร่งรัดพัฒนาจังหวัดชายแดน
ภาคใต้  เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน  พัฒนาการรับเรื่องร้องทุกข์ของประชาชน  จัดกระบวน
การศึกษาให้แก่ข้าราชการเพื่อความเข้าใจวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของประชาชน  สนับสนุนงบประมาณแก่
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  เพื่อดำเนินการจัดตั้งศูนย์ศึกษาและพัฒนาอ่าวปัตตานี  เป็นที่ปรึกษาโครงการ
ขยายโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชนชนบทที่ยากจนของจังหวัดชายแดนภาคใต้ในการสนับสนุนของ  
UNDP  เป็นอาทิ
         -  Professor  Dr. Toshimitsu  Uchiyama  วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์  (เภสัชวิทยา)
         ศาสตราจารย์นายแพทย์  ดร. โตชิมิตซึ  อูชิยาม่า  สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิตจากคณะ
แพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยโตโฮ  ประเทศญี่ปุ่น  ปริญญาเอกสาขาแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเดียวกัน  
ปริญญาเอกสาขาวิทยาศาสตร์จาก  The  Open  International  University  for  Complementary  
Medicine  (Medicina  Alternativa)  ประเทศศรีลังกา  ปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาเภสัชวิทยา  
รองคณบดี  และประธานคณะกรรมการพัฒนาการศึกษา  คณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยโตโฮ  ประเทศ
ญี่ปุ่น  
         ศาสตราจารย์นายแพทย์  ดร. โตชิมิตซึ  อูชิยาม่า  มีความสนใจในการศึกษาวิจัยในสาขาเภสัชวิทยา  
อาทิ  เภสัชวิทยาของยาต้านตัวรับเบต้า  (beta – receptor  antagonists)  ฤทธิ์ต้านการอาเจียนของกลูคากอน  
(glucagons)  ในนกพิราบและเภสัชวิทยาที่เกี่ยวข้องกับโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ  รวมทั้งการ
ศึกษาทางด้านพิษวิทยา  นอกจากนี้ยังเป็นผู้ที่ได้นำระบบแพทยศาสตรศึกษาไปพัฒนาการเรียนการสอน
ในคณะแพทยศาสตร์อีกด้วย  ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ศาสตราจารย์นายแพทย์  
ดร. โตชิมิตซึ  อูชิยาม่า  ได้อุทิศตนอย่างเต็มกำลังทั้งเวลาและงบประมาณในการช่วยเหลือพัฒนาคุณภาพของ
บุคลากรของภาควิชาเภสัชวิทยา  คณะวิทยาศาสตร์  ในหลายด้านอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีพุทธศักราช  2531  
เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน  อาทิ  เป็นที่ปรึกษาทางด้านวิชาการและการวิจัย  ให้ทุนวิจัยแก่คณาจารย์ในภาควิชา
เภสัชวิทยาไปทำวิจัย  ณ  ประเทศญี่ปุ่น  และยังได้จัดให้มีการประชุมสัมมนาในสาขาเภสัชวิทยาร่วมกัน
ระหว่างภาควิชาเภสัชวิทยาของทั้งสองมหาวิทยาลัยทุก  4  ปี  ตั้งแต่ปีพุทธศักราช  2533  จนถึงปัจจุบัน  ซึ่ง
ช่วยให้ภาควิชาเภสัชวิทยา  คณะวิทยาศาสตร์  มีความเข้มแข็งทางวิชาการมากขึ้น  นอกจากนี้ยังได้รับนักศึกษา
แพทย์ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ไปศึกษาในระยะสั้นทางด้านคลินิก
         -  ศาสตราจารย์พิเศษทันตแพทย์หญิงท่านผู้หญิงเพ็ชรา  เตชะกัมพุช  ทันตแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิต
กิตติมศักดิ์
         ศาสตราจารย์พิเศษทันตแพทย์หญิงท่านผู้หญิงเพ็ชรา  เตชะกัมพุช  สำเร็จการศึกษาทันตแพทยศาสตร
บัณฑิต  (รางวัลเหรียญทอง)  จากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์  และวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาทันตกรรม
ประดิษฐ์  จากมหาวิทยาลัยอินเดียนา  สหรัฐอเมริกา  ได้เข้ารับราชการเป็นอาจารย์คณะทันตแพทยศาสตร์  
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  จนเกษียณอายุราชการเมื่อปีพุทธศักราช  2536  และยังคงปฏิบัติงานในฐานะผู้เชี่ยวชาญ
พิเศษให้แก่คณะทันตแพทยศาสตร์ในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง  ปัจจุบันดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์พิเศษของ
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมประดิษฐ์  เป็นบุคคลแรกที่ริเริ่มวิทยาการครอบฟัน  
“พอร์ซเลน”  ในประเทศไทยจนได้รับความนิยมแพร่หลายในปัจจุบัน  ได้ริเริ่มดำเนินการสร้างโรงพยาบาลคณะ
ทันตแพทยศาสตร์แบบครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทย  ตลอดระยะเวลาที่รับราชการเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญ
ทั้งในการสนับสนุนและสร้างสรรค์ผลงานในด้านต่าง  ๆ  ที่เป็นประโยชน์ต่อวงการวิชาการสาขาทันตแพทยศาสตร์  
เป็นผู้ริเริ่มและดำเนินการขอพระราชทานทุน  “อานันทมหิดล”  สาขาทันตแพทยศาสตร์  ยังผลให้คณะ
ทันตแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ได้มีโอกาสคัดเลือกคณาจารย์ไปศึกษาต่อเพื่อพัฒนา
ทางวิชาการอย่างต่อเนื่องในระยะยาว  ในฐานะผู้อำนวยการหน่วยทันตกรรมพระราชทานกลาง  เป็นผู้สนับสนุน
จนสามารถจัดตั้งหน่วยทันตกรรมพระราชทานของคณะทันตแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยต่าง  ๆ  ได้ตามเป้าหมาย  
เป็นผู้ริเริ่มให้มีการจัดทำอุปกรณ์และเครื่องมือทันตกรรม  สำหรับหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ที่มีประสิทธิภาพและ
เหมาะสมกับประเทศไทย  จนได้รับรางวัลสิ่งประดิษฐ์ของหน่วยทันตกรรมพระราชทานจากสภาวิจัยแห่งชาติ  
เมื่อปีพุทธศักราช  2538
         -  ดร. ดวงวดี  สังโขบล  พยาบาลศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
         ดร. ดวงวดี  สังโขบล  สำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตรบัณฑิต  สาขาพยาบาลศาสตร์  จากมหาวิทยาลัย
เชียงใหม่  ปริญญาโทสาขาพยาบาลศาสตร์  จาก  Wayne  State  University  ประเทศสหรัฐอเมริกา  
และได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตสาขาการศึกษาจาก  University  of  Southern  California  ประเทศ
สหรัฐอเมริกา  เริ่มเข้ารับราชการเป็นอาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ต่อมาได้ย้าย
ไปรับราชการที่คณะพยาบาลศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญการศึกษา
พยาบาลขององค์การอนามัยโลก  (Regional  Nursing  Adviser)  ณ  World  Health  Organization  
Regional  Office  for  South – East  Asia  (SEARO)  กรุงนิวเดลฮี  ประเทศอินเดีย  เป็นผู้มีวิสัยทัศน์
กว้างไกล  โดยมีบทบาทการพัฒนาวิชาชีพพยาบาลทั้งระดับท้องถิ่น  ระดับประเทศ  และระดับนานาชาติ  ในส่วน
ที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยได้พัฒนาบุคลากร  มีผลทำให้บุคลากรคณะพยาบาลศาสตร์ได้รับทุนการศึกษา
ระดับปริญญาเอกและทุนศึกษาดูงานจำนวนมาก  อันส่งผลให้เกิดหลักสูตรระดับปริญญาโท – เอกนานาชาติ  
และหลักสูตรมหาบัณฑิตอีกหลายในสาขาปัจจุบัน  ผลงานที่โดดเด่นคือพัฒนาการพยาบาลและการผดุงครรภ์
ทั้งด้านการศึกษา  การบริการพยาบาล  การบริหารการพยาบาล  และการวิจัย  ใน  11  ประเทศของกลุ่ม
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  รวมทั้งสนับสนุนศูนย์ความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลกและประเทศ
สมาชิก  (WHO  Collaboration  Centers)  เพื่อสร้างผู้เชี่ยวชาญทางด้านการพยาบาลและผดุงครรภ์  และ
ประสานงานกับองค์การสหประชาชาติและองค์กรทางด้านสุขภาพระดับโลก  เพื่อพัฒนาความเป็นเลิศด้าน
การพยาบาลและการผดุงครรภ์ในกลุ่มประเทศสมาชิก
         รางวัลอนุสรณ์สงขลานครินทร์  ประจำปีพุทธศักราช  2546  จำนวน  1  ราย  ได้แก่  นายประสิทธิ  
ชิณการณ์
         นายประสิทธิ  ชิณการณ์  อายุ  79  ปี  สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย  
เป็นชาวจังหวัดภูเก็ต  ได้ทุ่มเทชีวิตในการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ข้อมูลต่าง  ๆ  ที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดภูเก็ตในทุก  ๆ  ด้าน  
ทำให้มีผลงานทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองเป็นจำนวนมาก  ซึ่งผลงานที่เกิดจากการประพันธ์เป็นประโยชน์ต่องาน
ด้านวัฒนธรรมและด้านการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของจังหวัดภูเก็ต  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นผู้แปลจดหมายเหตุ
ถลางของท่านผู้หญิงจันที่เขียนถึงพระยาราชกปิตัน  (ฟรานซิส  ไลท์)  ให้เป็นภาษาปัจจุบัน  ซึ่งเป็นผลงานที่
เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดภูเก็ตและของประเทศไทย  นับเป็นทรัพยากรบุคคลด้านวัฒนธรรม
และเป็นนักวิชาการประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของชาวภูเก็ต  ได้รับการยกย่องเป็นบุคคลดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม
ภาคใต้  ประจำปีพุทธศักราช  2530  สาขามนุษยศาสตร์  (จังหวัดภูเก็ต)  จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรม
แห่งชาติ
         อาจารย์ดีเด่นของกองทุนเอกิ้น  เลาเกเซ่นอนุสรณ์  ประจำปี  2546  จำนวน  1  ราย  ได้แก่  รองศาสตราจารย์  
ดร. สถาพร  จิตตปาลพงศ์
         รองศาสตราจารย์  ดร. สถาพร  จิตตปาลพงศ์  ปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาปรสิตวิทยา  คณะ
สัตวแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  สำเร็จการศึกษาปริญญาสัตวแพทยศาสตรบัณฑิตเกียรตินิยม  
เป็นลำดับที่  1  ของสัตวแพทย์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  และปริญญาเอกทางด้านภูมิคุ้มกันต่อปรสิตจากคณะ
สัตวแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัย  The  Ohio  State  University  ประเทศสหรัฐอเมริกา  มีผลงานที่โดดเด่นในด้าน
การวิจัยทางด้านการพัฒนาวัคซีนต่อต้านเห็บในสัตว์เลี้ยงและสัตว์เศรษฐกิจ  โดยได้คิดค้นและทดลอง
วัคซีนต่อต้านเห็บขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย  วัคซีนต่อต้านเห็บสามารถช่วยลดการนำเข้าและการใช้สารเคมี
ที่มีราคาแพงและมีความเป็นพิษต่อทั้งคน  สัตว์  และสภาพแวดล้อม  วัคซีนต่อต้านเห็บเป็นทางเลือกใหม่สำหรับ
ผู้เลี้ยงสัตว์ที่สามารถช่วยลดต้นทุนการเลี้ยงสัตว์  ลดอันตรายจากการสะสมของสารเคมี  และลดความสูญเสีย
อันเนื่องมาจากเห็บ  นอกจากนี้ยังมีผลงานวิจัยในด้านอื่น  ๆ  เช่น  การศึกษาและพัฒนาการตรวจวินิจฉัย
โรคพยาธิในเลือดในสัตว์เลี้ยงด้วยเทคนิคทางด้านโมเลกุล  ซึ่งให้ผลการศึกษาที่มีความจำเพาะและแม่นยำ
สูงมากกว่าวิธีที่ใช้ในการตรวจวินิจฉัยโรคในปัจจุบัน  งานวิจัยทางด้านปรสิตวิทยา  จนเป็นที่ยอมรับของ
นักวิชาการทางด้านปรสิตวิทยาในประเทศไทย  ในด้านการเรียนการสอน  ได้พัฒนาสื่อการเรียนการสอนและ
คู่มือในวิชาปรสิตวิทยา  ทั้งทางด้านทฤษฎีและปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง  การวางแนวทางหลักสูตรในระดับบัณฑิต
ศึกษาของภาควิชา  และการประสานงานหาความร่วมมือจากต่างประเทศ
         อาจารย์ตัวอย่างในด้านต่าง  ๆ  จำนวน  5  ราย  ได้แก่
         -  ผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิงฐิติมา  สุนทรสัจ  อาจารย์ตัวอย่างด้านการเรียนการสอน  มหาวิทยาลัย
สงขลานครินทร์
         ผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิงฐิติมา  สุนทรสัจ  สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต  เกียรตินิยม
อันดับ  1  จากคณะแพทยศาสตร์  ศิริราชพยาบาล  และเข้ารับราชการในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ตำแหน่ง
แพทย์ใช้ทุน  ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา  มีความมุมานะตั้งใจในการเรียนรู้ควบคู่ไปกับการเรียนการสอน
นักศึกษาสม่ำเสมอ  เป็นผู้ที่มีศักยภาพและใฝ่รู้มาตลอดจนสามารถสอบวุฒิบัตร  เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขา
สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา  จากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย  ได้บรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่ง
อาจารย์จนถึงปัจจุบัน  ในด้านการเรียนการสอน  เป็นผู้ทุ่มเทงานให้กับภาควิชาและคณะมาโดยตลอด  ได้รับ
แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าภาควิชาฯ  ฝ่ายการศึกษาหลังปริญญา  ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มกำหนดเกณฑ์ตัดสิน
การคัดเลือกแพทย์ใช้ทุนและแพทย์ประจำบ้าน  นอกจากได้จัดทำคู่มือการฝึกอบรมแพทย์ใช้ทุนและแพทย์
ประจำบ้าน  การประเมินผล  ซึ่งใช้มาจนถึงปัจจุบัน  ด้านการบริการวิชาการ  ได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้า
หน่วยบริบาลทารก  ในด้านการวิจัย  ได้ศึกษาวิจัยโดยได้นำความรู้และผลงานวิจัยมาประยุกต์ใช้ในการเรียน
การสอน  การดูแลผู้ป่วย  โดยเฉพาะการตรวจวินิจฉัยทางสูติ – นรีเวชฯ  ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง  พร้อมทั้ง
เสนอผลงานทางวิชาการในระดับภูมิภาค  ระดับประเทศ  และต่างประเทศ  จนได้รับรางวัล  Yong  gynaecologist  
award  of  XVllth  Asian  and  Oceanic  Congress  Obstetrics  and  Gynaecology  ในเดือนกรกฎาคม  
ปีพุทธศักราช  2543  ยังได้รับแต่งตั้งจากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย  เป็นอนุกรรมการงาน
อนามัยแม่และเด็ก  ปี  2543 – 2544  และอนุกรรมการมาตรฐานและจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
         -  รองศาสตราจารย์  ดร. ปณต  ถาวรังกูร  อาจารย์ตัวอย่างด้านการวิจัย  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
         รองศาสตราจารย์  ดร. ปณต  ถาวรังกูร  สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี  สาขาฟิสิกส์  ปริญญาโท
เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง  สาขาชีวฟิสิกส์  และปริญญาเอกสาขาชีวฟิสิกส์  จาก  University  of  Waikato  ประเทศ
นิวซีแลนด์  ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์  ระดับ  9  เป็นผู้ซึ่งสนใจงานวิจัยชีวฟิสิกส์คือศึกษา
กระแสไฟฟ้าปริมาณน้อยในพืช  โดยอาศัยอุปกรณ์พิเศษที่เรียกว่าระบบไวเบรติงโพรบ  ซึ่งได้รับการสนับสนุน
เครื่องมือนี้ภายใต้ทุนวิจัยจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ  ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการแห่งเดียว
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ศึกษากระแสไฟฟ้าชีวภาพในลักษณะดังกล่าว  ข้อมูลจากการศึกษานี้จะมี
ประโยชน์ในงานวิจัยหลาย  ๆ  ด้าน  เช่น  การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ  การคัดเลือกพันธุ์พืช  ปัจจุบันรองศาสตราจารย์  
ดร. ปณต  ถาวรังกูร  เป็นผู้นำหน่วยวิจัยชีวฟิสิกส์ : ไบโอเซนเซอร์และกระแสไฟฟ้าชีวภาพ  ซึ่งนอกจาก
กระแสไฟฟ้าชีวภาพแล้ว  ได้ดำเนินงานวิจัยด้านไบโอเซนเซอร์ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้วิเคราะห์หาปริมาณสาร  
โดยนำวัสดุชีวภาพเช่น  เอนไซม์หรือเซลล์มาใช้ร่วมกับทรานสดิวเซอร์ที่เหมาะสมเพื่อตรวจหาสารตัวอย่าง  
เทคนิคดังกล่างสามารถประยุกต์ใช้ได้ทั้งในด้านอุตสาหกรรม  สิ่งแวดล้อม  และทางการแพทย์  ผลของการ
ทำงานวิจัยที่ดีเด่นทำให้ได้รับรางวัล  “ทะกุจิ”  ประเภทนักวิจัยดีเด่นด้านเทคโนโลยีชีวภาพ  ในปี  พ.ศ. 2541  
จากมูลนิธิเพื่อส่งเสริมเทคโนโลยีชีวภาพ  (กองทุนทะกุจิ)  ในด้านการเรียนการสอน  ได้ปฏิบัติหน้าที่อาจารย์
สอนรายวิชาทางชีวฟิสิกส์ทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท  และเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของ
นักศึกษาที่เลือกทำวิจัยเพื่อวิทยานิพนธ์ในกลุ่มวิชาชีวฟิสิกส์ทั้งในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก  ซึ่งงาน
วิจัยเพื่อวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาในที่ปรึกษาของรองศาสตราจารย์  ดร. ปณต  ถาวรังกูร  ได้รับรางวัล
วิทยานิพนธ์ดีเด่น  กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ประจำปี  2545  
และในขณะนี้ได้รับทุนปริญญาเอกกาญจนาภิเษก  หลักสูตรเคมี  2  ทุน  และหลักสูตรฟิสิกส์  1  ทุน
         -  ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์เต็มศักดิ์  พึ่งรัศมี  อาจารย์ตัวอย่างด้านการบริการวิชาการ  มหาวิทยาลัย
สงขลานครินทร์
         ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์เต็มศักดิ์  พึ่งรัศมี  สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์
มหาวิทยาลัย  และได้รับวุฒิบัตรรังสีรักษาจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  เข้ารับราชการในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  
ตั้งแต่ปี  2530  ดำรงตำแหน่งอาจารย์  ประจำภาควิชารังสีวิทยาปฏิบัติหน้าที่  ณ  หน่วยรังสีรักษา  ตลอดเวลา  
15  ปี  ที่รับราชการ  ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์เต็มศักดิ์  พึ่งรัศมี  เป็นแบบอย่างของอาจารย์แพทย์ที่นักศึกษา
และผู้ป่วยให้ความศรัทธาด้วยดีตลอดมาในฐานะผู้นำองค์กร  ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์เต็มศักดิ์  พึ่งรัศมี  
เป็นหัวหน้าหน่วยรังสีรักษาและรองหัวหน้าภาควิชารังสีวิทยาฝ่ายบริหาร  ตั้งแต่ปี  2540 – ปัจจุบัน  ในฐานะของ
แพทย์ผู้ทำการรักษาผู้ป่วยระยะสุดท้าย  ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์เต็มศักดิ์  พึ่งรัศมี  เป็นผู้ที่รักษาผู้ป่วยมะเร็ง
ทุกระบบของร่างกายโดยวิธีการฉายรังสี  เป็นผู้ก่อตั้งหน่วย  Palliative  care  แห่งแรกและแห่งเดียวใน
ประเทศไทยที่มุ่งเน้นการรักษาผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบองค์รวม  กล่าวคือรักษาทางกาย  ใจ  สังคม  และจิต
วิญญาณ  โดยมุ่งหวังให้ผู้ป่วยในระยะสุดท้ายของชีวิตสามารถมีกำลังใจที่จะต่อสู้กับโรคร้ายและมีศรัทธาต่อ
เกียรติภูมิของความเป็นมนุษย์
         -  ผู้ช่วยศาสตราจารย์พงศกร  สุวรรณเดชา  อาจารย์ตัวอย่างด้านการเรียนการสอน  มหาวิทยาลัยสงขลา
นครินทร์
         ผู้ช่วยศาสตราจารย์พงศกร  สุวรรณเดชา  สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีวิทยาศาสตรบัณฑิต  (ศึกษาศาสตร์)  
สาขาวิชาฟิสิกส์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ได้รับปริญญาครุศาสตรมหาบัณฑิต  (การศึกษาวิทยาศาสตร์)  จาก
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ได้รับประกาศนียบัตรบัณฑิต  สาขาวิชานิวเคลียร์เทคโนโลยี  จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  
และได้รับ  Certificate  สาขาวิชา  Fishing  Technology  จาก  North  West  Community  College  จากประเทศ
แคนาดา  ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์  ระดับ  8  ภาควิชาวิทยาศาสตร์  คณะวิทยาศาสตร์และ
เทคโนโลยี  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  เป็นผู้ที่มีความรู้ในเนื้อหาวิชาฟิสิกส์อย่างลึกซึ้งเป็นที่ยอมรับ  เป็น
ผู้ที่มีผลงานดีเด่นในด้านการเรียนการสอน  เป็นผู้ที่มีศิลปะในการนำเสนอทั้งในชั่วโมงสอนและในโอกาสทั่วไป  
มีความสามารถในการให้คำแนะนำอย่างสร้างสรรค์  มีเทคนิคการสอนที่จะทำให้นักศึกษาเข้าใจได้ง่าย  ยังได้
ทุ่มเทในการศึกษาค้นคว้าเพื่อเรียบเรียงผลงานทางวิชาการเพื่อใช้ในการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่องและจัดเป็น
ผลงานที่มีคุณภาพสูง  อาทิ  ตำราเรื่อง  ฟิสิกส์ทั่วไป  2  ตำราเรื่อง  แสงเชิงเรขาคณิต  ตำราเรื่อง  ฟิสิกส์นิวเคลียร์  
และคู่มือปฏิบัติการฟิสิกส์ทั่วไป  2  ในด้านการบริการวิชาการ  เป็นผู้หนึ่งที่มีความเชี่ยวชาญอย่างยิ่งด้านการสอน
วิทยาศาสตร์  การวิจัยในชั้นเรียน  การทำโครงงานวิทยาศาสตร์

                                             **************************
โดย : * [ วันที่ ]